กฎหมายครอบครัว: ความสำคัญและรายละเอียด
กฎหมายครอบครัว คืออะไร?
กฎหมายครอบครัวหมายถึงกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องครอบครัวและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา และบิดามารดากับบุตร
กฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายลักษณะครอบครัว เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องครอบครัวและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ซึ่งคำว่า “ครอบครัว” ตามกฎหมายนั้น หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา และบิดามารดากับบุตร โดยกฎหมายครอบครัวนั้นได้ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5
กฎหมายครอบครัวที่ควรทราบ
1.การหมั้น
การหมั้นตามกฎหมายครอบครัวนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา หรือผู้ปกครอง
การหมั้นตามกฎหมายครอบครัวนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ โดยหากปรากฏว่าการหมั้นนั้นไม่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวย่อมมีผลทำให้การหมั้นตกเป็นโมฆะ หรือถือเสมือนว่าไม่มีการหมั้นกันเลย (มาตรา 1435) นอกจากนี้หากปรากฏว่าชายหรือหญิงที่ทำการหมั้น ได้กระทำโดยที่ตนมีอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งยังถือว่าเป็นการหมั้นในขณะที่ตนเป็นผู้เยาว์นั้น การหมั้นของผู้เยาว์นั้นต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา, บิดาหรือมารดา(กรณีฝ่ายหนึ่งตาย ถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่ในสภาพที่จะให้ความยินยอมได้), ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง โดยหากผู้เยาว์ทำการหมั้นกันเองโดยไม่ได้รับความยินยอม ย่อมส่งผลให้การหมั้นตกเป็นโมฆียะและอาจถูกบอกล้างได้ (มาตรา 1436)
การหมั้นที่จะสมบูรณ์ตามกฎหมายนั้นต้องปรากฏว่าฝ่ายชายได้ส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงด้วย ส่วนสินสอดนั้นเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองของหญิง (มาตรา 1437)
อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องมีการหมั้นกันก่อนชายและหญิงจึงจะสมรสกันได้ ดังนั้น แม้จะไม่มีการหมั้นชายและหญิงก็ยังสามารถสมรสกันตามกฎหมายได้ หากแต่เมื่อมีการหมั้นแล้วต้องมีการส่งมอบของหมั้นแก่หญิงด้วย แต่ส่วนสินสอดนั้นแม้ไม่มีการส่งมอบต่อกันก็ไม่เป็นผลให้การหมั้นไม่สมบูรณ์
2.เงื่อนไขการสมรส
เงื่อนไขการสมรสคือชายและหญิงต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือไร้ความสามารถ รวมถึงต้องไม่มีคู่สมรสอยู่แล้ว
ชายและหญิงต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ แต่หากมีเหตุสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ (มาตรา 1448) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือไร้ความสามารถ (มาตรา 1449) คู่สมรสต้องไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตกัน (มาตรา 1450) คู่สมรสต้องไม่ได้มีฐานะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม (มาตรา 1451) แต่ข้อห้ามนี้ไม่ใช่ข้อห้ามเด็ดขาด หากมีการสมรสโดยฝ่าฝืนข้อนี้คงเป็นผลให้การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกไปเท่านั้น (มาตรา 1598/32) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องไม่มีคู่สมรสอยู่แล้ว (มาตรา 1452)
"จดทะเบียนสมรสซ้อนได้ไหม?" หาคำตอบได้ที่ลิงค์นี้ คลิกเลย !
3.ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา
สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน แต่หากไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้แยกกันอยู่ได้
โดยปกติแล้วสามีภริยานั้นต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน (มาตรา 1461) แต่หากสามีภริยาไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ หรือการอยู่ร่วมกันจะทำให้เป็นอันตราย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็อาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้แยกกันอยู่ก็ได้ (มาตรา 1462) และหากปรากฏว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกลายเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ อีกฝ่ายต้องเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ฝ่ายนั้นด้วย เว้นแต่ศาลจะตั้งผู้อื่นแทน (มาตรา 1463)
4.ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาจะแบ่งออกเป็นสินส่วนตัวและสินสมรส ซึ่งสินสมรสจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย
ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้นโดยหลักแล้วจะถูกแบ่งออกเป็นสินส่วนตัวกับสินสมรส ดังนี้
สินส่วนตัว (มาตรา 1471) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรสจะถือเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น หรือแม้แต่จะได้มาระหว่างสมรสแต่เป็นการได้มาโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หาก็ยังถือเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายที่ได้รับมา ส่วนของใช้ส่วนตัวของแต่ละฝ่ายก็ถือเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น เมื่อมีการหมั้นกัน ของหมั้นที่หญิงได้รับมาก็ถือเป็นสินส่วนตัวของหญิงนั้นเอง ซึ่งสินส่วนตัวนั้น แม้ว่าจะมีการขายเป็นเงิน แลกเปลี่ยน หรือซื้อทรัพย์สินอื่นมา ทรัพย์สินหรือเงินที่ได้มาก็ยังถือเป็นสินส่วนตัวเช่นเดิม หรือแม้จะถูกทำลายแล้วได้ของอื่นหรือเงินมาทดแทน ของที่ได้มาทดแทนนั้นก็ยังเป็นสินส่วนตัวอยู่เช่นกัน (มาตรา 1472)
สินสมรส (มาตรา 1474) ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส หรือได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้ และได้มีการระบุไว้ว่า “ให้เป็นสินสมรส” รวมถึงดอกผลของสินส่วนตัวด้วย เช่น สามีมีอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสินส่วนตัว และได้ปล่อยเช่าระหว่างที่สมรส ค่าเช่าที่ได้มานั้นถือเป็นดอกผล แม้จะเป็นดอกผลจากสินส่วนตัวของสามี ก็ต้องถือเป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยา เป็นต้น
สำหรับการจัดการสินสมรสนั้น โดยหลักแล้วสินสมรสสามีและภริยาถือว่ามีกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละครึ่ง การจัดการเกี่ยวกับสินสมรสนั้นจึงควรจัดการร่วมกัน อย่างไรก็ตามการจัดการทรัพย์สิน 8 ข้อ ดังต่อไปนี้ กฎหมายบังคับไว้ว่าให้จัดการร่วมกัน หรือหากฝ่ายใดจะจัดการลำพังก็ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายด้วย (มาตรา 1476)
- ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
- ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
- ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี
- ให้กู้ยืมเงิน
- ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
- ประนีประนอมยอมความ
- มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
- นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
หากปรากฏว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการสินสมรสข้างต้นไปโดยลำพังย่อมเป็นให้การจัดการสินสมรสนั้นไม่ผูกพันคู่สมรสอีกฝ่าย (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3544/2542) แต่หากไม่ใช่การจัดการสินสมรสทั้ง 8 ข้อดังที่กล่าวข้างต้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถจัดการไปโดยลำพังได้หรือไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย
5.การสมรสที่เป็นโมฆะ
การสมรสที่เป็นโมฆะจะถือเสมือนไม่ว่าไม่มีการสมรสกันเลย เช่น การสมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลวิกลจริต หรือการสมรสซ้อน
การสมรสที่เป็นโมฆะนั้น ย่อมถือเสมือนไม่ว่าไม่มีการสมรสกันเลย ซึ่งการสมรสที่จะมีผลเป็นโมฆะนั้นมีดังต่อไปนี้ (มาตรา 1495)
- การสมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตหรือไร้ความสามารถ
- การสมรสระหว่างญาติสืบสายโลหิต
- การสมรสที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีคู่สมรสอยู่แล้ว (สมรสซ้อน)
- การสมรสที่ชายหญิงไม่ได้ยินยอมเป็นสามีภริยากัน หรือไม่ได้แสดงความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน
6.การสิ้นสุดการสมรส
การสิ้นสุดการสมรสสามารถเกิดจากความตายของคู่สมรส การหย่าตามกฎหมาย หรือการที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส
การสิ้นสุดการสมรสนั้น ต้องเกิดจาก 3 เหตุดังต่อไปนี้
- ความตายของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
- การหย่า โดยต้องจดทะเบียนหย่าตามกฎหมาย (มาตรา 1515)
- ศาลพิพากษาให้เพิกถอน เช่น การสมรสอันเป็นโมฆียะเพราะเหตุสำคัญผิดตัวคู่สมรส (มาตรา 1505) สมรสโดยถูกกลฉ้อฉล (มาตรา 1506) สมรสโดยถูกข่มขู่ (มาตรา 1507) เป็นต้น
รวมคำปรึกษาที่เกี่ยวกับเรื่อง "กฎหมายครอบครัว" พร้อมคำตอบจากทนายความ คลิกเลย !
กฎหมายครอบครัวเกี่ยวกับบิดามารดากับบุตร
1.ความเป็นบิดามารดาของบุตร
เด็กจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอไม่ว่าบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกันหรือไม่
โดยปกติแล้วเด็กจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอไม่ว่าบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ (มาตรา 1546) แต่หากบิดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา เด็กจะไม่ถือเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา ซึ่งเด็กนั้นจะกลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ต่อเมื่อบิดามารดาได้มาจดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา (มาตรา 1547)
2.สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดากับบุตร
บุตรมีสิทธิใช้นามสกุลของบิดา และมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ขณะที่บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรและให้การศึกษาตามสมควร
- บุตรมีสิทธิใช้นามสกุลของบิดา แต่ในกรณีที่ไม่ปรากฏบิดา บุตรมีสิทธิใช้นามสกุลของมารดา (มาตรา 1561)
- บุตรมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (มาตรา 1563) และบิดามารดาก็มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร และให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ (มาตรา 1564)
- บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์) ต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา (มาตรา 1566) ซึ่งบิดามารดาที่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรนั้นมีสิทธิที่จะกำหนดถิ่นที่อยู่ของบุตร ทำโทษบุตรตามสมควร ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถ และเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นที่กักบุตรไว้โดยไม่ชอบ (มาตรา 1567)
- บิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำนิติกรรมที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาต ซึ่งนิติกรรมที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องขออนุญาตนั้นได้ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 1574 อาทิเช่น การขายอสังหาริมทรัพย์ของบุตรผู้เยาว์ การให้ผู้อื่นเช่าอสังหาริมทรัพย์ของบุตรผู้เยาว์เกิน 3 ปี การให้กู้ยืมเงิน การให้ทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยเสน่หา เป็นต้น
3.ความปกครอง
ผู้เยาว์จะอยู่ในความปกครองของบิดามารดา แต่หากไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง สามารถให้ผู้อื่นเป็นผู้ปกครองได้
โดยปกติแล้วผู้เยาว์จะอยู่ในความปกครองของบิดามารดา แต่หากปรากฏเหตุว่าผู้เยาว์นั้น ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง ก็อาจจะให้มีผู้อื่นเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์นั้นได้ (มาตรา 1585) ซึ่งการแต่งตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองของผู้เยาว์จะกระทำได้โดยมีคำสั่งศาลแต่งตั้ง โดยมีการร้องขอจากญาติของผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายที่หลังระบุไว้ (มาตรา 1586)
ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองจะมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ใช้อำนาจปกครอง ได้แก่ หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ (มาตรา 1564) สิทธิที่จะกำหนดถิ่นที่อยู่ของผู้เยาว์ ทำโทษผู้เยาว์ตามสมควร ให้ผู้เยาว์ทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถ และเรียกผู้เยาว์คืนจากบุคคลอื่นที่กักบุตรไว้โดยไม่ชอบ (มาตรา 1567)
4.สำหรับบุคคลอื่นที่จะสามารถเป็นผู้ปกครองของผู้เยาว์นั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 1587 ดังนี้
- บรรลุนิติภาวะ
- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
- ไม่เป็นผู้ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์
- ไม่มีเลยเคยมีคดีกับผู้เยาว์ ผู้บุพการี พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาของผู้เยาว์
- ไม่เป็นผู้ที่บิดาหรือมารดาระบุห้ามไว้
5.บุตรบุญธรรม
ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ และต้องมีอายุมากกว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
บุคคลที่จะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ และต้องมีอายุมากกว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี (มาตรา 1598/19) โดยผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นต้องให้ความยินยอมด้วย (มาตรา 1598/20) นอกจากนั้น หากผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมยังเป็นผู้เยาว์ การรับบุตรบุญธรรมนั้นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของผู้เยาว์ด้วย (มาตรา 1598/21)
เมื่อมีการแต่งตั้งบุตรบุญธรรมแล้ว บุตรบุญธรรมจะมีฐานะเช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม (มาตรา 1598/28) เช่น การได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากผู้รับบุตรบุญธรรม สิทธิในการรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในฐานะเป็นผู้สืบสันดาน เป็นต้น
รวมบทความทางกฎหมาย, คำปรึกษาและคำตอบจากทนายความ, กฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่อง "กฎหมายครอบครัว" คลิกเลย !
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองและครอบครัว
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองและครอบครัวนอกจากกฎหมายครอบครัวยังรวมถึงกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง และกฎหมายแรงงาน
นอกจากกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของครอบครัวแล้ว ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในครอบครัวซึ่งควรทราบเพื่อให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปตามกฎหมาย เช่น
- กฎหมายอาญา: เพื่อให้เข้าใจถึงความผิดทางอาญาที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัว เช่น การทำร้ายร่างกาย การลักทรัพย์
- กฎหมายแพ่ง: เพื่อให้ทราบถึงสิทธิและหน้าที่ทางแพ่ง เช่น การกู้ยืมเงิน การจำนองทรัพย์สิน
- กฎหมายแรงงาน: เพื่อให้ทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้เป็นนายจ้างในครอบครัว เช่น การจ่ายค่าจ้าง การเลิกจ้างงาน
สรุป
ครอบครัวเปรียบเสมือนรากฐานทางสังคม ซึ่งบุคคลทุกคนต้องอยู่ในฐานะหนึ่งฐานะใดในสถาบันครอบครัวไม่ว่าจะเป็นสามี ภริยา บิดา มารดา หรือบุตร กฎหมายครอบครัวจึงถือเป็นกฎหมายที่ใกล้ตัวที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภริยา และบิดามารดากับบุตร ซึ่งทนายแนะนำว่าควรทำความเข้าใจและควรทราบ เพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ ภายในครอบครัวเป็นไปตามกฎหมายและไม่เกิดข้อพิพาทกันในภายหลัง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทางด้านกฎหมาย อย่ารอช้าที่จะปรึกษาทนายความผ่าน Legardy ปรึกษาได้ตลอด 24ชั่วโมง !
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



