คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 453, 456, 850

ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาไว้ว่า จำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทตามที่นำชี้เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน ราคาตารางวาละ 7,000 บาท รายละเอียดอื่นจะตกลงกันต่อไปเนื้อที่ดินที่จะซื้อขายให้ถือตามที่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดใหม่จำเลยได้ชำระมัดจำให้โจทก์ไว้เป็นเงินจำนวนหนึ่งและยังบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นในการที่จะยอมความกันไว้อีกสี่ข้อ ต่อมาตกลงกันเรื่องเนื้อที่ดินและการชำระราคาไม่ได้เพราะในการแบ่งแยกโฉนดใหม่เจ้าพนักงานที่ดินจะต้องกันที่ดินริมคลองไว้ตามระเบียบเพื่อประโยชน์แก่ราชการกรมชลประทาน ดังนี้ ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่โจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทและการประนีประนอมยอมความยังหาได้ยุติลงไม่ โจทก์หรือจำเลยย่อมมีสิทธิยกเลิกข้อตกลงเบื้องต้นที่ได้กระทำกันมาแล้วเสียได้ และจะถือเอาข้อตกลงนั้นว่ามีผลเป็นสัญญาจะซื้อขายหาได้ไม่เมื่อโจทก์บอกเลิกข้อตกลงเสียแล้วเช่นนี้ ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามประเด็นข้อพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1566/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 137, 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 195

จำเลยเป็นพนักงานปกครองได้รับมอบหมายจากหัวหน้าเขตให้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานหมวดนิติกรรมและที่ดินเมื่อโจทก์มิได้มาพบและขอให้จำเลยรับรองใบมอบอำนาจให้ขายที่ดิน แต่จำเลยได้ให้การยืนยันต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์เป็นผู้มาขอให้รับรองหนังสือมอบอำนาจด้วยตนเอง ทั้งที่ได้รู้จักตัวโจทก์แล้วก่อนให้การ ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยต้องมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยเบิกความเป็นพยานต่อศาลแพ่งแล้วกล่าวถึงข้อความอันเป็นเท็จ สุดท้ายกล่าวว่าข้อความเท็จนี้เป็นข้อสำคัญในคดีด้วย มิได้บรรยายว่าคดีที่เบิกความมีข้อพิพาท ประเด็นและข้อความที่เป็นเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ดังนี้ ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และปัญหาว่าฟ้องชอบด้วยกฎหมายอันจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ยกขึ้นฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1457

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1457/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 240 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 188 วรรคสาม, 192, 680, 850

ข้อความในเอกสารซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองทำขึ้นไว้ที่สถานีตำรวจมีแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ยอมผ่อนชำระเงินตามเช็คเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์และมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในการชำระเงิน ไม่มีข้อความว่าโจทก์ยอมถอนคำร้องทุกข์หรือยอมเลิกคดีอาญาที่ได้แจ้งความไว้นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ยอมผ่อนผันแต่ฝ่ายเดียวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทให้เสร็จไป ด้วยการยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ แต่มีลักษณะเป็นการที่จำเลยที่1รับสภาพความรับผิดโดยสัญญา และเป็นการที่จำเลยที่ 1 ให้ประกันแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ไว้โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความรับผิด จำเลยทั้งสองจึงมีความรับผิดต้องใช้หนี้ตามสัญญานั้น

เมื่อหนี้ตามเช็คที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ได้ล่วงพ้นอายุความ 1 ปีไปแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญายอมรับสภาพความรับผิดต่อโจทก์ และมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ละเสียซึ่งอายุความที่ครบบริบูรณ์แล้ว สัญญาดังกล่าวย่อมสมบูรณ์ผูกพันจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 188 วรรคสาม, 192 วรรคแรก

ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่าจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่เพียงใด ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าวได้ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2136

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2136/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 18, 131, 151

อำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 นั้น มีขอบเขตของการควบคุมเพื่อตรวจตราดูแลให้บริษัทเงินทุนได้ดำเนินงานให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศของกระทรวงการคลัง ไม่มีหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องดำเนินงานหรือกระทำการช่วยเหลือชี้ช่องในการบริหารงาน ให้แก่คณะกรรมการของบริษัทเงินทุนการกระทำของบริษัทเงินทุน เช่นการเพิ่มทุนก็ดี ราคาหุ้นของบริษัทสูงมากอย่างรวดเร็วก็ดี ให้กู้ยืมโดยไม่มีหลักประกันก็ดี หรือหนี้สูญจำนวนมากก็ดี จึงทำให้ ฐานะของบริษัทเงินทุนทรุดหนักจนไม่อาจแก้ไขได้นั้น เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองยอมรับหรือสมยอมให้บริษัทกระทำการดังกล่าวหรือ ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดความเสียหาย ของโจทก์ที่เป็นลูกค้าที่ฝากเงินไว้กับบริษัทหากจะมีก็เกิดจาก การกระทำของบริษัทเงินทุน มิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสอง จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิด

การที่ศาลชั้นต้นตรวจพิเคราะห์คำฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องร้องให้จำเลยรับผิดจึงมีคำสั่งยกฟ้องโจทก์ให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับนั้น เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(2) มีผลเป็นการพิพากษาคดีแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา18 จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์ตาม มาตรา 151

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2128

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2128/2525

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497

จำเลยออกเช็คพิพาทให้ ก. โดยไม่มีเจตนาที่จะให้ผูกพันชำระหนี้กันได้ตามกฎหมาย แต่เป็นการค้ำประกันเงินที่จำเลยรับไปโดยมีข้อตกลงให้หักจากเงินค่าจ้างของจำเลยในการรับจ้างก่อสร้างทาวน์เฮ้าส์ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่ง ก. เป็นหุ้นส่วนและมีอำนาจเบิกจ่ายเงินร่วมกับหุ้นส่วนผู้จัดการ ดังนั้น แม้โจทก์จะรับโอนเช็คพิพาทมาและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2117

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2117/2525

พระราชบัญญัติตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ พ.ศ.2503 ม. 6 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 78

บันทึกกักสินค้าหลังใบขนสินค้าไม่ใช่การจับกุมตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 24/2508 เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับใบแจ้งความนำจับรายงานการจับกุมและรายงานการตรวจพบการเก็บอากรขาด เมื่อพนักงานศุลกากรจับกุมแล้วต้องทำรายงานการจับกุมต่อผู้บังคับบัญชาด้วยเมื่อผู้ร้องไม่ได้ทำรายงานการจับกุมเพียงแต่บันทึกกักสินค้าหลังใบขนสินค้าผู้ร้องซึ่งเป็นพนักงานศุลกากรจึงไม่ใช่ผู้จับกุมบุคคลที่กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลการจับกุม

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ก.ต.ภ. ในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรมีอยู่เฉพาะตาม พระราชบัญญัติตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ พ.ศ. 2503มาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2506 มาตรา 3ไม่ได้มีอำนาจทั่วไปอย่างที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะพึงมี กล่าวคือมีอำนาจจับกุมจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 78 วรรคท้าย โดยไม่มีหมาย แต่ต้องจับด้วยตนเองและต้องเป็นกรณีออกหมายจับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั้งยังมีข้อจำกัดอำนาจอยู่ตามพระราชบัญญัติตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ พ.ศ. 2503 มาตรา 6(3) ว่าต้องเป็นกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วนด้วย จำเลยเป็นนิติบุคคลมีสำนักงานที่แน่นอน จึงไม่ใช่กรณีที่จำเป็นหรือเร่งด่วนที่จะต้องทำการจับกุมแต่อย่างใดอำนาจจับโดยไม่ต้องมีหมายประธาน ก.ต.ก. หามีอำนาจมอบให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานปฏิบัติแทนไม่ผู้ร้องที่เป็นพนักงาน ก.ต.ก. จึงไม่ใช่ผู้จับกุมจำเลยไม่มีสิทธิได้รับรางวัลการจับกุมเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2113

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2113/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

กำหนดเวลาทดลองปฏิบัติงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 วรรคสุดท้าย นั้น เป็นเพียงข้อยกเว้นว่าถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำที่นายจ้างได้แจ้งให้ทราบเป็นหนังสือเมื่อเริ่มเข้าทำงานแล้วว่าจะทดลองปฏิบัติงานมีกำหนดไม่เกิน 180 วัน และนายจ้างได้บอกเลิกจ้างภายในกำหนดระยะเวลา 180 วันที่ให้ลูกจ้างทดลองปฏิบัติงานนั้น นายจ้างก็ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย มิใช่เป็นเรื่องห้ามมิให้จ้างทดลองปฏิบัติงานเกิน 180 วัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 292 (2) ประมวลกฎหมายอาญา ม. 35

แม้ทองคำของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดมา และพนักงานอัยการจะต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญา อาจถูกศาลพิพากษาให้ริบและตกเป็นของแผ่นดินก็ตาม แต่ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทองคำดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบ ผู้ร้องซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนั้นจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึด หรือยกเลิกหมายบังคับคดีได้

การที่จะให้งดการบังคับคดีหรือจะให้บังคับคดีต่อไปย่อมเป็นอำนาจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292(2) ที่จะใช้ให้เหมาะสมแก่รูปคดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทองคำที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาเป็นทรัพย์ของกลาง พนักงานอัยการจะต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาซึ่งกำลังพิจารณาคดีอยู่ในศาล และอาจถูกศาลพิพากษาให้ริบและตกเป็นของแผ่นดินได้ การที่ศาลใช้ดุลพินิจให้งดการบังคับคดีสำหรับทองคำนั้นไว้จึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 48, 226

เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นสั่งว่าสำเนาให้โจทก์สั่งในรายงาน และตามรายงานกระบวนพิจารณาศาลชั้นต้นจดว่า 'ทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วแถลงคัดค้านว่า จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม เมื่อโจทก์สืบพยานของโจทก์เสร็จสิ้นไปแล้วเป็นการไม่ชอบ ศาลไม่ควรรับ พิเคราะห์แล้วอนุญาตให้จำเลยยื่นระบุพยานเพิ่มเติมได้ตามขอ' คำแถลงของโจทก์เช่นนี้เป็นการแถลงคัดค้านคำร้องของจำเลยที่ขอระบุพยานเพิ่มเติม เพื่อประกอบดุลพินิจในการที่ศาลจะมีคำสั่งคำร้องดังกล่าวต่อไปเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ที่อนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติม เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2106

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2106/2525

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 5, 10, 20

การบรรจุ แต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งพนักงานรัฐวิสาหกิจย่อมมุ่งหมายให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่แน่นอนชัดเจนเมื่อข้อบังคับการสื่อสารแห่งประเทศไทยกำหนดให้การขึ้นบัญชีและการยกเลิกบัญชีผู้สอบคัดเลือกเป็นไปตามที่ผู้ว่าการกำหนดและผู้ว่าการได้วางระเบียบไว้แล้วว่าบัญชีผู้สอบคัดเลือกได้ให้ใช้ได้จนกว่าจะมีการสอบคัดเลือกใหม่และประกาศผลแล้วดังนั้น การยกเลิกบัญชีผู้สอบคัดเลือกได้ทุกคราวต้องเป็นไปตามระเบียบที่วางไว้ ย่อมไม่ใช่ความมุ่งหมายของข้อบังคับและระเบียบดังกล่าวที่จะให้ผู้ว่าการมากำหนดวิธียกเลิกบัญชีเฉพาะการสอบคราวใดคราวหนึ่งให้ผิดแผกไปจากระเบียบที่วางไว้และยังใช้บังคับอยู่ฉะนั้นผู้ว่าการจึงไม่มีอำนาจที่จะกำหนดว่าบัญชีผลการสอบคัดเลือกครั้งพิพาทใช้ได้มีกำหนด 2 ปีนับแต่วันประกาศผลการสอบคัดเลือก

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ และข้อบังคับที่เกิดขึ้นจากการแจ้งข้อเรียกร้องต่างก็เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 20 แห่งกฎหมายดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงสิทธิหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานที่มีอยู่เดิมย่อมเป็นการทำสัญญาจ้างแรงงานตามบทบัญญัตินี้ด้วย เมื่อความผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานที่มีอยู่เดิมผลการสอบคัดเลือกให้ใช้ได้จนกว่าจะมีการสอบใหม่และประกาศผลแล้ว แต่ข้อกำหนดที่ออกภายหลังตามประกาศผลการสอบคัดเลือกครั้งพิพาทระบุว่าผลการสอบใช้ได้เพียง2 ปีจึงไม่เป็นคุณแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 20 จึงใช้บังคับไม่ได้ชอบที่ศาลจะเพิกถอนเสียตามที่โจทก์ขอ

« »
ติดต่อเราทาง LINE