คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172, 183 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ม. 10 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 52
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ที่จำเลยรับจะจัดการขออนุญาตทำงานให้แก่โจทก์ลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าว เป็นเพียงแต่จำเลยรับจะเป็นผู้ไปดำเนินการติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตของโจทก์เท่านั้นเป็นคนละเรื่องกับการเป็นผู้ขออนุญาตนั้นไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 10
โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างอันเนื่องมาจากความผิดของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยต้องร่วมกันรับผิดจ่ายเงินเดือนและค่าครองชีพให้แก่โจทก์ถือได้ว่าโจทก์ประสงค์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนและค่าครองชีพนั่นเองที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จึงหาเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้จ้างโจทก์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายอาหารโจทก์ทำงานให้จำเลยแล้ว จำเลยไม่จ่ายเงินเดือนและค่าครองชีพให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยชำระเงินเดือนและค่าครองชีพประจำเดือนมิถุนายน 2524 ถึงเดือนกันยายน 2524 เดือนละ 55,000 บาท และชำระให้แก่โจทก์ต่อไปทุกสิ้นเดือนจนถึงเดือนพฤษภาคม 2527
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทดลองทำงานเพราะโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวหลอกลวงว่าโจทก์มีใบอนุญาตให้ทำงานได้ ต่อมาโจทก์ไม่มาทำงานเพราะหลบหนีเจ้าหน้าที่กรมแรงงานเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำงานกับจำเลยโจทก์ขาดงานเกิน 3 วัน เกียจคร้านและไม่แสดงใบรับรองแพทย์ตามเงื่อนไขสัญญาจ้าง จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้าง 20,166.66 บาท และค่าเสียหาย 88,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะขอใบอนุญาตทำงานให้แก่โจทก์เป็นข้อวินิจฉัยที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 มาตรา 10 นั้นเห็นว่าศาลแรงงานกลางเพียงแต่วินิจฉัยว่า ในการที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างโจทก์นั้นจำเลยรับที่จะจัดการขออนุญาตทำงานให้แก่โจทก์ ซึ่งการจัดการขออนุญาตนี้เป็นเพียงแต่จำเลยรับจะเป็นผู้ไปดำเนินการติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตของโจทก์เท่านั้น เป็นคนละเรื่องกับการเป็นผู้ขออนุญาต หรืออีกนัยหนึ่งคือการลงชื่อเป็นผู้ขออนุญาตตามบทบัญญัติ มาตรา 10 ดังกล่าว คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ. 2521 แต่อย่างใด
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นการตัดสินนอกประเด็นแห่งคดีและเกินคำขอเป็นการไม่ชอบนั้น ถึงแม้ตามคำขอบังคับท้ายฟ้องโจทก์ได้ขอให้จำเลยชำระเงินเดือนและค่าครองชีพตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2524 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2527 ก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องว่าการที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างอันเนื่องมาจากความผิดของจำเลยเอง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องร่วมกันรับผิดจ่ายเงินเดือนและค่าครองชีพดังกล่าวให้แก่โจทก์ ซึ่งถือได้ว่าโจทก์ประสงค์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยฉะนั้นที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระเงินเดือนและค่าครองชีพดังกล่าว จึงอนุโลมถือได้ว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนและค่าครองชีพนั่นเองที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์จึงหาเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นายโรแลนด์ กิลเยอร์ด ลอเลนโซ่ จำเลย - บริษัทบางกอกฮิลตันโฮเต็ล จำกัด กับพวก
ชื่อองค์คณะ ไพศาล สว่างเนตร ขจร หะวานนท์ สมบูรณ์ บุญภินนท์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan