สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 292 (2) ประมวลกฎหมายอาญา ม. 35

แม้ทองคำของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดมา และพนักงานอัยการจะต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญา อาจถูกศาลพิพากษาให้ริบและตกเป็นของแผ่นดินก็ตาม แต่ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทองคำดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบ ผู้ร้องซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนั้นจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึด หรือยกเลิกหมายบังคับคดีได้

การที่จะให้งดการบังคับคดีหรือจะให้บังคับคดีต่อไปย่อมเป็นอำนาจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292(2) ที่จะใช้ให้เหมาะสมแก่รูปคดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทองคำที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาเป็นทรัพย์ของกลาง พนักงานอัยการจะต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาซึ่งกำลังพิจารณาคดีอยู่ในศาล และอาจถูกศาลพิพากษาให้ริบและตกเป็นของแผ่นดินได้ การที่ศาลใช้ดุลพินิจให้งดการบังคับคดีสำหรับทองคำนั้นไว้จึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 11 ล้านบาทเศษ โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทองคำของจำเลยหนัก 25 กิโลกรัมราคาประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งกรมศุลกากรรักษาไว้ ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ร้องเป็นพนักงานสอบสวนคดีที่นายโกศลจำเลยในคดีนี้กับพวกต้องหาว่ากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร ผู้ร้องในฐานะเป็นพนักงานสอบสวนได้ยึดทองคำหนัก 28,586.9 กรัมจากผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นของกลางและเก็บรักษาไว้ที่กรมศุลกากร ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแล้ว คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องเห็นว่าทองคำดังกล่าวเป็นของกลางในคดีอาญา จำเป็นต้องใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบคดีจนกว่าคดีถึงที่สุด ขอให้ศาลเพิกถอนหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีสำหรับทองคำดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการดำเนินคดีอาญา และให้ยกเลิกหมายบังคับคดี ให้ใช้หมายอายัดแทน

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ยกเลิกหมายบังคับคดีและไม่ต้องออกหมายอายัดทองคำรายนี้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ทองคำของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดมาพนักงานอัยการจะต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญา และอาจถูกศาลพิพากษาให้ริบและตกเป็นของแผ่นดินก็ตาม แต่ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทองคำดังกล่าว ศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบแต่อย่างใดและถึงแม้จะมีบุคคลอื่นอ้างต่อพนักงานสอบสวนว่าเป็นเจ้าของทองคำนั้นก็ย่อมเป็นสิทธิของผู้นั้นที่จะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 เอง จึงไม่มีเหตุให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึด หรือยกเลิกหมายบังคับคดีได้ ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับคดีต่อไปนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จะให้งดการบังคับคดีหรือให้บังคับคดีต่อไปย่อมเป็นอำนาจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 292(2) ที่จะใช้ให้เหมาะสมแก่รูปคดี สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลว่า ทองคำที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาเป็นทรัพย์ของกลางพนักงานอัยการจะต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญา ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ในศาล และอาจถูกศาลพิพากษาให้ริบและตกเป็นของแผ่นดินได้ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจให้งดการบังคับคดีสำหรับทองคำนั้นไว้เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด ผู้ร้อง - พันตำรวจเอกประทิน สันติประภพ กับพวก จำเลย - นายโกศล หรือซ้ง ชิงนวรรณ ผู้ร้อง - จำเลย นายโกศล หรือซ้ง ชิงนวรรณ

ชื่อองค์คณะ บรรเทอง ภู่กฤษณา ชลูตม์ สวัสดิทัต สุรัช รัตนอุดม

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE