คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2532

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 957

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 957/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 297 (8), 295

โจทก์ร่วมถูกชกบริเวณใบหน้าเป็นรอยฟกช้ำและดั้งจมูกหักแต่สามารถไปไหนมาไหน และไปทำงานได้ตามปกติ แม้แพทย์มีความเห็นว่าใช้เวลารักษาบาดแผลประมาณ 30 วัน ก็เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติเท่านั้นยังไม่ถึงขนาดเป็นอันตรายสาหัส.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 72, 90, 295, 297

จำเลยใช้มีดปังตอฟันโจทก์ร่วมที่ 1 ถูกที่หน้าผากด้านขวาได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยจะฟันซ้ำ โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาของโจทก์ร่วมที่ 1 วิ่งเข้ามาขัดขวางไว้จึงถูกจำเลยฟันที่ศีรษะ จำเลยจะฟันซ้ำ โจทก์ร่วมที่ 2 ยกมือขึ้นรับจึงถูกฟันที่นิ้วมือเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยกระทำโดยบันดาลโทสะ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295และมาตรา 297 ประกอบด้วยมาตรา 72 แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบด้วยมาตรา 72 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 945

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 945/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 96, 276 วรรคแรก

จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2530จนกระทั่งถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2530 เป็นการกระทำผิดหลายคราวต่อเนื่องกันตลอดมา ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530 เป็นการร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4), 192 วรรคสอง, 195, 225 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ม. 4, 23, 71, 126, 148

เมื่อข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอุทธรณ์ ไม่มีผลทำให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลจากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบกันมาเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่นแล้วศาลอุทธรณ์ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวให้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี แม้คดีนี้กับคดีก่อนจะเป็นการกระทำอันเดียวกันและข้อหาอย่างเดียวกัน และศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีก่อนเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว แต่เมื่อมิใช่จำเลยคนเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษฐานประกอบการขนส่งไม่ประจำทางข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหานี้ตามที่โจทก์ฟ้องได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 931

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 931/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 157, 201, 265, 90

จำเลยบอกให้ ล. ลงลายมือชื่อแทน ท. ได้ ล. จึงปลอมลายมือชื่อ ท. ลงในคำร้องขอประกัน แล้วจำเลยร่วมกับ ล.ขอประกันตัว อ.ผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยใช้โฉนดที่ดินของท.เป็นหลักทรัพย์ เสนอต่อพันตำรวจตรี ช.จนพันตำรวจตรีช.อนุญาตให้ประกันตัว อ. ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำเอกสารปลอมกระทงหนึ่ง และฐานใช้เอกสารปลอมอีกกระทงหนึ่งและการที่จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่เสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกัน อ. ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าล. ปลอมลายมือชื่อ ท. ผู้ขอประกัน จำเลยก็ยังเสนอความเห็นว่าควรให้ประกัน อ. ทั้งจำเลยยังรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการให้ อ. ได้รับประกันตัวไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 201 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 943

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 943/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 336 วรรคแรก, 339, 340 ตรี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 193, 225 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 147

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา339,340ตรีศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพยานโจทก์มีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยใช้อาวุธปืนในการกระทำผิดหรือไม่จึงลงโทษเฉพาะตามมาตรา339วรรคสองจำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียวข้อเท็จจริงจึงยุติว่าจำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิดศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์เช่นนี้โจทก์จะฎีกาว่าจำเลยหรือพรรคพวกของจำเลยเป็นผู้ยิงปืนต้องลงโทษตามฟ้องหาได้ไม่เพราะข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิดถึงที่สุดไปแล้วและถือไม่ได้ว่าโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา339เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาในฎีกาว่าจำเลยได้กระทำการอย่างไรที่ถือว่าเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์คงกล่าวเพียงว่าจำเลยหรือพรรคพวกจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงอันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องเท่านั้นจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา193ประกอบด้วยมาตรา225ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 942

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 942/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 295, 288, 80

มีดปลายแหลมที่จำเลยใช้แทงผู้เสียหายมีความยาวรวมทั้งด้ามประมาณ 6 นิ้วฟุต จำเลยเลือกแทงผู้เสียหายที่หน้าอกด้านซ้ายอันเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย มีบาดแผลบริเวณอก ด้านซ้าย มีเลือดและลมในช่องเยื่อหุ้มปอด บาดแผลจะหายในเวลา 7 วัน ในกรณีไม่มีภาวะแทรกซ้อน บาดแผลดังกล่าวเพียงแต่ลึกถึงเยื่อหุ้มปอด ไม่ได้ถึงเนื้อปอด แสดงว่าจำเลยไม่ได้แทงโดยแรง และเมื่อจำเลยแทงผู้เสียหายเพียงทีเดียวแล้วหลบหนีไป ไม่ได้แทงซ้ำอีกทั้ง ๆที่มีโอกาสกระทำได้ จึงส่อให้เห็นเจตนาของจำเลยว่าตั้งใจเพียงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาฆ่า การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2532

คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42

ข่าวมีลักษณะที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจ หรือวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัว ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ข้อ 2(6) นั้น หมายถึงข่าวคราวที่มีลักษณะอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความตื่นตกใจวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัว หาใช่ข่าวที่เพียงอาจทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งเกิดความตื่นตกใจหรือวิตกกังวลหรือหวาดกลัวไม่ การที่จำเลยพิมพ์และโฆษณาข้อความโดยพิมพ์พาดหัวหนังสือพิมพ์ประจำวันของจำเลยว่า "ห่วงหลุด เสียเงินหมื่น เลือดไหลไม่หยุดเจ็บปวด ทรมาน" ภายในเนื้อข่าวเป็นเรื่องราวของนาง ว. ซึ่งได้รับการใส่ห่วงยางเพื่อคุมกำเนิดจากโรงพยาบาล อ. เมื่อกลับมาบ้านแล้วรู้สึกเจ็บปวด เลือดไหลอยู่ 4 วัน ครั้นเลือดหยุดก็ยังมีอาการปวดอยู่ นาง ว. ต้องไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลอื่น และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลถึง 14,000 บาท ข้อความตามข่าวมิใช่ความเท็จ หรือมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ทั้งมีลักษณะเป็นข่าวอยู่ในวงเฉพาะสตรีที่มีสามีแล้ว และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์เท่านั้นซึ่งหาใช่ข่าวที่อาจทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความตื่นตกใจ วิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัวไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ข้อ 2(6).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 930

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 930/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 289

ก่อนเกิดเหตุ ล. พวกจำเลยมาชวนผู้ตายและ ร. ไปดื่มสุราที่บ้านจำเลยโดยมี ด. พี่ชายจำเลยร่วมดื่มสุราด้วย ขณะดื่มสุราผู้ตายพูดขอไถ่รถจักรยานยนต์ที่จำนำไว้กับ ด. จำเลยไม่ยอมให้ไถ่หลังจากนั้นจำเลยกับพวกก็เข้ากลุ้มรุมทำร้ายผู้ตายโดยจำเลยใช้ขวดสุราตีศีรษะผู้ตาย เมื่อผู้ตายและ ร. วิ่งหนี จำเลยก็ถือขวานวิ่งไล่ตามฟันผู้ตายถูกที่ไหล่ซ้ายและท้ายทอยล้มคว่ำลงเป็นแผลฉกรรจ์ เมื่อ ร. ช่วยเหลือนำผู้ตายกลับที่พัก จำเลยได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ให้ ล. นั่งซ้อนท้ายพร้อมมีปืนลูกซองยาวซึ่ง ด. มอบให้ตามไปยิงผู้ตาย ณ ที่พักของผู้ตาย จนถึงแก่ความตายในที่สุด การกระทำของจำเลยส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยกับพวกที่มุ่งมั่นจะเอาชีวิตผู้ตายให้จงได้เป็นพฤติการณ์ที่เข้าลักษณะไตร่ตรองไว้ก่อน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 909

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 909/2532

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 5, 10, 20

เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างห้ามเปลี่ยนแปลตำแหน่งหรือหน้าที่ของลูกจ้าง นายจ้างย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งลูกจ้างเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ อันเป็นอำนาจของนายจ้างโดยเฉพาะได้ และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างอันไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง.

« »
ติดต่อเราทาง LINE