คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2163 - 2174/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 147
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147 เป็นบทบัญญัติที่เอาผิดแก่เจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานที่เบียดบังเอาทรัพย์ที่ตนได้มาหรือถือไว้เพื่อจัดการตามหน้าที่ โดยไม่จำกัดว่าทรัพย์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของทางราชการหรือของรัฐ
เมื่อจำเลยกระทำผิดหลายกรรม ศาลลงโทษจำเลยทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2156/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 583
โจทก์เป็นหัวหน้าคนงาน มีหน้าที่ต้องคอยบังคับบัญชาดูแลให้คนงานทำงานให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง แต่โจทก์กลับเรียกคนงานซึ่งกำลังทำงานให้จำเลยเข้าไปในห้องพักโดยไม่ยอมให้ออกมาทำงานทั้งๆ ที่ยังมีงานที่คนงานจะต้องทำให้จำเลยอีกจนจำเลยต้องจัดคนงานอื่นมาทำแทนการกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายจำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และการกระทำดังกล่าวถือได้ด้วยว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่อันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 821, 822 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172, 179, 180
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามเช็คสองฉบับโดยเช็คฉบับแรกห้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและในฐานะส่วนตัวลงชื่อสั่งจ่ายและประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 ส่วนเช็คฉบับที่สองจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย คำฟ้องดังกล่าวโจทก์นำสืบได้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้เชิดให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการใด ๆ แทนห้างจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวตลอดมา เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 2มีอำนาจเช่นนั้น ดังนั้นการที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า แม้ห้างจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการไว้มิให้หุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจกระทำการโดยลำพังได้ก็ตามแต่ในทางปฏิบัติห้างจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการแทนห้างแต่ผู้เดียวตลอดมา เป็นเหตุให้โจทก์และบุคคลภายนอกหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวมีอำนาจกระทำการแทนห้างจำเลยที่ 1 ได้ จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน และเป็นการเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ศาลชอบที่จะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39
จำเลยตายระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงเป็นอันระงับไปโดยความตายของผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) ศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2196/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 140
ในกรณีที่มีการกระทำอันประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140 บัญญัติให้ถือว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้อ่านตามกฎหมายแล้วในวันใดต้องเริ่มนับกำหนดเวลาอุทธรณ์ในวันรุ่งขึ้นจากวันนั้น หาใช่เริ่มนับจากวันที่คู่ความทราบคำสั่งตามความเป็นจริงไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2181/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 425
โจทก์เป็นผู้ได้รับสัมปทานเดินรถยนต์โดยสารประจำทาง แต่โจทก์มีรถเดินอยู่เพียงคันเดียว อีก 25 คันเป็นรถของบุคคลอื่นเข้ามาร่วมด้วย และเจ้าของรถเป็นผู้จ้างและจ่ายค่าจ้างให้พนักงานประจำรถร่วม ดังนี้ พนักงานประจำรถร่วมมิใช่ลูกจ้างของโจทก์ตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ฯ ส่วนเรื่องความรับผิดในกรณีละเมิดก็เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะนำมาใช้ในกรณีเรื่องกองทุนเงินทดแทนซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2146/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 341 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218
สิทธิฎีกาของคู่ความนั้นจะต้องพิจารณาเป็นกระทงความผิดไปศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยฐานฉ้อโกงกระทงละ 2 ปีรวม 3 กระทง เป็น 6 ปี และจำคุกฐานใช้เอกสารปลอมอีกกระทงหนึ่งมีกำหนด 3 ปี รวม 9 ปี ดังนี้ จำเลยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
การที่จำเลยหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งสินค้าให้ 3 ครั้งและออกเช็คปลอมชำระราคาให้ในคราวเดียวการกระทำของจำเลยเป็นความผิดสำเร็จทุกครั้งที่ผู้เสียหายส่งมอบสินค้าให้การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2145/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 424 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46
มูลละเมิดต่อโจทก์ในคดีนี้เป็นการกระทำอันเดียวกับที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหากระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านของโจทก์โดยประมาท ซึ่งในคดีอาญาดังกล่าวศาลฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นจำเลยกระทำผิดพยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอฟังที่จะลงโทษจำเลยได้ คดีถึงที่สุด ดังนั้นในการพิพากษาคดีนี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวว่าจำเลยมิได้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านของโจทก์โดยประมาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จำเลยจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
ในคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องในข้อหากระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านโจทก์โดยประมาทนั้น ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายใน คดีอาญาดังกล่าวนั้น ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจึงต้องผูกพันโจทก์ในคดีนี้ด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 424 เป็นบทบัญญัติถึงการพิพากษาคดีส่วนแพ่งในความรับผิดเรื่องละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าจะต้องดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายส่วนแพ่ง โดยมิต้องคำนึงถึงบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ เป็นคนละกรณีกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75, 900, 901
จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทจำกัดและเป็นผู้ทรงเช็คที่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่าย การที่จำเลยที่ 3ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทลงบนลายมือชื่อสลักหลังเช็คดังกล่าวโอนให้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำนอกขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ 2 นั้น เป็นการแสดงความประสงค์ของนิติบุคคลโดยทางผู้แทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 75 อันอาจกล่าวได้ว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 เอง และเห็นเจตนาได้โดยชัดแจ้งว่ากระทำในนามจำเลยที่ 2 แม้มิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนจำเลยที่ 2จำเลยที่ 3 ก็หาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2143/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 132, 861, 880
โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์รายพิพาทไว้กับจำเลย แต่กรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อผู้เอาประกันภัยผิดพลาดไป กรณีถือได้ว่าจำเลยกับโจทก์มีเจตนาอันแท้จริงที่จะผูกพันต่อกันในฐานะคู่สัญญา เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง