Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 700 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 700 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 700” คืออะไร? 


“มาตรา 700” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 700 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ผู้ค้ำประกันจะได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้น
              ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันทำไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนเวลาอันมีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลา ข้อตกลงนั้นใช้บังคับมิได้
              ความในวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "ค้ำประกันหนี้" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "ค้ำประกันหนี้" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 700” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 700 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 852/2555
สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เพียงกำหนดเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้และระยะการชำระหนี้ใหม่เท่านั้น ส่วนข้อตกลงอื่นๆ ยังคงเป็นไปตามสัญญาเดิมและไม่มีข้อตกลงใดแสดงว่าโจทก์กับจำเลยมีเจตนาให้หนี้กู้ยืมตามสัญญาเดิมระงับแล้วมาบังคับกันใหม่ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่
เมื่อสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ข้อ 4 ให้นำเงื่อนไขและข้อตกลงตามสัญญากู้มาใช้บังคับ และเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินและหนังสือกู้เงิน ข้อ 2 วรรคสาม ตกลงให้โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนถึงกำหนดได้ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควร และโดยมิพักต้องชี้แจงให้ผู้กู้ทราบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ได้ก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
โจทก์นำคดีมาฟ้องก็เป็นการใช้สิทธิของโจทก์เองโดยที่จำเลยที่ 1 มิได้ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ จำเลยที่ 1 คงรับผิดชำระเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี แม้ปัญหานี้จำเลยที่ 1 จะมิได้ให้การต่อสู้ใว้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
เมื่อสัญญาค้ำประกันการกู้เงิน ข้อ 1 มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 2 ยอมผูกพันรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ และข้อ 3 มีข้อตกลงว่า "ธนาคารยอมผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยจะแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบหรือไม่ให้ทราบก็ตาม ผู้ค้ำประกันตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้นทุกครั้งไป และยังผูกพันรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและลูกหนี้ร่วมอยู่ตลอดไป" แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินตกลงยกเว้นบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 700 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 247
ป.พ.พ. ม. 700


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2553
กำหนดอายุความตามมาตรา 563 หมายถึงผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าให้รับผิดเพราะผู้เช่าฝ่าฝืนต่อหน้าที่ของตนตามสัญญาเช่า แต่ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ ค่าขาดราคาเมื่อนำรถที่เช่าออกขาย ค่าเบี้ยประกันภัยและค่าภาษีรถยนต์ที่โจทก์ชำระแทนไป เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าไม่ใช่เป็นการเรียกค่าเสียหายเพราะผู้เช่าฝ่าฝืนต่อหน้าที่จึงไม่อยู่ในอายุความตามมาตรา 563
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์คืน โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าไป จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้รถยนต์และโจทก์ไม่ติดตามเอารถยนต์คืนหาได้ไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าคืนตามสัญญาและตาม ป.พ.พ. มาตรา 561
การผ่อนเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดนั้นจะต้องมีการตกลงผ่อนเวลากันแน่นอน และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องมิได้ หากเพียงแต่หนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระยังไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้เพราะเจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก็ได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 19 เป็นต้นไปเท่านั้น โดยไม่มีการตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้กันแต่ประการใด ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ตามมาตรา 700
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 561, ม. 563, ม. 700


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3513/2551
เจ้าหนี้ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัท ร. มีข้อตกลงผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่บริษัทดังกล่าวโดยลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันมิได้ตกลงด้วยหรือให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาค้ำประกันและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 วรรคหนึ่ง แม้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระบุว่า ภาระหนี้และสิทธิประโยชน์ในมูลหนี้เดิมระหว่างเจ้าหนี้ทุกรายกับบริษัท ร. ยังไม่ระงับสิ้นไป หากบริษัท ร. ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้ทุกรายมีอำนาจนำมูลหนี้เดิมไปฟ้องร้องได้ แต่ลูกหนี้มิได้ร่วมตกลงหรือเป็นคู่สัญญาด้วยจึงไม่อาจใช้บังคับแก่ลูกหนี้ได้ เมื่อลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันแล้วเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 700
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที