Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 690 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 690 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 690” คืออะไร? 


“มาตรา 690” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 690 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 690” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 690 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 555/2558
ผู้ร้องนำใบหุ้น มาวางประกันการทุเลาการบังคับคดีในชั้นอุทธรณ์ว่า ถ้าจำเลยแพ้คดีโจทก์และไม่นำเงินมาชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยอมให้บังคับเอาจากหลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันทันที เป็นการทำสัญญาประกันต่อศาลว่าถ้าจำเลยแพ้คดีผู้ร้องจะชำระหนี้แทน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้มีจำนวนสูงกว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลย่อมออกคำบังคับแก่ผู้ร้องได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องผู้ร้องใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 จึงไม่ใช่กรณีผู้ร้องทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้โจทก์ ตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 11 เรื่องค้ำประกัน ดังนั้น จึงไม่อาจนำมาตรา 688 ถึง 690 มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้ออกคำบังคับแก่ผู้ร้องได้ หาต้องดำเนินการบังคับคดีกับจำเลยก่อนไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 688, ม. 690
ป.วิ.พ. ม. 274


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22113/2555
ผู้ค้ำประกันคือ บุคคลผู้ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น การที่จะชำระหนี้แทนลูกหนี้ดังกล่าว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ค้ำประกันไว้หลายมาตรา เช่น มาตรา 688 ผู้ค้ำประกันมีสิทธิที่จะให้เจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน มาตรา 689 ผู้ค้ำประกันมีสิทธิให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน ถ้าการบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ไม่เป็นการยาก มาตรา 690 ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน ผู้ค้ำประกันมีสิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้ต้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน นอกจากนี้มาตรา 691 ยังได้บัญญัติว่า ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690 แสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ค้ำประกันทำสัญญาว่ายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันจะไม่มีสิทธิตามมาตรา 688, 689 และ 690 ถ้าไม่ได้ระบุว่ายอมรับผิดดังกล่าวไว้ในสัญญา ผู้ค้ำประกันจะเป็นผู้ต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้เมื่อทำสัญญายกเว้นสิทธิตามมาตรา 688, 689 และ 690 ทั้งสามมาตรา คดีนี้จำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันว่ายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ คงมีแต่เพียงสัญญาข้อ 2 และข้อ 5 ที่ตกลงยกเว้นสิทธิตามมาตรา 688 และไม่อาจตีความว่าเป็นข้อตกลงยกเว้นสิทธิตามมาตรา 689 และ 690 ด้วย เพราะจะเป็นการตีความในทางที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น อันเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 11 หนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกันได้โดยไม่ต้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนเท่านั้น ไม่ใช่สัญญาค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 688, ม. 689, ม. 690, ม. 691


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2554
แม้สัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินจะระบุชื่อว่าเป็นเรื่องจำนำและเรียกคู่สัญญาว่าผู้รับจำนำและผู้จำนำ แต่สาระสำคัญของสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินมีสาระสำคัญระบุความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระหนี้แก่โจทก์ไว้ 2 กรณี กรณีแรกระบุว่าจำเลยที่ 2 นำสมุดคู่ฝากเงินมาจำนำไว้โดยยอมให้ธนาคาร ม. หักหนี้ของจำเลยที่ 1 จากสมุดคู่ฝากเงินของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้ กรณีที่สองระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้ธนาคาร ม. อยู่อีกเท่าใด จำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมรับผิดชำระแก่ธนาคาร ม. จนครบถ้วน และตกลงยินยอมเข้ารับเป็นผู้ค้ำประกันและตกลงรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ได้เป็นหนี้ธนาคาร ม. และยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วย สัญญาดังกล่าวจึงมีความชัดเจนโดยธนาคาร ม. มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดทั้งสองกรณี และจำเลยที่ 2 มีความผูกพันตามสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินเพื่อประกันการชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ม. ทั้งสองกรณีเช่นกัน กล่าวคือ สัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินมีข้อความชัดเจนอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้จำนำสมุดคู่ฝากเงินของตนและเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หามีข้อสงสัยที่จะตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 11, ม. 680, ม. 688, ม. 689, ม. 690, ม. 747
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที