คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2532
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2532
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 340
จำเลยทั้งสามไล่ตาม ผู้เสียหายทั้งสองไปจนทันแล้วจำเลยที่ 3ตบหน้าและชิง เอาเงินของผู้เสียหายไป โดย จำเลยที่ 2 ล็อก คอผู้เสียหาอีกคนหนึ่งไว้เพื่อมิให้เข้าช่วยเหลือกัน จำเลยที่ 1 แนะนำให้พาผู้เสียหายทั้งสองเข้าไปในซอย เพราะเกรงว่าจุดที่เกิดเหตุอยู่ริมถนนอาจมีผู้ผ่านไปมาพบเห็น จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็ล็อก คอและลากตัวผู้เสียหายเข้าไปในซอย แล้วจำเลยที่ 3 ลงมือทำร้ายผู้เสียหายอีกแม้จำเลยที่ 1 จะห้ามปรามก็เป็นขณะที่การประทุษร้ายต่อ ทรัพย์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นการกระทำร่วมกับจำเลยที่ 3 มาตั้งแต่ ต้น จนเหตุการณ์สิ้นสุดลง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐาน ปล้นทรัพย์.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 787/2532
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 96, 341, 343 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (6), 213
จำเลยทั้งสองหลอกลวงว่ามีงานทำที่ องค์การโทรศัพท์ประเทศมาเลเซีย ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดหลงเชื่อยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง แต่ พฤติการณ์การหลอกลวงของจำเลยไม่ได้มีลักษณะเป็นการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่ว ๆ ไป เพียงแต่ ตัวแทนของจำเลยได้ ติดต่อ กับโจทก์และพวกอ้างว่ามีงานที่หน่วยงานดังกล่าวว่างอยู่ 10 ตำแหน่ง เท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชนตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงเป็นความผิดฐาน ฉ้อโกงตาม มาตรา 341 ซึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับ แต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดตาม มาตรา 341 ดังกล่าวซึ่ง เป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึง จำเลยที่ 2 ให้รับผลตาม คำพิพากษาด้วย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2532
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 136, 157
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่เกิดเหตุได้ พบกลุ่มเยาวชนกำลังขัดขวางการปฏิบัติการตาม หน้าที่ และข่มขืนใจเจ้าพนักงานสรรพสามิตให้ปล่อยตัว อ. ผู้ต้องหา ให้คืนสุราแช่ของกลาง ให้มอบบันทึกการจับกุม และการตรวจ ค้นยึดสุราแช่จำเลยที่ 1มิได้ทำการจับกุมในทันที ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิด เหตุการณ์รุนแรงขึ้นนั้น ยังถือ ไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ ละเว้นการปฏิบัติการตาม หน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยที่ 1 กล่าวแก่เจ้าพนักงานสรรพสามิตซึ่ง ทำการจับกุม อ.ผู้ต้องหาว่า "โคตรแม่มึงเวลาเขาลักขโมยควายไป 2-3 วัน ตาม หาไม่เจอเวลามีสุราทำไมจับเร็วนัก พวกคุณมาสร้างปัญหา คุณไม่ต้องมามองหน้าผมหรอก คุณเป็นหัวหน้าส่วนกระจอก ๆ ผมไม่กลัวคุณหรอก ใหญ่กว่านี้ผมก็ไม่กลัว" เป็นการพูดเปรย ขึ้นมาเพื่อประชดประชันว่า ทำไมเรื่องสุราจับเร็วนัก และเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพ มิใช่เป็นการสบประมาทเหยียดหยามดูหมิ่น เจ้าพนักงานผู้กระทำการตาม หน้าที่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2532
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 52
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้เลิกกิจการแล้วผู้ร้องจึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะจ้างผู้คัดค้านต่อไป กรณีมีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งหมดได้ ดังนี้ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่ากิจการของผู้ร้องจะยุบเลิกหรือหยุดดำเนินกิจการได้ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบเลิกหรือหยุดดำเนินการออกใช้บังคับ จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะวินิจฉัยเพราะการที่ผู้ร้องยุบเลิกกิจการหรือหยุดดำเนินการจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ไม่เกี่ยวกับการที่ผู้ร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านในคดีนี้ เมื่อได้ความว่าผู้ร้องได้เลิกกิจการแล้ว ผู้ร้องก็ชอบที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นคณะกรรมการลูกจ้างได้.(ที่มา-ส่งเสริม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2532
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 46 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 43, 157
แม้พนักงานอัยการจะได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และ ส.ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43157 และศาลพิพากษาลงโทษ ส. แต่ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากมูลกรณีรถชนกัน และในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกโจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องหรือขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ พนักงานอัยการจึงไม่อยู่ในฐานะฟ้องคดีอาญาแทนโจทก์ ผลแห่งคำพิพากษาคดีอาญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งฟ้องคดีแพ่งว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ที่ ส. ลูกจ้างโจทก์เป็นผู้ขับ เพราะโจทก์ไม่ใช่คู่ความรายเดียวกัน จึงต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งใหม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2532
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183, 201
ในคดีที่ศาลกำหนดหน้าที่นำสืบให้จำเลยนำพยานเข้าสืบก่อนทุกประเด็น การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยนัดแรกโดยโจทก์ได้ทราบวันนัดโดยชอบแล้ว และมิได้แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบแต่ประการใด เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและดำเนินการสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนไปในวันเดียวกันนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้แจ้งให้ศาลทราบโดยปริยายว่าจำเลยได้ขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จึงชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 แล้ว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 776/2532
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 172 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225, 247, 248
แม้โจทก์เคยอ้างสัญญากู้ทั้งสองฉบับ ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นพยานในคดีที่จำเลยถูก ฟ้องฐาน เบิกความเท็จที่ศาลชั้นต้น และจำเลยไม่เคยโต้แย้งว่าไม่ได้กู้เงินโจทก์ทั้งไม่เคยปฏิเสธว่าลายมือชื่อของจำเลยเป็นลายมือชื่อปลอม แต่ จำเลยกระทำการดังกล่าวหลังจากที่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความไปแล้ว จึงไม่เป็นการรับสภาพต่อ เจ้าหนี้ อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 775/2532
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 438
การกระทำละเมิดต่อ ทรัพย์สินของผู้อื่น ผู้กระทำละเมิดจำต้องใช้ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ทำละเมิดนั้น เมื่อจำเลยกระทำละเมิดทำให้ตอม่อ สะพานของโจทก์เสียหาย จำเลยก็ต้อง ใช้ ค่าสินไหมทดแทนในการกระทำดังกล่าวเท่านั้น โจทก์จะให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการรื้อสะพานนั้นหาได้ไม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2532
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1120, 1121 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22, 119
การที่จะเรียกเงินค่าหุ้นซึ่ง ยังจะต้อง ส่งอีกในแต่ละคราวนั้นเป็นดุลพินิจ ของกรรมการที่จะเรียกจากผู้ถือหุ้นเมื่อใด เป็นจำนวนเท่าใด ก็ได้ ตราบเท่าที่บริษัทยังคงดำรง อยู่ หาใช่ว่าจะต้อง เรียกภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนตั้ง กรรมการบริษัทไม่แม้เมื่อเลิกบริษัท ผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้ เงินลงหุ้นอันเป็นส่วนที่ยังค้างชำระอยู่นั้นก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1265 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องของบริษัทจำเลยในการเรียกเงินค่าหุ้นซึ่ง ยังจะต้อง ส่งอีก จึงเกิดขึ้นในแต่ละคราวที่กรรมการส่งคำบอกกล่าวเรียกเงินค่าหุ้นนั้นและเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทจำเลยเด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจตาม พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 119 เรียกให้ผู้ร้องซึ่ง เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชำระเงินค่าหุ้นซึ่ง ยังจะต้อง ส่งอีกทั้งหมดได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 771 - 772/2532
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 2, 10 ทวิ
ผู้ขายในต่างประเทศตกลง ลดราคาขายรถยนต์ พิพาทให้โจทก์ หลังจากโจทก์สั่งซื้อ แล้วเพื่อเป็นการสนับสนุนการขายและเป็นการช่วยเหลือตลาดการขายให้มีผู้ซื้อมากขึ้น โดย คำนึงและหวังลดภาษีอากรขาเข้าให้ต่ำ ลง ทั้งคำนึงถึง การจำหน่ายเพื่อแข่งขันกับรถยนต์ ยี่ห้ออื่นในตลาด ราคาที่ลดลงเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวโดยเฉพาะ จึงไม่ใช่ราคารถยนต์ พิพาทที่แท้จริงในท้องตลาด เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าราคารถยนต์ พิพาทลดลงเพราะปัจจัยอื่น ตรงข้ามกลับปรากฏว่าในระหว่างพิพาทราคาขายของรถยนต์ ไม่มีการลดราคา มีแต่ แนวโน้มที่จะมีราคาสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลาแสดงว่าราคารถยนต์ พิพาทหาได้ ลดลงไม่หากมีการลดราคาระหว่างโจทก์กับบริษัทผู้ขายในต่างประเทศก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางการค้าเฉพาะ เรื่องเฉพาะ ราย หาใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ตาม ความหมายของมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ไม่ จำเลยถือ ราคารถยนต์ ตาม ราคาที่โจทก์เคยนำเข้าก่อนรถยนต์ รายพิพาทเพียง 2 เดือน เศษ และ 1 เดือน เศษตามลำดับ ซึ่ง โจทก์มิได้โต้แย้งราคาดังกล่าวเป็นราคาที่แท้จริงในท้องตลาดชอบด้วย พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 แล้ว.