สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5038/2532

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5036 - 5038/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 264, 265, 268, 352 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4)

จำเลยเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคาร ทำปลอมสมุดเงินฝากของผู้เสียหายทั้งสามจากนั้นนำไปอ้างต่อผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าจำเลยนำเงินของผู้เสียหายฝากธนาคารเรียบร้อยแล้วการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมแม้จะเกิดขึ้นต่างวาระกันกับความผิดฐานยักยอกก็ตาม แต่จำเลยมีเจตนาที่จะใช้เอกสารปลอมดังกล่าวเป็นหลักฐานเพื่อยักยอกเงินของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกัน เมื่อจำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานยักยอกคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ก็ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4).

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องจำเลยสามสำนวน ศาลสั่งรวมพิจารณามีใจความฟ้องทำนองเดียวกันว่า จำเลยเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชี ได้ปลอมสมุดเงินฝากประจำของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาเชียงใหม่ โดยเติมข้อความในช่องผู้ฝากเงินว่า คุณสุนีย์ฯ ฝากเงิน 10,000 บาท นางเล็กฯฝากเงิน 50,000 บาท และคุณขวัญเรือนฯ ฝากเงิน 11,000 บาท เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2529 29 สิงหาคม 2529 และ 11 กันยายน 2529แล้วลงลายมือชื่อจำเลย ประทับตราธนาคารลงในช่องผู้รับมอบอำนาจโดยไม่ผ่านวิธีการตามระเบียบของธนาคาร ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน2529 ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2529 ถึง 16 มกราคม 2530 และระหว่างวันที่ 7 กันยายน 2529 ถึง 16 มกราคม 2530 หลังจากปลอมสมุดเงินฝากแล้ว จำเลยนำสมุดดังกล่าวไปอ้างแสดงต่อนางสาวสุนีย์ นางเล็กและนางขวัญเรือน เพื่อแสดงว่าจำเลยนำเงินฝากของบุคคลดังกล่าวเข้าฝากต่อธนาคารแล้ว และธนาคารได้ออกสมุดเงินฝากประจำให้ไว้เป็นหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อนางสาวสุนีย์ นางเล็กนางขวัญเรือน ธนาคาร และประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265 และ 268 ริบสมุดเงินฝากของกลางและนับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่น

จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสามสำนวน

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายตามฟ้องทั้ง 3 สำนวนต่างมอบเงินให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาเชียงใหม่ เพื่อนำเข้าฝากไว้ที่ธนาคารดังกล่าว แต่จำเลยกลับเบียดบังเงินของผู้เสียหายที่มอบให้ดังกล่าวเป็นของจำเลยโดยทุจริต แล้วจำเลยได้นำสมุดเงินฝากตามฟ้องที่จำเลยทำปลอมขึ้นไปอ้างต่อผู้เสียหาย จำเลยถูกฟ้องฐานยักยอกเงินของผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามฟ้องอีก เห็นว่า ที่จำเลยทำปลอมสมุดเงินฝากขึ้น และนำไปอ้างต่อผู้เสียหาย ก็เพื่อให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าจำเลยนำเงินของผู้เสียหายฝากธนาคารเรียบร้อยแล้วแม้การปลอมและการใช้สมุดเงินฝากที่ทำปลอมขึ้นจะต่างวาระกันกับความผิดฐานยักยอก แต่ก็เป็นเจตนาของจำเลยที่จะใช้สมุดเงินฝากที่ทำปลอมขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อยักยอกเงินของผู้เสียหายนั่นเองความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและฐานยักยอกจึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นกรรมเดียวกัน เมื่อจำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานยักยอกคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ สิทธิที่จะฟ้องความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวกันกับความผิดฐานยักยอก ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา39(4) ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว

พิพากษายืน.

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ จังหวัด เชียงใหม่ จำเลย - นางสาว อิศรางค์ หรือ อิศ ราง แสน ปัญญา

ชื่อองค์คณะ นาม ยิ้มแย้ม ไพฑูรย์ เนติโพธิ์ ประคนธ์ พันธุ์วิชาติกุล

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE