คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2532

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5088

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5088/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 188 วรรคสาม, 192 วรรคแรก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคแรก

จำเลยให้การต่อสู้คดีแต่เพียงว่า จำเลยไม่ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และหนังสือดังกล่าวไม่มีข้อความแสดงว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ จำเลยมิต้องรับผิด ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือรับสภาพหนี้มีจำเลยลงลายมือชื่อเพียงฝ่ายเดียว โดยโจทก์มิได้สนองตอบในข้อสัญญาและจำเลยเป็นหนี้โจทก์เพียง 3,827 บาท จึงเป็นการกล่าวอ้างยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลล่าง เป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 เมื่อมูลหนี้เดิมขาดอายุความแล้ว จำเลยได้ทำสัญญารับสภาพความรับผิด ถือได้ว่าจำเลยได้ละเสียซึ่งอายุความที่ครบบริบูรณ์แล้วสัญญารับสภาพความรับผิดย่อมสมบูรณ์มีผลบังคับ จึงต้องนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันทำสัญญารับสภาพความรับผิดเป็นต้นไป.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5087

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5087/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1381

น. สามีจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเมื่อ น.ตายจำเลยครอบครองต่อมาถือว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ การที่ น. ไปแจ้งขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ฉะนั้นแม้ น.และจำเลยจะทำประโยชน์ในที่พิพาทมาช้านานเพียงไรก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง โจทก์เรียกร้องให้คืนที่พิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4621

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4621/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 282

ตามข้อบังคับของสหกรณ์ผู้ร้อง จำเลยมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าหุ้นต่อเมื่อได้มีการคืนหุ้นแก่จำเลย ซึ่งจะมีได้ 2 กรณี คือเมื่อจำเลยขาดจากสมาชิกภาพสหกรณ์ผู้ร้อง และเมื่อสหกรณ์ชำระบัญชีแล้วมีเงินเหลือคืนแก่จำเลย เมื่อจำเลยยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพสหกรณ์ผู้ร้อง และสหกรณ์ผู้ร้องยังไม่เลิก สิทธิเรียกร้องเงินค่าหุ้นของจำเลยที่มีต่อผู้ร้องยังไม่เกิดขึ้น แต่ข้อบังคับของผู้ร้องมิใช่กฎหมาย เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจัดวางระเบียบบริหารงานภายในของผู้ร้องข้อบังคับของผู้ร้องจึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ศาลย่อมอายัดเงินค่าหุ้นของจำเลยต่อผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5045

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5045/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 174 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 ม. 6

แม้จะฟังได้ว่าจำเลยอยู่ในวงการพนันไฮโลว์ ด้วยก็ตาม แต่วงการพนันไฮโลว์ ที่เกิดเหตุอยู่ที่เพิง ขายอาหารซึ่งตั้งอยู่บนทางสาธารณะ หน้าอู่รถโดยสารประจำทาง ซึ่งประชาชนทั่วไปมีความชอบธรรมจะเข้าไปได้ ที่เกิดเหตุจึงเป็นสาธารณสถาน ต้องด้วยข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 6 ที่มิให้สันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้เข้าเล่นการพนันด้วยเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน จนถึงชั้นพิจารณา จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 79

โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยตามภูมิลำเนาในคำฟ้องตามที่จำเลยระบุไว้ในสัญญากู้เงิน แต่การส่ง ณสถานที่ดังกล่าวไม่อาจกระทำได้เพราะจำเลยย้ายภูมิลำเนาและโจทก์ไม่อาจค้นหาภูมิลำเนาใหม่ได้ เพราะไม่ปรากฎว่าจำเลยได้แจ้งย้ายเข้าและย้ายออกจากบ้านที่แจ้งไว้โดยทางทะเบียนจึงเป็นกรณีที่ไม่อาจส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยได้ การที่ศาลมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตลอดจนแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลย โดยวิธีประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่โจทก์ขอ จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79.(ที่มา-ส่งเสริม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 473

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 473/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40

ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีด้วย เหตุเพียงแต่ได้รับแจ้งจากทางสำนักงานว่าจำเลยที่ 2 ติด ธุระจำเป็นอย่างรีบด่วนเท่านั้น ซึ่ง ทนายจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้พบกับจำเลยที่ 2 และธุระจำเป็นอย่างรีบด่วนตาม ที่อ้างก็ไม่ปรากฏว่าเป็นอะไร ทั้งปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ นัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ไว้ล่วงหน้าราวหนึ่งเดือน ครึ่งอันเป็นเวลานานพอสมควรประกอบกับในวันนัดนั้นจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้เตรียมพยานอื่นมาเลย พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2มีเหตุจำเป็นที่จะต้อง ขอเลื่อนคดีดัง ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้วายชนม์ซึ่งศาลได้มีคำสั่งตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกของผู้วายชนม์รายเดียวกันไว้ก่อนแล้วโดยมิได้จำกัดอำนาจของผู้จัดการมรดกเดิมไว้เฉพาะแต่ทรัพย์สินบางอย่าง ทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องขอจัดการนั้นก็เป็นทรัพย์สินที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกในคดีเดิมจะดำเนินการให้ได้ การที่ผู้ร้องมาร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกอีกจึงเป็นการร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกซ้อนกัน แม้จะเป็นการร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรมต่างฉบับกันก็เป็นการขอจัดการมรดกรายเดียวกัน ศาลไม่รับคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5038

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5036 - 5038/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 264, 265, 268, 352 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4)

จำเลยเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคาร ทำปลอมสมุดเงินฝากของผู้เสียหายทั้งสามจากนั้นนำไปอ้างต่อผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าจำเลยนำเงินของผู้เสียหายฝากธนาคารเรียบร้อยแล้วการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมแม้จะเกิดขึ้นต่างวาระกันกับความผิดฐานยักยอกก็ตาม แต่จำเลยมีเจตนาที่จะใช้เอกสารปลอมดังกล่าวเป็นหลักฐานเพื่อยักยอกเงินของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกัน เมื่อจำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานยักยอกคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ก็ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5011

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5011/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21 (4), 208, 209

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยโดยอ้างเหตุว่า คำร้องของจำเลยมิได้คัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยละเอียดชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แม้จำเลยจะฎีกาคัดค้านในประเด็นดังกล่าวขึ้นมา แต่เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้งดไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยเพราะเห็นว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบด้วย และคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยเหตุผลแล้วเช่นนี้ ก็ไม่เป็นเหตุให้ศาลฎีกาหยิบยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยขึ้นไต่สวนต่อไปตามข้อฎีกาของจำเลยได้อีก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4710

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4710/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5)

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานยึดได้อาวุธปืนที่จำเลยมีไว้และพาไปเป็นของกลาง โดยระบุวัน เดือน ปี และสถานที่เกิดเหตุว่าตำบล อำเภอ และจังหวัดใด ดังนี้เป็นคำฟ้องที่ชัดแจ้งชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ส่วนที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าขณะเกิดเหตุจำเลยหลบหนีหรือยังจับตัวจำเลยไม่ได้นั้น เป็นเพียงรายละเอียดหาจำต้องงบรรยายมาในฟ้องไม่

« »
ติดต่อเราทาง LINE