ข้อควรรู้ก่อนเข้าค้ำประกัน
ความหมายของการค้ำประกัน
การค้ำประกัน คือ การที่บุคคลอื่นยอมเข้าไปผูกพันตนในหนี้ที่ลูกหนี้ต้องชำระ หรือกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การเอาตัวเองเข้าไปเป็นหลักประกันให้แก่เจ้าหนี้ หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้นั้น เช่น ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ในสัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้เช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อ(ส่วนมากมักเป็นไฟแนนซ์) หรือค้ำประกันการกู้ยืมเงิน เป็นต้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคหนึ่ง)
เรื่องที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจเซ็นเป็นผู้ค้ำประกัน มีกฎหมายอะไรคุ้มครองบ้าง อ่านบทความได้ที่นี่!
การที่เจ้าหนี้จะบังคับให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ต้องมีดังนี้
1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า สัญญาค้ำประกัน ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ดังนั้น หากไม่มีหลักฐานลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันดังกล่าว เจ้าหนี้ก็จะฟ้องผู้ค้ำประกันให้รับผิดไม่ได้ เช่น ผู้ค้ำประกันบอกปากเปล่าหรือบอกด้วยวาจาแก่เจ้าหนี้ว่าจะรับผิดในหนี้นั้นหากลูกหนี้ไม่ชำระ เป็นต้น นอกจากนี้ สัญญาค้ำประกันแม้จะทำคนละเวลากับที่ลูกหนี้ทำสัญญา หรือลูกหนี้ไม่ได้ยินยอมให้มีการค้ำประกัน ก็ถือว่าการค้ำประกันสมบูรณ์ตามกฎหมาย ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในหนี้นั้น (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2538 และ 762/2519)
2. หนี้หลักหรือหนี้ประธานต้องสมบูรณ์ เช่น ถ้าสัญญากู้เงินเป็นโมฆะ สัญญาค้ำประกันก็ตกเป็นโมฆะไปด้วย
3. สัญญาค้ำประกันต้องระบุหนี้หรือสัญญาหลักไว้ให้ชัดเจน และผู้ค้ำประกันต้องรับผิดเพียงที่ระบุไว้ในสัญญา เช่น ค้ำประกันในหนี้เงินกู้ของนาย ก. หรือค้ำประกันการทำงานของนาย ข. เป็นต้น
ส่วนประกอบสำคัญของสัญญาค้ำประกันที่ถูกกฎหมาย อ่านเลย!
ขั้นตอนของเจ้าหนี้ในการฟ้องผู้ค้ำประกัน
1. เมื่อหนี้ของลูกหนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวถึงผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระหนี้และลูกหนี้ผิดนัด จึงจะฟ้องผู้ค้ำประกันได้ อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าหนี้จะไม่ได้บอกกล่าวภายใน 60 วันก็ไม่ได้ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้นั้น เพียงแต่เป็นผลให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากบรรดาดอกเบี้ยและค่าเสียหายในหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังพ้นกำหนด 60 วันนั้น
***แต่สำคัญที่สุด คือ เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันไม่ว่าจะบอกภายในกำหนดหรือพ้นกำหนด 60 วัน หากไม่มีหนังสือบอกกล่าว เจ้าหนี้จะไม่มีอำนาจฟ้องผู้ค้ำประกันให้รับผิดได้เลย !!!
2. เมื่อบอกกล่าวผู้ค้ำประกันเรียบร้อยแล้ว เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้รับผิดต่อศาลได้เลย โดยจะฟ้องต่อศาลในท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน หรือท้องที่ที่ทำสัญญาหลักหรือสัญญาค้ำประกันก็ได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) และมาตรา 5)
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !
สิทธิของผู้ค้ำประกัน
1. ผู้ค้ำประกันไม่ต้องชำระหนี้ก่อนถึงกำหนด (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 687)
2. หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ตามสัญญา ผู้ค้ำประกันก็มีสิทธิขอให้เจ้าหนี้ติดตามเรียกลูกหนี้มาชำระหนี้ก่อนตนได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย หรือไม่ปรากฏว่าอยู่ที่ใด (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688)
3. ถ้าผู้ค้ำประกันใช้สิทธิเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปติดตามลูกหนี้แล้วลูกหนี้ยังไม่ชำระอีก หากผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้มีทางที่จะชำระหนี้ได้และการบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เป็นการยาก เจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน เช่น ลูกหนี้มีรถ มีบ้าน เจ้าหนี้ก็ต้องไปบังคับจากทรัพย์นั้นก่อน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 689)
'ฟังชัดๆ เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์อะไรได้บ้าง?'
4. กรณีที่เจ้าหนี้มีทรัพย์สินของลูกหนี้ยึดเป็นประกัน เช่น ลูกหนี้เอารถ เอาโฉนดมาให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้ หรือลูกหนี้เอาที่ดินมาจำนอง เอาทองมาจำนำ ผู้ค้ำประกันสามารถบอกให้เจ้าหนี้บังคับเอาจากทรัพย์ประกันนั้นก่อนได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 690)
5. หากผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้ไปแล้ว ผู้ค้ำประกันย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ที่ตนชำระไปคืนได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693)
6. หากเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้รับผิดแล้ว ผู้ค้ำประกันสามารถยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ เช่น ดอกเบี้ยในหนี้เงินกู้นั้นเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หนี้เงินกู้นั้นขาดอายุความแล้ว เป็นต้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694)
'ทำสัญญาต้องทำเป็นหนังสือไหม ? หาคำตอบได้ที่นี่ คลิกเลย!'
เหตุที่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด
1. หนี้ของลูกหนี้ระงับไปแล้ว เช่น ลูกหนี้ชำระหนี้หมดแล้ว หรือเจ้าหนี้ยกหนี้ให้แก่ลูกหนี้แล้ว เป็นต้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698)
2. เจ้าหนี้ไปตกลงผ่อนเวลาหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ โดยผู้ค้ำประกันไม่ได้ตกลงด้วย ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นความรับผิด อีกทั้งกฎหมายยังบัญญัติให้ข้อตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าที่ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้นั้น ข้อตกลงดังกล่าวนี้ไม่สามารถใช้บังคับได้ เช่น สัญญาค้ำประกันมีข้อตกลงว่า "การที่เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ ถือว่าผู้ค้ำประกันยินยอมด้วยทุกครั้งไป" (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700)
3. กรณีหนี้ถึงกำหนดชำระ ผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้แทนลูกหนี้แต่เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดทันที (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701)
4. คดีขาดอายุความ **แต่ต้องยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลด้วย มิฉะนั้นจะไม่มีประเด็นเรื่องอายุความให้ศาลยกฟ้องได้
ไขข้อสงสัย คดีแพ่งมีอายุความกี่ปี? คดีขาดอายุความฟ้องได้ไหม?
สุดท้ายแล้ว การค้ำประกันก็ถือเสมือนการยอมเข้าไปเป็นลูกหนี้อีกคนหนึ่งในหนี้นั้นหรือเปรียบเสมือนเป็นลูกหนี้ลำดับที่สองที่ให้เจ้าหนี้เรียกร้องได้ โดยผู้ค้ำประกันต้องเข้ารับความเสี่ยงที่ต้องชำระหนี้ หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหรือลูกหนี้หนีหนี้ไป ซึ่งทนายก็พบเห็นผู้ค้ำประกันจำนวนไม่น้อยที่ต้องถูกเจ้าหนี้ยึดทรัพย์ ยึดบ้านขายทอดตลาดไป เพราะเหตุที่ลูกหนี้ไม่มีเงินชำระ ไม่มีทรัพย์สินให้ยึด หรือหนีหนี้ไปเลย ดังนั้น ก่อนค้ำประกันให้แก่ผู้ใด ควรศึกษาความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ให้ถี่ถ้วน มิฉะนั้น ตนอาจเสียเงิน เสียทรัพย์ไป และไม่สามารถติดตามเอาคืนจากลูกหนี้ได้เลย
'ลูกหนี้มือใหม่ต้องรู้ก่อนกู้ เช็กหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอย่างไร'
หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



