คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2532

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 908

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 908/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 341, 733

โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ในการทำสัญญาจ้างโจทก์ได้จำนองที่ดินแปลงหนึ่งไว้เป็นประกันความเสียหาย การที่โจทก์ได้จำนองที่ดินไว้ดังกล่าวย่อมแยกการจำนองกับหนี้ที่เอาทรัพย์สินจำนองเป็นประกันออกจากกันได้ เมื่อโจทก์ทำให้จำเลยเสียหายจำเลยจึงมีสิทธิที่จะเลือกฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามสัญญาจำนองก็ได้ เพราะว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733มิได้บังคับว่าจำเลยมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองเพียงทางเดียว ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่ประสงค์ที่จะบังคับชำระหนี้ค่าเสียหายจากที่ดินที่จำนองและจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระเงินสะสมและเงินบำเหน็จจำนวนหนึ่งให้โจทก์ประกอบกับจำเลยได้ใช้สิทธิขอหักหนี้มาในคำให้การแล้ว จำเลยจึงมีสิทธินำเงินบำเหน็จของโจทก์มาหักกับค่าเสียหายแก่จำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341โดยหาจำต้องบังคับเอาจากทรัพย์ที่จำนองเป็นประกันก่อนไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1716, 1732, 1727 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 249, 148, 173 (1)

คดีก่อนจำเลยทั้งสามกล่าวหาโจทก์ว่าละเลยไม่ทำบัญชีทรัพย์มรดกไม่รายงานแสดงบัญชีการจัดการและไม่แบ่งปันมรดกให้เสร็จภายใน1ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายให้ถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายคดีถึงที่สุดแล้วคดีนี้โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้งสามว่าละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ไม่ทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายใน1ปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำเลยทั้งสามไม่สามารถเป็นผู้จัดการมรดกคดีก่อนกับคดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทคนละอย่างคนละเหตุกันฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ปัญหาที่ว่าคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนหรือไม่จำเลยเพิ่งหยิบยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4)

จำเลยออกเช็ค 3 ฉบับชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เป็นการสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามจำนวนและวันที่ที่มีปรากฏในเช็คแตกต่างกัน ซึ่งจำเลยผู้ออกเช็คอาจมีเงินจ่ายตามเช็คหรือมีเจตนาให้ใช้เงินตามเช็คแต่ละฉบับหรือไม่แตกต่างแยกจากกันได้เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 3 ฉบับ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และเมื่อเช็คที่โจทก์นำไปฟ้องจำเลยในคดีก่อนเป็นเช็คคนละฉบับกับที่มาฟ้องเป็นคดีนี้ แม้จำเลยจะออกเช็คในคราวเดียวกันเพื่อชำระหนี้อันมีมูลหนี้มาจากค่าซื้อยาเช่นเดียวกันก็ตาม โจทก์ก็ย่อมนำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 894

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 894/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยยิงผู้ตาย มีแต่พยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีซึ่งก็มีเหตุให้เป็นที่สงสัย ส่วนหลังเกิดเหตุแม้จำเลยที่ 1 ไปติดต่อขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ภริยาผู้ตาย แต่จำเลยที่ 1 อาจจะกระทำไปโดยความเกรงกลัวว่าจะต้องรับโทษทั้งที่ไม่ได้กระทำผิดก็เป็นได้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341, 343, 91, 83 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218

คดีที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 แม้จำเลยจะฎีกาอ้างอิงข้อกฎหมายมาประกอบ แต่เป็นข้อกฎหมายที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยอื่นหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามฎีกาเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341

ผู้เสียหายยินยอมให้ ด.ภริยาจำเลยกู้ยืมเงินโดยมีอ.เป็นผู้ค้ำประกัน เพราะมีเหตุจูงใจจากผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินถึง50,000 บาทและการที่คู่กรณีทำหนังสือสัญญากู้ไว้เป็นหลักฐานเพราะถ้า ด. ผิดนัด ผู้เสียหายก็สามารถบังคับตามสัญญากู้ได้ ไม่ใช่ผู้เสียหายให้กู้ยืมเนื่องจากเชื่อว่า ด. กับจำเลยจะนำเงินไปชำระหนี้ค่าปลูกบ้านและหนี้สหกรณ์ตามที่ ด. กับจำเลยกล่าวอ้างทั้งกรณีที่ผู้เสียหายยอมรับเช็คซึ่งมีจำนวนเงินเท่ากับในสัญญากู้จาก ด. ไว้แทนสัญญากู้แล้วคืนสัญญากู้ให้แก่ฝ่ายจำเลยไป ก็โดยที่ผู้เสียหาย เห็นว่าการออกเช็คให้ยึดถือไว้นั้นเป็นหลักประกันที่ดีกว่าสัญญากู้ เพราะนอกจากจะฟ้องบังคับตามจำนวนเงินในเช็คอันเป็นความผิดในทางแพ่งแล้ว ผู้เสียหายยังมีสิทธิที่จะฟ้องในทางอาญาซึ่งเป็นช่องทางที่จะบีบบังคับให้ลูกหนี้รีบขวนขวายในการชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่งด้วย พฤติการณ์แห่งความผูกพันระหว่างผู้เสียหายกับ ด. และจำเลยจึงเป็นมูลหนี้ในทางแพ่งโดยเฉพาะหาใช่เป็นความรับผิดในทางอาญาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 874

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 874/2532

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1476, 1480

สิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างไม่เป็นสินสมรส การฟ้องเรียกเงินตามสัญญาจ้างแรงงานมิใช่เป็นการจัดการสินสมรส โจทก์ซึ่งเป็นหญิงมีสามีจึงมีอำนาจฟ้องได้ตามลำพังตนเอง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี การที่โจทก์มาทำงานสายและทำงานให้แก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ครบตามเวลาที่กำหนด หากเป็นการผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยชอบที่จะลงโทษทางวินัยตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวได้ หาชอบที่จะเรียกเงินค่าจ้างคืนจากโจทก์ไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40, 86

ทนายจำเลยป่วยขอเลื่อนคดีและมีใบรับรองแพทย์มาแสดง เมื่อโจทก์ไม่ค้านหรือโต้เถียงว่าทนายจำเลยไม่ป่วยจริง จึงต้องฟังว่าทนายจำเลยป่วยและความเจ็บป่วยเป็นความจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ เหตุขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยจึงมีเหตุสมควรที่จะให้เลื่อนได้ จำเลยมาศาลทุกนัด เพิ่งไม่มานัดที่ศาลสั่งให้คู่ความมาศาลเป็นนัดแรก เพราะอาจเห็นว่าทนายจำเลยป่วยและทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนแล้ว และหากจำเลยมาศาลโจทก์จำเลยไม่อาจตกลงกันได้ศาลก็ไม่อาจสืบพยานไปได้ ดังนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยประวิงคดีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 875

เมื่อผู้เอาประกันรถยนต์ได้บอกกล่าวการโอนรถที่เอาประกันภัยไว้กับผู้รับประกันภัยให้แก่ตัวแทนของผู้รับประกันภัยทราบแล้วแม้จะเป็นการบอกกล่าวด้วยวาจาก็ถือว่าผู้รับประกันภัยทราบแล้วเช่นเดียวกัน สิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยย่อมโอนตามไปยังผู้รับโอนรถยนต์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 875 วรรคสอง ผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประกันภัยนั้น.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 862

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 862/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1012

โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่แจ้งชัดมาแสดงโดยตรงว่าโจทก์จำเลยเป็นหุ้นส่วนกัน การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการแผนกเวชภัณฑ์ของบริษัท บ. ดำเนินการให้บริษัท บ. เพิ่มส่วนลดให้โจทก์พนักงานของบริษัท บ. ไม่นำฟิล์มเอ็กซเรย์และน้ำยาล้างฟิล์มไปขายในท้องที่ที่โจทก์ขายอยู่ และบริษัท บ. ให้ของแถมเพื่อให้โจทก์นำไปแจกแก่ลูกค้าของโจทก์อีกต่อหนึ่งซึ่งทำให้โจทก์มีกำไรจากการซืสินค้าจากบริษัท บ. ไปขายมากขึ้น ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมการขายเพื่อทำให้บริษัท บ. ขายสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาในทางการค้า แม้โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยร้อยละห้าของกำไรที่ได้จากการขายฟิล์มเอ็กซเรย์และน้ำยาล้างฟิล์ม ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงเข้ากันเป็นหุ้นส่วนซื้อฟิล์มเอ็กซเรย์และน้ำยาล้างฟิล์มจากบริษัท บ. ไปขายเพื่อประสงค์จะแบ่งปันกำไรแต่เป็นเรื่องจำเลยดำเนินการให้โจทก์มีกำไรจากกิจการค้ามากขึ้นและโจทก์ให้เงินแก่จำเลยเป็นการตอบแทน จำเลยจึงไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้สินอันเกิดจากกิจการค้านั้น

« »
ติดต่อเราทาง LINE