คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104 - 2105/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

การที่จำเลยตกลงจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างต่อไปเป็นรายปีหลังจากมีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์ออกจากหน้าที่เพราะเกษียณอายุตามกฎหมายแล้วนั้น มิใช่เป็นการขยายกำหนดเวลาการทำงานของโจทก์ออกต่อไปหากแต่เป็นการตกลงทำสัญญาจ้างกันใหม่ จึงเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนดังนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างและโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยเนื่องจากถูกจำเลยเลิกจ้างตามสัญญาใหม่นี้จำเลยจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 226

ลำพังแต่คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันเพียงอย่างเดียวนั้นไม่มีน้ำหนักให้รับฟังลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2098

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2098/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 309 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1207, 1213, 1215, 1216

การที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเข้าไปตรวจดูเอกสารต่างๆของบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1207 นั้นหมายถึงให้เข้าไปตรวจดูเอกสารเกี่ยวกับการจดบันทึกรายงานการประชุมและข้อมติทั้งหมดเท่านั้นไม่ได้หมายถึงให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิตรวจบัญชีของบริษัทหรือมีสิทธิเข้าตรวจกิจการของบริษัทแต่อย่างใดผู้ถือหุ้นจึงมิอาจเข้าไปในบริษัทเพื่อตรวจสอบบัญชีและตรวจกิจการโดยลำพังได้ดังนั้นเมื่อคนยามเฝ้าประตูไม่ยอมให้ผู้ถือหุ้นเข้าไปในบริษัทตามคำสั่งของกรรมการผู้จัดการโดยมิได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ถือหุ้นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายเสรีภาพชื่อเสียงหรือทรัพย์สินอันเป็นการข่มขืนใจผู้ถือหุ้นกรรมการผู้จัดการจึงหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2093

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2093/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 213, 227

เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ในชั้นศาลฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิด และคงเหลือแต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในชั้นสอบสวนเท่านั้นจึงรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้

เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อว่าพยานโจทก์ที่มีอยู่ 2 ปากจะจำคนร้ายได้ ข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยดังกล่าวจึงอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2092

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2092/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 264, 266 (4), 268

โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่าจำเลยนำหนังสือเดินทางปลอมและเช็คเดินทางปลอมไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาราชเทวีในคราวเดียวกัน เพื่อขอแลกเงินตามเช็คเดินทางปลอมนั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2088

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2088/2525

พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 7, 50 (4) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 116

ไม้แปรรูปซึ่งแปรรูปจากไม้ซึ่งขึ้นในที่ดินของจำเลยและไม่ใช่ไม้สักหรือไม้ยาง ทั้งมิได้ขึ้นอยู่ในป่าจึงไม่เป็นไม้หวงห้ามจำเลยมีไม้แปรรูปดังกล่าวไว้ในครอบครอง จึงไม่มีความผิดฐานมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2084

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2084/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1300

การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนต้องเสียเปรียบ การโอนดังกล่าวจึงอาจถูกเพิกถอนได้ เว้นแต่จะเป็นการโอนอันมีค่าตอบแทนซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริต กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่กรณีเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172, 183 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ม. 10 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 52

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ที่จำเลยรับจะจัดการขออนุญาตทำงานให้แก่โจทก์ลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าว เป็นเพียงแต่จำเลยรับจะเป็นผู้ไปดำเนินการติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตของโจทก์เท่านั้นเป็นคนละเรื่องกับการเป็นผู้ขออนุญาตนั้นไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 10

โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างอันเนื่องมาจากความผิดของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยต้องร่วมกันรับผิดจ่ายเงินเดือนและค่าครองชีพให้แก่โจทก์ถือได้ว่าโจทก์ประสงค์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนและค่าครองชีพนั่นเองที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จึงหาเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2076

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2076/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5)

คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า คดีที่จำเลยเบิกความมีข้อพิพาท ประเด็น และข้อความที่เป็นเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไรจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5)แม้โจทก์จะได้บรรยายเลขสำนวนคดีที่จำเลยเบิกความมาในฟ้อง และต่อมาได้ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างคำเบิกความของจำเลยกับคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานและขอให้ศาลเรียกมาจนศาลชั้นต้นได้เรียกสำนวนนั้นมาผูกติดสำนวนคดีนี้ไว้แล้วก็ตาม ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่ปรากฏในสำนวนคดีนั้นก็หาใช่ส่วนหนึ่งของคำฟ้องของโจทก์ไม่จะนำมาประกอบคำฟ้องของโจทก์ให้สมบูรณ์ขึ้นมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2525

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 4 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เป็นบทกฎหมายที่กำหนดการคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้างเพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปโดยเหมาะสมเป็นกฎหมายคนละส่วนกับพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์รวมทั้งวิธีการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เป็นไปด้วยวิธีปรองดองและเป็นธรรม ดังนั้นการจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ จึงมิใช่กิจการที่ได้รับยกเว้นมิให้ใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์บังคับเช่นเดียวกับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

« »
ติดต่อเราทาง LINE