เจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง: ความหมาย ประเภท ผลทางกฎหมาย และตัวอย่างคดีสำคัญ
นิติกรรมคืออะไร
นิติกรรมคือการทำข้อตกลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยความสมัครใจ เพื่อผูกพันในทางกฎหมายระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เช่น การซื้อขายข้าวเปลือกระหว่างนิวและจิ๋ว
นิติกรรมนั้นมีความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 ว่า ”นิติกรรม หมายความว่า การใดๆอันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ“
คำว่านิติกรรมคือการก่อให้เกิดความผูกพันในทางกฎหมายระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปด้วยความสมัครใจ โดยบุคคลทั้งสองฝ่ายต่างต้องรับรู้การแสดงเจตนาของอีกฝ่ายด้วย
ตัวอย่างประกอบที่เกี่ยวกับนิติกรรม เช่น นิวเป็นพ่อค้าขายข้าวเปลือก จิ๋วสนใจจะซื้อข้าวเปลือกของนิว จิ๋วจึงเสนอให้นิวขนส่งข้าวเปลือก 10 กระสอบให้แก่ตนจึงเกิดนิติสัมพันธ์ในการทำนิติกรรมกล่าวคือ นิวเป็นผู้ขายต้องส่งมอบข้าวเปลือกให้ครบจำนวนให้จิ๋ว ส่วนจิ๋วผู้ซื้อต้องชำระราคาข้าวเปลือก เมื่อทั้งสองฝ่ายรับรู้การแสดงเจตนาของอีกฝ่ายแล้ว นิติกรรมการซื้อขายก็การเกิดขึ้น
ประเภทของนิติกรรม
แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
- นิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์-ใช้บังคับได้ระหว่างคู่สัญญาที่ทำนิติกรรม
- นิติกรรมที่เป็นโมฆะ คือ นิติกรรมที่สูญเปล่าไม่มีผลใช้บังคับได้ เสมือนหนึ่งว่าคู่สัญญาไม่เคยทำนิติกรรมใดๆต่อกันเลย
- นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ คือ เป็นนิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์จนกว่าจะถูกบอกล้างคือ นิติกรรมที่มีผลใช้บังคับได้แต่ยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วนนั่นเอง
ตัวอย่างของนิติกรรมที่เป็นโมฆะ
- นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เช่น สัญญาจ้างฆ่าคน, ซื้อขายยาเสพติด, ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น สัญญากู้ยืมเงินที่คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี และนิติกรรมที่พ้นวิสัยก่อนหรือขณะทำนิติกรรม คือ ทำสิ่งใดๆที่ไม่มีใครสามารถทำได้เลย นิติกรรมตามข้อ 1. ถูกบัญญัติในมาตรา 150
- นิติกรรมที่ทำไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 152)
- การแสดงเจตนาซ่อนเร้นโดยคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ถึงเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายในใจของอีกฝ่าย (มาตรา 154)
- การแสดงเจตนาลวง (มาตรา 155) หมายถึง การสมรู้ระหว่างคู่กรณีที่แสดงนิติกรรมใดๆออกมาแต่ไม่ต้องการให้ผูกพันกันจริงๆ
- การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในบุคคลหรือทรัพย์สินอันเป็นสาระสำคัญในการทำนิติกรรม (มาตรา 156) คือ ทำนิติกรรมผิดคน ผิดตัว ผิดชิ้น ผิดอัน เป็นต้น
แบบของนิติกรรมมีอะไรบ้าง?
แบบของนิติกรรมคือ แบบที่กฎหมายกำหนดบังคับให้คู่สัญญาต้องทำตามถึงจะเกิดเป็นนิติกรรมสัญญาขึ้น หากไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดนิติกรรมจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา 152 ซึ่งนิติกรรมสัญญาตามกฎหมายแบ่งออกเป็น 4 ประเภทดังนี้
- ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้แก่ ซื้อขาย (มาตรา 456 วรรคหนึ่ง) ขายฝาก (มาตรา 491) แลกเปลี่ยน (มาตรา 519) ให้ (มาตรา 525) และจำนอง (มาตรา 714) ทรัพย์ตามแบบในข้อ 1.นี้ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษ ไม่รวมสังหาริมทรัพย์ทั่วไป
- ต้องทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง (มาตรา 1658) พินัยเอกสารแบบลับ (มาตรา 1660) เป็นต้น
- ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด (มาตรา 1078) การจดทะเบียนบริษัทจำกัด (มาตรา 1111) การจดทะเบียนสมรส (มาตรา 1457) การจดทะเบียนหย่า (มาตรา 1515) ซึ่งแบบตามข้อ 3.นี้จะเกี่ยวกับเรื่องในครอบครัวและการจดทะเบียนนิติบุคคล
- ต้องทำเป็นหนังสือ เช่น หนังสือรับสภาพหนี้ (มาตรา 193/14) โอนหนี้ (มาตรา 306) เช่าซื้อ (มาตรา 572) เป็นต้น
นอกจากนิติกรรม 4 ประเภทนี้แล้ว ยังมีนิติกรรมที่ต้องมีหลักฐานลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญกล่าวคือ นิติกรรมประเภทนี้ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ นิติกรรมยังคงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะเพราะกฎหมายไม่ได้บังคับเรื่องแบบ เพียงแต่จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ เช่น สัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ (มาตรา 456 วรรคสอง), การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาท (มาตรา 653), สัญญาค้ำประกัน (มาตรา 680 วรรคสอง) เป็นต้น
เจตนาซ่อนเร้น
คือการแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น
ตามมาตรา 154 บัญญัติว่า ”การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น“ หมายความว่า การแสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยผู้แสดงออกไม่ต้องการให้ตนผูกพันตามนิติกรรมที่ได้แสดงออกมา ซึ่งการแสดงเจตนาจะมีผลสมบูรณ์เว้นแต่อีกฝ่ายจะล่วงรู้ว่า เค้าไม่ได้ประสงค์จะแสดงเจตนานั้นออกมาจริงๆ เช่น เอกับบีเป็นแฟนกันไปนั่งทานที่ร้านอาหาร บีเรื่องมากไม่ยอมสั่งอะไรทาน เอจึงตัดความรำคาญว่างั้นก็สั่งแกงส้มละกัน บ๋อยได้ยินจึงเข้าใจว่าเอสั่งแกงส้มจริงๆได้นำแกงส้มมาเสิร์ฟเอกับบี ซึ่งเอต้องผูกพันตามที่แสดงคือต้องชำระค่าแกงส้มแม้ตนไม่ต้องการให้ผูกพัน เพราะบ๋อยผู้รับการแสดงเจตนาของเอไม่รู้ แต่การแสดงเจตนาสั่งแกงส้มมาจะเป็นโมฆะเมื่อบ๋อยรู้ว่าเอไม่ต้องการจะสั่งแกงส้มมาทานจริงๆ
รวมบทความ, คำปรึกษาพร้อมคำตอบจากทนายความเรื่อง "นิติกรรมอำพราง" คลิกได้ที่นี่ !
การแสดงเจตนาลวงกับนิติกรรมอำพรางต่างกันอย่างไร
การแสดงเจตนาลวงคือ การแสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่ไม่ได้ตั้งใจให้มีผลผูกพันจริงๆ และนิติกรรมอำพรางคือนิติกรรมที่ถูกปกปิดไว้แต่มีเจตนาจะผูกพันจริงๆ
ซึ่งตามมาตรา 155 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ”การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้“ กล่าวคือ การแสดงเจตนาลวงคือ การที่คู่กรณีอย่างน้อยการแสดงเจตนาลวงคือ การที่คู่กรณีอย่างน้อย 2 คนแสดงเจตนาทำนิติกรรมกันขึ้นมาหลอกๆ แกล้งสมยอมทำกันเอง โดยทั้งคู่ไม่ได้ตั้งใจให้ตนผูกพันตามนิติกรรมที่ได้กระทำจริงๆ แต่การแสดงเจตนาลวงจะเกิดขึ้นได้ต้องมีนิติกรรม 2 นิติกรรมที่กระทำโดยคู่กรณีคู่หนึ่ง โดยนิติกรรมอย่างแรก คือ นิติกรรมที่แสดงโดยเปิดเผย - ทั้งคู่แสดงออกมาไม่ประสงค์ให้ผูกพันกัน แกล้งทำขึ้นหลอกๆ ตกเป็นโมฆะทันที และนิติกรรมที่ปิดบัง (ที่ถูกอำพราง) ซึ่งเป็นนิติกรรมที่คู่กรณีทั้งคู่ตั้งใจกันจริงๆว่าจะทำให้มีผลผูกพันระหว่างกันเองโดยไม่เปิดเผย ต้องพิจารณากันต่อไปว่านิติกรรมที่ถูกอำพรางมีผลสมบูรณ์หรือไม่?
ความหมายของนิติกรรมอำพราง
ถ้าการแสดงเจตนาลวงทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ
ตามมาตรา 155 วรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่นให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ”
ส่วนบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองจากการแสดงเจตนาลวงต้องสุจริตและเสียหายจากการแสดงเจตนานั้น ซึ่งคำว่าเสียหายไม่ได้จำกัดแค่เสียค่าตอบแทนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าเสียหายอื่นในทรัพย์ที่รับโอนด้วย ตัวอย่างเช่น ก.และข.แสดงเจตนาลวงโอนรถยนต์ให้ ข.เพื่อหนีหนี้ ต่อมา ข.ขายรถให้ ค.บุคคลภายนอก ค.รับซื้อรถจาก ข.แล้วนำไปแต่งสีรถใหม่เรียบร้อยถือว่า ค.เสียหายเพราะเสียค่าซื้อรถและค่าทำสีรถใหม่ย่อมได้รับความคุ้มครองแล้ว ก.กับ ข.จะฟ้องร้องเรียกรถคืนไม่ได้
"เกร็ดความรู้กับ Legardy : แต่งรถอย่างไรให้ถูกกฎหมาย อ่านได้ที่นี่ คลิกเลย!"
ตัวอย่างฎีกาที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนิติกรรมอำพรางและเจตนาซ่อนเร้น
ฎีกาที่ 8333/2560
ภายหลังจำเลยกับ ส.จดทะเบียนหย่ากัน จำเลยกับส.ยังคงอยู่กินกันที่บ้านพักเดียวกัน แสดงว่าการจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส.กระทำโดยมีเจตนาไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้นจึงเป็นโมฆะ ใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 155 วรรคหนึ่ง เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสคงมีอยู่มีผลให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ ส.ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของส.มิได้ ประกอบกับ โจทก์มิใช่บุคคลภายนอกจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ฎีกาที่ 4686/2552
สัญญาขายฝากที่ดินที่เป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยจะให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินตามราคาขายฝากที่ดินที่เป็นต้นเงินกู้ไม่ได้ แต่บังคับตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยมีเจตนาจะผูกพันในนิติกรรมกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางตามมาตรา 155 วรรคสอง
แม้ตามปกติคู่กรณีในการแสดงเจตนาลวงและนิติกรรมอำพรางจะเป็นคู่กรณีเดียวกันแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้น 2 นิติกรรม แต่ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันก็ถือเป็นคู่กรณีฝ่ายเดียวกันได้ เช่น ฎีกาที่ 10834/2556 แม้คู่กรณีในนิติกรรมอำพรางจะต้องมีคู่เดียวก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์เป็นสามีของอ.ผู้กู้ ทั้งยังเป็นผู้ค้ำประกัน ในสัญญากู้เงิน โจทก์มีความประสงค์ต้องการใช้เงินแสดงว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในเงินกู้ดังกล่าวด้วย การที่โจทก์และ อ.ทำนิติกรรมดังกล่าวจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันและถือได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน ดังนี้ แม้คู่กรณีในนิติกรรมขายฝากจะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเป็นนิติกรรมระหว่าง อ.กับจำเลย ก็ถือได้ว่าคู่กรณีในนิติกรรมทั้งสองนิติกรรมนั้นเป็นคู่กรณีเดียวกัน ฟังได้ว่า นิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญาเงินกู้ตามมาตรา 155 วรรคสอง
สรุป
สองนิติกรรมที่มีคู่กรณีคนละคนแต่มีผลประโยชน์ร่วมกันเท่ากับว่ามีส่วนได้เสีย ถือเป็นฝ่ายเดียวกัน กรณีต่อไปนี้ไม่ใช่แสดงเจตนาลวง ได้แก่ การที่คู่กรณีเปลี่ยนเจตนาไปทำนิติกรรมอย่างอื่น เช่น แต่เดิม ก.ตั้งใจจะทำสัญญายืมรถยนต์ของ ข. แต่ต่อมา ก.เปลี่ยนใจทำเป็นสัญญาเช่ารถแทนก็เป็นกรณีที่คู่กรณีทั้ง ก.กับ ข.สมัครใจเปลี่ยนการแสดงเจตนาจากนิติกรรมหนึ่งเป็นอีกนิติกรรมหนึ่ง ไม่ใช่การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างกัน ดังนั้น สัญญาเช่ารถมีผลใช้บังคับกันได้ไม่ตกเป็นโมฆะ หากยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับนิติกรรม สามารถปรึกษาทนายฟรีได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่ Legardy หรือกดที่ลิงค์นี้ได้เลยครับ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



