คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1725

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1725/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (7) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3

ผู้เสียหายแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน "…กันคดีขาดอายุความเพื่อจะนำเรื่องไปดำเนินการเอง…" นั้น เป็นการแจ้งความเพื่อป้องกันคดีขาดอายุความอย่างเดียว มิได้มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลย ถือไม่ได้ว่าคำแจ้งความดังกล่าวเป็นคำร้องทุกข์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 432, 1336

จำเลยสมคบกับพนักงานไปรษณีย์ที่ยักยอกเงิน โดยส่งธนาณัติมาให้จำเลยเป็นผู้รับเงิน จำเลยทำละเมิดต่อกรมไปรษณีย์ฯ โจทก์ต้องชดใช้เงินคืน การฟ้องเรียกเงินคืนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ไม่มีอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 351

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 351/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 656

กู้เงินมีข้อสัญญาว่า ถ้าไม่ใช้เงินคืนตามกำหนดยอมโอนที่ดินตามโฉนดชำระหนี้ให้โดยไม่คำนึงถึงราคาที่ดิน ฝ่าฝืน มาตรา656 วรรค 2,3 บังคับให้โอนที่ดินชำระหนี้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 7, 204, 940 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172, 183

ออกตั๋วสัญญาใช้เงินกำหนดใช้เงิน 1,460 วัน นับแต่วันออกตั๋วไม่มีอัตราดอกเบี้ย แล้วขายตั๋วแก่ธนาคาร โดยทำสัญญาให้ดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ถ้าผิดนัดธนาคารเรียกเงินจากผู้ออกตั๋วและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาขายตั๋วเมื่อผู้ออกตั๋วไม่ใช้เงินตามกำหนดซึ่งเป็นผิดนัดโดยไม่ต้องทวงถาม

อายุความฟ้องผู้รับอาวัลกับผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีกำหนด 3 ปีตาม มาตรา940,1001

การมอบอำนาจให้ฟ้องมิใช่เป็นสภาพหรือข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหา โจทก์ไม่บรรยายมติที่ประชุมกรรมการบริษัทที่ให้ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ฟ้องก็ไม่เคลือบคลุม

จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นธนาคารพาณิชย์แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นและจำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยจำเลยฎีกาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1713/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224, 225, 238, 243

โจทก์ฟ้องเรียกค่าซ่อมหม้อแปลงไฟฟ้าจากจำเลยเป็นเงิน 19,920 บาท โดยอ้างว่าหม้อแปลงชำรุดในระหว่างเวลารับประกันศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยประกันจะซ่อมให้เมื่อหม้อแปลงชำรุดภายใน 180 วัน หม้อแปลงรายพิพาทชำรุดเมื่อพ้นเวลารับประกันแล้วจำเลยไม่ต้องรับผิดพิพากษายกฟ้องดังนี้ โจทก์จะอุทธรณ์ได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายและการวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลอุทธรณ์จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวนที่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง และโจทก์มีสิทธินำสืบพยานว่าตามสัญญาซื้อขายจำเลยรับประกัน 5-10 ปีนั้นเมื่อศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยรับประกันเพียง 180 วัน หม้อแปลงรายพิพาทชำรุดเมื่อพ้นกำหนดเวลารับประกันแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิด ดังนั้น ปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์อุทธรณ์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้พิจารณาพิพากษาใหม่ จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1708

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1708/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 349, 850, 910, 989 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 177, 249

ปัญหาเรื่องการแปลงหนี้จากเช็คเป็นหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยไม่ยกขึ้นต่อสู้โดยชัดแจ้ง จึงไม่เป็นประเด็นในคดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ แม้จำเลยจะไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็ค แต่ก็เป็นเช็คที่จำเลยออกชำระหนี้ ย่อมถือได้โดยปริยายว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายได้เอง เมื่อไม่ได้ความว่า โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายโดยไม่สุจริต จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 240 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 113, 114, 115

ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย อายุความต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 คือมีกำหนดระยะเวลาหนึ่งปี แต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 114 และ115 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องนำอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1702

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1702/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 226, 238

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติในภาค 5 มุ่งหมายที่จะใช้แก่พยานหลักฐานซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์ แต่ถ้าเป็นเรื่องบุคคลภายนอกมาร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินที่ศาลได้สั่งริบไปแล้วให้แก่ผู้ร้อง ไม่จำต้องนำบทบัญญัติมาตรา 238 มาใช้บังคับโดยเคร่งครัด ผู้ร้องได้แนบภาพถ่ายหนังสือรับรองมาท้ายคำร้อง โจทก์มิได้คัดค้านประการใด การที่ผู้ร้องมิได้ส่งต้นฉบับหนังสือรับรอง จึงไม่เป็นการขัดต่อกระบวนพิจารณาความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1701

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1701/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (7)

คำแจ้งความคดีออกเช็คไม่มีเงินจ่ายว่า 'จึงได้มา แจ้งไว้เป็นหลักฐาน' ไม่เป็นเจตนาให้สอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาไม่เป็นร้องทุกข์ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1699

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1699/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 118, 850

การแสดงเจตนาลวงที่จะตกเป็นโมฆะ จะต้องเป็นการแสดงเจตนาที่ทำขึ้นโดยความประสงค์ร่วมกันของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ที่จะไม่ให้ผูกพันกัน หรืออีกนัยหนึ่ง จะต้องปรากฏว่ามีการสมรู้กันระหว่างคู่กรณีในการแสดงเจตนาลวงนั้น

กรณีที่จะเกิดมีนิติกรรมอำพรางขึ้นนั้น จะต้องเนื่องมาจากการที่บุคคลสองฝ่ายตกลงจะทำนิติกรรมอันหนึ่ง แต่กลับแสร้งทำเป็นนิติกรรมอีกอันหนึ่ง เพื่อปกปิดหรืออำพรางนิติกรรมที่ทั้งสองฝ่ายตกลงจะทำกันโดยเจตนาอันแท้จริง จึงให้บังคับกันตามนิติกรรมที่ถูกอำพรางซึ่งเป็นเจตนาอันแท้จริงของคู่กรณี

« »
ติดต่อเราทาง LINE