คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2032/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 89, 95
พยานที่โจทก์อ้างมาเองเป็นสมุห์บัญชีธนาคารเบิกความเกี่ยวกับงานในหน้าที่ที่พยานปฏิบัติอยู่ แม้จะไม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ก็ไม่มีข้อต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังคำเบิกความของพยานดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 แต่อย่างใด
ในคดีอาญา จำเลยมีอำนาจนำพยานเข้าสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้โดยไม่จำต้องซักค้านพยานโจทก์ในข้อเท็จจริงที่จำเลยจะนำสืบพยานต่อไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2018/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 114, 850 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ม. , ,
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงาน ซึ่งออกตามอำนาจตามความในข้อ 2 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 หมวด 5 กำหนดอัตราค่าชดเชยซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างประจำที่เลิกจ้าง และประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวข้อ 13 วรรคสองระบุว่า'ผู้ใดมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ค่าจ้างหรือเงินอื่นจากนายจ้างตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 13ตุลาคม 2501 ให้คงรับต่อไป' ดังนั้นการที่โจทก์ในฐานะลูกจ้างและจำเลยในฐานะนายจ้างได้ตกลงกำหนดจำนวนเงินค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวนหนึ่งโดยโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดจากจำเลยอันหมายถึงเงินค่าชดเชยและเงินค่าครองชีพนั้นย่อมถือได้ว่าเป็นการตกลงที่ผิดแผกแตกต่างกับบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้น เพื่อยังให้เกิดความเป็นธรรมและความสงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองอันถือเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าว ซึ่งมีการตกลงผิดแผกแตกต่างจากบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 114
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 609, 615, 618, 622, 624
ผู้ขายสินค้าในต่างประเทศว่าจ้างบริษัท ฟ.และบริษัทว. ซึ่งเป็นบริษัทอยู่ในต่างประเทศ ทำการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศมาให้ผู้ซื้อในประเทศไทย บริษัท ฟ.และบริษัท ว. ไม่มีสาขาในประเทศไทย จึงว่าจ้างจำเลยทำการขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลมาที่หน้าการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำเลยเป็นผู้ติดต่อกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยขออนุญาตนำเรือเข้าจอดเทียบท่าและจัดการหาคนหรือเครื่องมือขนถ่ายสินค้าออกจากเรือเดินทะเลนำไปที่หน้าท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยมีหน้าที่ลงแจ้งความในหนังสือพิมพ์ให้ผู้รับตราส่งทราบและผู้รับตราส่งต้องนำใบตราส่งมาแลกกับใบปล่อยสินค้าซึ่งจำเลยเป็นผู้ออก เพื่อนำไปรับสินค้าจากคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย การดำเนินการของจำเลยดังกล่าวมีลักษณะร่วมกันขนส่งสินค้ากับบริษัท ฟ.และบริษัทว. และเป็นการขนส่งหลายทอดโดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย จำเลยจึงต้องรับผิดในการสูญหายหรือบุบสลายของสินค้าที่ขนส่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618
ปัจจุบันกฎหมายและกฎข้อบังคับของประเทศไทยว่าด้วยการรับขนของทางทะเลยังไม่มี การฟ้องให้ผู้ขนส่งรับผิดในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายจึงมีอายุความ 10ปี นับแต่ผู้รับตราส่งได้รับสินค้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2059/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 118
จำเลยทำสัญญากู้ให้โจทก์ก็เพื่อเอาใจโจทก์ เพราะขณะนั้นจำเลยถูกฟ้องคดีอาญา ต้องการจะเอาบุตรซึ่งเกิดจากสามีของโจทก์คนก่อนมาเป็นพยานให้จำเลยในคดีที่ถูกฟ้อง และเกรงว่าโจทก์จะร้องเรียนผู้บังคับบัญชาทางวินัย เพราะจำเลยมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนที่จะได้โจทก์เป็นภรรยา ส่วนทางโจทก์ก็ประสงค์จะใช้สัญญากู้เป็นข้อต่อรองให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับภรรยาคนเดิมแล้วจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ โดยมิได้มีการรับเงินกันตามสัญญากู้จริงดังนี้ สัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาทำขึ้นโดย เจตนาลวงไม่ประสงค์จะผูกพันกัน จึงใช้บังคับไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2056/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 6, 118, 321, 650
การนำเช็คไปแลกเงินสดและทำสัญญากู้ไว้โดยมีข้อตกลงว่าถ้าเช็คขึ้นเงินไม่ได้จะต้องชำระเงินตามสัญญากู้หรือการกู้เงินโดยทำหนังสือสัญญากู้เป็นหลักฐานและมอบเช็คลงวันที่ล่วงหน้าเพื่อให้ผู้กู้นำไปขึ้นเงินเมื่อหนี้ถึงกำหนดหามีผลแตกต่างกันไม่
จำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินโจทก์และมอบเช็คซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้สั่งจ่ายให้โจทก์ยึดถือไว้ จำนวนเงินในเช็คตรงกับจำนวนเงินในสัญญากู้วันสั่งจ่ายตามเช็คก็ตรงกับวันที่จำเลยต้องชำระเงินตามสัญญากู้ในสัญญากู้ระบุไว้ด้วยว่าจำเลยได้มอบเช็คที่บุคคลอื่นเป็นผู้สั่งจ่ายจำเลยเป็นผู้สลักหลังเพื่อให้โจทก์นำไปขึ้นเงินชำระหนี้เงินกู้เมื่อถึงกำหนดทั้งนี้จำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์จำนวนหนึ่งโดยโจทก์ คิดหักผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าดังนี้มิใช่เป็นเรื่องนิติกรรมอำพรางสัญญากู้หาตกเป็นโมฆะไม่เมื่อโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ จำเลยก็ต้องผูกพันชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญากู้
การที่โจทก์ฟ้องจำเลยตามข้อตกลงในสัญญากู้ที่ว่า ถ้าโจทก์ นำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้จำเลยทั้งสองจะต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้นั้นหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2053/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ม. 30 ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ.2515 ม. ,
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 มาตรา 30มิได้กำหนดให้การเลือกตั้งกำนันเป็นอำนาจสิทธิขาดของนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อการเลือกตั้งมิได้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยผู้หนึ่งถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายแพ่งผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะใช้สิทธิทางศาลร้องขอให้สั่งว่าการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการมิชอบ และขอให้ศาลสั่งให้จัดให้มีการเลือกตั้งกำนันใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านพ.ศ. 2515 ข้อ 17 กำหนดไว้ว่า บัตรเลือกตั้งซึ่งมิใช่ คณะกรรมการเลือกตั้งจัดทำขึ้นให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย จึงมีความหมายรวมถึงบัตรปลอมด้วย และถือได้ว่าบัตรปลอมเป็นบัตรเลือกตั้งฉะนั้นเมื่อการตรวจนับคะแนนปรากฏว่ามีบัตรเลือกตั้งเกินกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแม้จะมีบัตรปลอมรวมอยู่ด้วย คณะกรรมการเลือกตั้งก็ต้องจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ทันทีตามข้อ 16 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2002/2525
พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 29, 70 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการได้มาอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ของผู้ได้มาซึ่งไม้หรือของป่าที่เป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดตามมาตรา 70 ย่อมเป็นองค์ประกอบความผิดที่โจทก์ต้องบรรยายมาในฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจรับถ่านไม้ 6 กระสอบปริมาตร 0.75 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นของป่าหวงห้ามโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของป่าที่มีผู้ได้มาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้เสียค่าภาคหลวง และจำเลยช่วยพาเอาไปเสียให้พ้นซึ่งถ่านไม้จำนวนดังกล่าว โจทก์มิได้บรรยายว่าผู้ที่ได้ถ่านไม้มาได้เก็บหาของป่าหรือทำอันตรายด้วยประการใด ๆ แก่ของป่าหวงห้ามในป่า อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 29 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว เมื่อตามฟ้องไม่ปรากฏว่าผู้ได้ถ่านไม้มา.ได้ถ่านไม้นั้นมาโดยการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 29 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้รับและช่วยพาเอาไปเสียให้พ้นซึ่งถ่านไม้ดังกล่าวก็ไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการฟ้องโจทก์บรรยายไม่ครบถ้วน แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ต้องยกฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1338/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 18 พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ม. 20 พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2502 ม. 3
โจทก์จำเลยทำข้อตกลงกันเป็นหนังสือมีความหมายว่า จำเลยตกลงเพิ่มค่าจ้างเงินเดือนให้พนักงานคนละ 2 ขั้นผู้แทนของจำเลยจะนำข้อตกลงเสนอต่อคณะกรรมการของจำเลยต่อไป ดังนี้ การที่จำเลยนำสืบว่า ข้อตกลงมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะปฏิบัติตามเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงมิใช่การแปลความหมายของข้อความในหนังสือข้อตกลง แต่เป็นการอ้างว่ายังมีข้อความอื่นเพิ่มเติมข้อความในหนังสือนั้นอยู่อีก ต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจและโจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติห้ามไม่ให้รัฐวิสาหกิจใดปรับปรุงอัตราค่าจ้าง เงินเดือนเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ การที่โจทก์จำเลยตกลงกันปรับปรุงอัตราค่าจ้างและเงินเดือน โดยไม่ได้กำหนดให้ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน จึงเป็นการฝ่าฝืนมติของคณะรัฐมนตรี ไม่มีผลบังคับ และแม้ความตกลงดังกล่าวได้ดำเนินการตามขั้นตอนมาโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ก็ไม่เป็นเหตุให้กลับกลายเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2048/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 172, 192
การรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 นั้น ต้องกระทำกันขึ้นก่อนที่กำหนดอายุความนั้นจะสิ้นสุดลง ส่วนการรับสภาพหนี้ที่กระทำหลังจากอายุความสิ้นสุดลงแล้วนั้นถือว่าลูกหนี้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้วตามมาตรา 192 จะยกเอาอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้อีกไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2046/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 165
ในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ ก่อนศาลประทับฟ้อง จำเลยยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความ การที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งใหม่ ตามรูปคดีเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์