“มาตรา 687 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 687” คืออะไร?
“มาตรา 687” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 687 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้ค้ำประกันไม่จำต้องชำระหนี้ก่อนถึงเวลากำหนดที่จะชำระ แม้ถึงว่าลูกหนี้จะไม่อาจถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเวลาสุดสิ้นได้ต่อไปแล้ว“
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 687” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 687 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8136 - 8139/2542
ป.พ.พ. มาตรา 686 บัญญัติให้เจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่เวลาที่ลูกหนี้ผิดนัด เมื่อบริษัทนายจ้างผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามมาตรา 686 ได้ แม้มาตรา 688 และมาตรา 689 จะให้สิทธิแก่ผู้ค้ำประกันยกข้อต่อสู้ให้โจทก์ทั้งสี่ไปเรียกร้องให้ลูกหนี้ชั้นต้นชำระหนี้ก่อนที่จะเรียกร้องเอาจากผู้ค้ำประกัน ก็มิได้หมายความว่า ถ้าโจทก์ทั้งสี่ไม่ฟ้องเรียกร้องเอาจากบริษัทนายจ้างลูกหนี้แล้ว โจทก์ทั้งสี่จะไม่มีอำนาจฟ้องบังคับเอาจากจำเลย ประกอบกับหากจำเลยประสงค์จะให้บริษัทนายจ้างลูกหนี้ชั้นต้นรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จำเลยก็ชอบที่จะขอให้ศาลแรงงานกลางเรียกบริษัทนายจ้างเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ จำเลยจึงหามีสิทธิยกมาตรา 688 และมาตรา 689 ขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ได้ไม่
การจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย บริษัทนายจ้างได้ตกลงแบ่งจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสี่เป็นงวด จำนวน 10 งวด งวดละเท่า ๆ กัน แต่บริษัทนายจ้างชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสี่เพียงงวดแรกงวดเดียว จนถึงวันฟ้องก็ไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งสี่อีก แม้โจทก์ทั้งสี่จะฟ้องคดีนี้ก่อนถึงกำหนดเวลาชำระหนี้งวดสุดท้าย ก็ถือได้ว่าบริษัทนายจ้างผิดสัญญาและผิดนัดชำระหนี้ที่เหลือทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว โจทก์ทั้งสี่ย่อมถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 มีอำนาจฟ้องจำเลยผู้ค้ำประกันให้รับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ได้ ผู้ค้ำประกันจะยกมาตรา 687 ขึ้นต่อสู้เพื่อโต้แย้งว่าตนไม่จำต้องชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดเวลาที่จะต้องชำระหาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 686, ม. 687, ม. 688, ม. 689
ป.วิ.พ. ม. 55
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5245/2534
การจะบอกเลิกสัญญากันได้ต้องอาศัยข้อสัญญาหรือกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้เลิกสัญญาได้ ตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้ไม่ได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันมีสิทธิเลิกสัญญาได้ทั้งข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าฝ่ายโจทก์ได้มีหนังสือตอบปฏิเสธไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 บอกเลิกสัญญาค้ำประกันสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงยังไม่ระงับไป.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 386, ม. 680, ม. 687
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2491
โจทก์ได้ซื้อเรือต่อระวางบรรทุก 6,67 ตันกรอสจากจำเลยที่ 1โดยทำหนังสือกันเอง และได้ชำระเงินค่าเรือแล้ว จำเลยที่ 1 ได้มอบใบทะเบียนเรือและตัวเรือให้แก่โจทก์ ยังเหลือแต่เพียงไปโอนชื่อแก้ทะเบียนที่กรมเจ้าท่าเท่านั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิในเรือลำนี้แล้วต่อมาโจทก์มอบเรือลำนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ไปใช้ โดยจำเลยที่ 2 รู้เป็นอย่างดีแล้วว่า เรือลำนี้โจทก์ขอซื้อจากจำเลยที่ 1 และได้ชำระราคากันเสร็จแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 สมรู้กันไปโอนทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของ ดังนี้โจทก์ย่อมฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายเรือระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เสียได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 5, ม. 237, ม. 456, ม. 650, ม. 687, ม. 1300