คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4621/2532
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 282
ตามข้อบังคับของสหกรณ์ผู้ร้อง จำเลยมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าหุ้นต่อเมื่อได้มีการคืนหุ้นแก่จำเลย ซึ่งจะมีได้ 2 กรณี คือเมื่อจำเลยขาดจากสมาชิกภาพสหกรณ์ผู้ร้อง และเมื่อสหกรณ์ชำระบัญชีแล้วมีเงินเหลือคืนแก่จำเลย เมื่อจำเลยยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพสหกรณ์ผู้ร้อง และสหกรณ์ผู้ร้องยังไม่เลิก สิทธิเรียกร้องเงินค่าหุ้นของจำเลยที่มีต่อผู้ร้องยังไม่เกิดขึ้น แต่ข้อบังคับของผู้ร้องมิใช่กฎหมาย เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจัดวางระเบียบบริหารงานภายในของผู้ร้องข้อบังคับของผู้ร้องจึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ศาลย่อมอายัดเงินค่าหุ้นของจำเลยต่อผู้ร้องได้
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ขอให้บังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยอันมีต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสกลนคร จำกัด ผู้ร้อง คือค่าหุ้นเป็นเงินจำนวน 27,010 บาท ศาลชั้นต้นออกหมายอายัดถึงผู้ร้องโดยห้ามมิให้ผู้ร้องชำระเงินดังกล่าวแก่จำเลย แต่ให้ชำระหรือส่งมอบแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งอายัดเป็นต้นไป ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งเงินจำนวน 27,010 บาท ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องไม่อาจนำส่งให้ได้เพราะเป็นเงินค่าหุ้นซึ่งจำเลยได้ชำระให้แก่ผู้ร้อง จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยอีกต่อไป และจำเลยไม่มีสิทธิจะเรียกร้องเอาจากผู้ร้องได้อีกด้วย เงินค่าหุ้นที่สมาชิกของผู้ร้องชำระแก่ผู้ร้องตกเป็นทุนของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511มาตรา 14(5) ซึ่งระบุว่าทุนของผู้ร้องแบ่งเป็นหุ้นกำหนดมูลค่าของหุ้นให้สมาชิกถือ เมื่อสมาชิกของผู้ร้องส่งเงินค่าหุ้นที่ถือให้แก่ผู้ร้องแล้ว เงินค่าหุ้นเป็นทุนของผู้ร้องทันที โจทก์จะขอให้อายัดเงินค่าหุ้นของจำเลยไม่ได้ เว้นแต่จะมีการคืนหุ้นให้จำเลยเมื่อจำเลยขาดจากสมาชิกภาพหรือเมื่อเลิกกิจการของผู้ร้องและชำระบัญชีแล้วเท่านั้นและตามข้อบังคับของผู้ร้องซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 บังคับไว้ว่าสมาชิกจะโอนขายหรือถอนหุ้นไม่ได้ เว้นแต่จะลาออกจากการเป็นสมาชิกของผู้ร้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลอายัดเงินดังกล่าวขอให้ถอนการอายัดเงินค่าหุ้นจำเลยจำนวน 27,010 บาท โจทก์คัดค้านว่าหุ้นของจำเลยมูลค่า 27,010 บาทเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิที่จะขออายัดได้ผู้ร้องเป็นเพียงตัวแทนถือหุ้นไว้แทนจำเลยเท่านั้น เงินค่าหุ้นหาได้ตกไปเป็นของผู้ร้องแต่อย่างใดไม่ อีกทั้งเงินดังกล่าวหาตกอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 ขอให้ศาลยกคำร้องของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ตามข้อบังคับของสหกรณ์ผู้ร้อง จำเลยมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าหุ้นต่อเมื่อได้มีการคืนหุ้นแก่จำเลยเท่านั้นซึ่งจะมีได้ 2 กรณี คือเมื่อจำเลยขาดจากสมาชิกภาพสหกรณ์ผู้ร้อง และเมื่อสหกรณ์ชำระบัญชีแล้วมีเงินเหลือคืนแก่จำเลยเท่านั้น เมื่อจำเลยยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพสหกรณ์ผู้ร้อง และยังไม่เลิกสหกรณ์ สิทธิเรียกร้องเงินค่าหุ้นของจำเลยที่มีต่อผู้ร้องยังไม่เกิดขึ้น โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นนี้เช่นกันนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อบังคับของผู้ร้องมิใช่กฎหมายเป็นเรื่องที่ผู้ร้องจัดวางระเบียบบริหารงานภายในของผู้ร้อง ข้อบังคับของผู้ร้องจึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าจำเลยเป็นหนี้ผู้ร้องเกินกว่าเงินค่าหุ้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้ และเมื่อหักกลบลบหนี้แล้วเงินค่าหุ้นของจำเลยก็หมดไปนั้นผู้ร้องเพิ่งกล่าวอ้างความข้อนี้ขึ้นมาในชั้นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้"
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง จุฬาลัย ปิ ตรัง สี ผู้ร้อง - สหกรณ์ออมทรัพย์ ครู สกลนคร จำกัด จำเลย - นาง ศรีมุกดา ไชย งาม
ชื่อองค์คณะ ปิ่นทิพย์ สุจริตกุล ประชา บุญวนิช ตัน เวทไว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan