คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2532

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 858

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 858/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 226, 227, 232, 233 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 8 ทวิ

คดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้สืบให้เห็นว่าจำเลยมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะฟังได้ว่าจำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหาย และในชั้นสืบพยานจำเลย จำเลยจะตอบคำถามค้านของโจทก์ว่าจำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีหรือพกพาอาวุธปืนมาก่อน ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบให้เห็นว่าจำเลยกระทำผิดฐานมีและพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงลงโทษจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 852

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 852/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 855

จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้การเล่นพนันสลากกินรวบเป็นหนี้ที่ไม่สมบูรณ์ ฟ้องบังคับไม่ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 857

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 857/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 306, 308

จำเลยร่วมทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคาร สัญญาข้อ 14 กำหนดว่า "ผู้รับจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของตนตามอัตราค่าจ้างและกำหนดเวลาที่ผู้รับจ้างและลูกจ้างได้ตกลงหรือสัญญากันไว้ ถ้าผู้รับจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง…ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเอาเงินค่าจ้างที่ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างของผู้รับจ้างได้ และให้ถือว่าเงินจำนวนที่จ่ายไปนี้เป็นเงินค่าจ้างที่ผู้รับจ้างได้รับไปจากผู้ว่าจ้างแล้ว…" ต่อมาจำเลยโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องมีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยร่วม จำเลยร่วมมีหนังสือตอบไปยังผู้ร้องว่า "จำเลยร่วมพิจารณาแล้วไม่ขัดข้องในการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่ผู้ร้องแจ้งมา แต่ผู้ร้องจะได้เงินค่าจ้างเพียงเท่าที่จำเลยจะพึงได้รับจากจำเลยร่วมตามสัญญาจ้างดังกล่าวเท่านั้น" ย่อมเท่ากับว่าจำเลยร่วมได้โต้แย้งแสดงการสงวนสิทธิของจำเลยร่วมที่มีอยู่ตามสัญญาจ้างดังกล่าว รวมทั้งตามสัญญาข้อ 14 ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 308แล้ว สิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับเงินดังกล่าวจึงไม่อาจเกินไปกว่าสิทธิที่จำเลยมีอยู่ตามสัญญาจ้าง จำเลยร่วมย่อมสามารถยกข้อต่อสู้ตามสัญญาจ้างที่ตนมีต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้โอนขึ้นต่อสู้กับผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนได้ เมื่อจำเลยค้างจ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง จำเลยร่วมย่อมใช้สิทธิตามสัญญาจ้างข้อ 14 หักเงินจำนวนดังกล่าวจากค่าจ้างที่จำเลยร่วมจะต้องจ่ายให้แก่ผู้ร้องเพื่อนำไปจ่ายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินที่จำเลยร่วมได้ใช้สิทธิหักไว้นี้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 856

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 856/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 88

จำเลยต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคแรก จึงจะมีสิทธิเข้าเบิกความ.(ที่มา-ส่งเสริม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 853

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 853/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 95 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 176 วรรคหนึ่ง, 226, 227, 232, 233, 235 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 72

คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ว่าจำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองก็ตามก็เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการที่จำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงนั้น เพราะในการพิจารณาคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิด ทั้งโจทก์ไม่ได้อาวุธปืนมาเป็นของกลางยืนยัน และไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่พิสูจน์ให้เห็นว่าอาวุธปืนดังกล่าวไม่มีหมายเลขทะเบียนตามที่โจทก์ฟ้อง จึงลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้. (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2532)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33, 36

แม้ทะเบียนรถจักรยานยนต์จะมิใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ และเป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นด้วยระเบียบพิธีการเพื่อสะดวกแก่การควบคุมรถ แต่ยังเป็นเอกสารที่มีรายการระบุชื่อผู้เป็นเจ้าของรถและมีรายการเปลี่ยนแปลงการโอนทางทะเบียนอันเป็นพยานหลักฐานแสดงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของอย่างหนึ่ง เมื่อคู่มือทะเบียนการเสียภาษีรถมีชื่อบริษัท ฮ. เป็นเจ้าของและผู้ร้องไม่ได้นำผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ฮ. มานำสืบถึงการขายรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง ตลอดทั้งเหตุแห่งการที่ไม่มีการโอนทางทะเบียนจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลาง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 850

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 850/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 383 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 119

การที่ผู้ประกันไม่สามารถส่งตัวจำเลยต่อศาลได้ภายในเวลาที่ศาลกำหนด จนศาลได้มีคำสั่งปรับนายประกันและออกหมายจับจำเลยไปแล้ว ครั้นเมื่อศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ผู้ประกันก็ไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ เป็นเหตุให้ศาลต้องเลื่อนการอ่านไปและออกหมายจับจำเลยอีก ต่อมาเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาลับหลังจำเลยไปแล้ว โดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ ผู้ประกันจึงเพิ่งนำตัวจำเลยมาส่งศาลและขอลดค่าปรับ พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าจำเลยเจตนาหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาแม้ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ก็ไม่ทำให้ผู้ประกันพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันไปได้ เพราะผลของคำพิพากษาไม่เป็นเหตุที่จะนำมาประกอบการพิจารณาว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกันหรือไม่ ทั้งการไม่ได้ตัวผู้กระทำผิดมาพิจารณาพิพากษาไม่ว่าจำเลยจะต้องถูกลงโทษหรือไม่ก็ตาม ย่อมทำให้เสียหายแก่การยุติธรรม จึงไม่มีเหตุที่จะลดหย่อนค่าปรับให้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 166

แม้ทนายโจทก์จะเจ็บป่วยอันเป็นเหตุให้เลื่อนคดีได้ก็ตามแต่ทนายโจทก์ก็สามารถแจ้งวันนัดให้โจทก์ทราบ หรือทำคำร้องขอเลื่อนคดีมอบให้ผู้อื่นมายื่นต่อศาลได้ ดังนี้ การที่โจทก์และทนายโจทก์ไม่ได้มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องและไม่ได้ขอเลื่อนคดี และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องโจทก์ โจทก์จะยกเหตุที่ทนายโจทก์ป่วยมาเป็นข้อแก้ตัวหาได้ไม่ ศาลไม่อนุญาตให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841 - 842/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341

โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 ไปร่วมลงทุนกับ อ. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ช. โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าโจทก์จะได้รับผลประโยชน์ในอัตราร้อยละ 7 ต่อเดือน ต่อมาโจทก์ไปขอรับเงินผลประโยชน์ จำเลยที่ 1 ขอผัดผ่อนและไม่ยอมคืนเงินลงทุนให้โจทก์แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 กับบุคคลในครอบครัวของจำเลยที่ 1ก็เป็นผู้ร่วมลงทุนกับบริษัท ช. ด้วยโดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นเพียงหัวหน้าสายนำเงินที่มีผู้มาลงทุนไปส่งมอบให้บริษัท ช.และรับผลประโยชน์มาแจกจ่ายให้แก่ผู้มาร่วมลงทุนเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาหลอกลวงโจทก์จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (7), 21, 295

จำเลยยื่นคำร้องว่ามิได้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี ศาลได้นัดคู่ความพร้อมกัน ในวันนัดศาลสอบข้อเท็จจริงจากทนายโจทก์ และพิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องของจำเลย แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องดังนี้ การที่ศาลขึ้นนั่งพิจารณาแล้วสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการไต่สวนแล้ว.

« »
ติดต่อเราทาง LINE