คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1996

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1996/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456, 491, 1367, 1377, 1378

จำเลยทำหนังสือสัญญาขายที่นาพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าให้โจทก์ ยอมมอบที่นาพิพาทให้โจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญา แต่มีข้อตกลงระบุไว้ในหนังสือสัญญาว่าให้จำเลยมีสิทธิมาไถ่ถอนได้ภายใน 3 ปี ถ้าไม่มาไถ่ถอนภายในกำหนด จำเลยเป็นอันหมดสิทธิในที่นาพิพาท ดังนี้ ถึงหากจะฟังว่านิติกรรมซื้อขายที่นาพิพาทเป็นโมฆะเพราะมีลักษณะเป็นสัญญาขายฝากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้สิทธิครอบครองมาโดยการครอบครองยึดถือเพื่อตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ดังที่จำเลยได้แสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองให้โจทก์แล้ว โจทก์ได้สิทธิครอบครองทันทีที่พ้นกำหนดไถ่ 3 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1994

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1994/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 264, 292, 293

แม้ที่ดินและบ้านที่พิพาทกันในคดีก่อนจะเป็นทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีนี้ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายฝากและขอให้ศาลพิพากษาว่าคำพิพากษาตามยอมในคดีก่อนเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ก็ตาม การที่จำเลยขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ในคดีก่อน ย่อมเป็นการบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมในคดีนั้น โจทก์จะมายื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งงดการบังคับคดีในคดีนี้หาได้ไม่ และคำขอของโจทก์ในกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นเรื่องการขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1999

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1999/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 144, 368

ข้อความในสัญญาที่ว่า "ผู้ว่าจ้างตกลงจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้รับจ้างเป็นเงินจำนวนหนึ่ง เมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณตามกฎหมายแล้ว" นั้นไม่ใช่เป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงินชดเชยว่าจะจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างต่อเมื่อสำนักงบประมาณอนุมัติให้จ่าย หากไม่รับอนุมัติก็ไม่ต้องจ่าย แต่เป็นวิธีการที่จะจ่ายเงินค่าจ้างให้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณตามกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1997

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1997/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 207, 209

จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถึงวันนัดพิจารณาคำร้องจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้ว ไม่มาศาล และไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ จำเลยอ้างว่าทนายจำเลยต้องไปตรวจตราทรัพย์ของลูกความคดีอื่นที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ขากลับการจราจรติดขัด กลับมาไม่ทัน แต่ทนายจำเลยก็มิได้ยื่นคำร้องไว้เป็นหลักฐาน แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์จะดำเนินการเกี่ยวกับการร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ต่อไป ถือได้ว่าจำเลยจงใจไม่มาศาล ศาลย่อมสั่งยกคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1957

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1957/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 69, 75, 218, 219, 366 วรรคสอง, 820, 822

จำเลยได้อนุมัติและมอบหมายให้กรมการทหารสื่อสารจัดตั้งสถานีวิทยุ วปถ. ตามจังหวัดต่าง ๆ ขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ราชการของจำเลย โดยเป็นที่เข้าใจกันว่ากรมการทหารสื่อสารจะต้องหาทางดำเนินการในเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เอาเอง และเมื่อกรมการทหารสื่อสารได้จัดตั้งสถานีวิทยุ วปถ. ขึ้นตามที่จำเลยอนุมัติและมอบหมายแล้วจำเลยก็ย่อมรับรู้และได้เข้าควบคุมสถานีวิทยุเหล่านั้นทั้งหมด โดยทางคณะกรรมการที่จำเลยแต่งตั้งและโดยการควบคุมตามสายงานปกติ คือผ่านทางสำนักงานปลัดบัญชีทหารบก ตลอดจนได้เข้าถือประโยชน์จากทรัพย์สินและวัสดุต่าง ๆ ทั้งขอแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากการดำเนินงานสถานีวิทยุเหล่านั้นไปเป็นของจำเลยถึงร้อยละ 40 เช่นนี้ การที่กรมการทหารสื่อสารได้ปฏิบัติไปเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถานีวิทยุ วปถ. จึงผูกพันกองทัพบกจำเลย รวมทั้งหนี้ซึ่งผู้อำนวยการกรมการทหารสื่อสารได้กู้ยืมเงินโจทก์เพื่อนำไปพัฒนากิจการวิทยุดังกล่าวกับหนี้เงินที่โจทก์ได้ออกทดรองจ่ายให้ไปตามสัญญาที่มีกับกรมการทหารสื่อสารเพื่อนำไปปรับปรุงสถานีวิทยุกระจายเสียง วปถ. ด้วย จำเลยต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2509 คณะกรรมการของกรมการทหารสื่อสารได้มีการประชุมกับผู้จัดการทั่วไปของโจทก์ตกลงหลักการให้โจทก์เช่าเวลาโฆษณาของสถานีวิทยุ วปถ. ทุกแห่ง โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2509 กับได้มอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายเป็นผู้ร่างสัญญา ซึ่งผู้อำนวยการกิจการวิทยุกระจายเสียงกรมการทหารสื่อสาร ได้มีหนังสือถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.26 ขอให้ยืนยันข้อตกลงดังกล่าวและโจทก์ได้มีหนังสือตอบยืนยันไปแต่ยังไม่ทันถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2509 และยังมิได้มีการลงชื่อในสัญญาซึ่งตกลงว่าจะทำกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งลงวันที่ 21 กันยายน 2509 ห้ามสถานีวิทยุของส่วนราชการต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงกลาโหมออกอากาศรายการโฆษณาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2509 เป็นต้นไป กรมการทหารสื่อสารจึงได้จัดให้มีการประชุม รองผู้อำนวยการกิจการวิทยุกระจายเสียงกรมการทหารสื่อสารได้แถลงว่า ข้อผูกพันระหว่างกิจการวิทยุกระจายเสียงกรมการทหารสื่อสารกับผู้เช่าเวลาโฆษณาถือว่าเป็นสิ้นสุดต่อกัน ซึ่งผู้แทนของโจทก์ก็ได้เข้าร่วมประชุมและรับทราบคำแถลงดังกล่าวด้วยโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านแต่ประการใด เมื่อสัญญาตามที่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะทำยังมิได้ทำขึ้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กับกรมการทหารสื่อสารทหารบกหรือจำเลยมีสัญญาต่อกัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรค 2(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 164/2519)

เดิมกรมการทหารสื่อสารตกลงให้โจทก์ทำการรับเหมาเช่าเวลาออกอากาศของสถานีวิทยุ วปถ. จำนวน 12 แห่ง ตั้งแต่ ปี 2507 โดยกรมการทหารสื่อสารขอสงวนสิทธิว่า เมื่อมีคำสั่งของทางราชการกองทัพบกหรือของรัฐบาล สั่งให้ปฏิบัติการใด ๆ ด้วยวิธีการใด ๆ เกี่ยวกับการโฆษณา โจทก์จะต้องถือปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือเงื่อนไขใด ๆ และเมื่อมีเหตุนอกอำนาจใด ๆ บังเกิดขึ้นอันทำให้การกระจายเสียงของ วปถ. ไม่เป็นไปตามปกติแล้วทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันให้ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และโจทก์จะเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากกรมการทหารสื่อสารไม่ได้ต่อมาการที่โจทก์ไม่อาจเข้าทำการโฆษณาในสถานีวิทยุ วปถ. ได้ตามปกติ เนื่องจากมีคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห้ามการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงก็ดีหรือ การที่กรมการทหารสื่อสารไม่ได้จัดให้โจทก์เข้าเช่าเวลาโฆษณาในตอนหลังเนื่องจากผู้บัญชาการทหารบกได้มีคำสั่งให้กรมการทหารสื่อสารดำเนินการโฆษณาเองก็ดีต้องถือเป็นเหตุนอกเหนืออำนาจของกรมการทหารสื่อสาร ซึ่งกรมการทหารสื่อสารไม่อาจจะจัดการให้เป็นอย่างอื่นได้โจทก์จึงไม่อาจโต้แย้งและไม่มีสิทธิจะเรียกค่าเสียหายใด ๆจากกรมการทหารสื่อสารตามนัยแห่งข้อตกลงเดิมที่โจทก์มีอยู่กับกรมการทหารสื่อสารดังกล่าวข้างต้นได้และเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากกรมการทหารสื่อสาร โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะฟ้องเรียกจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23, 177 วรรคหนึ่ง, 199, 228

หากจำเลยมีความจำเป็นไม่อาจจะยื่นคำให้การได้ทันภายในกำหนดเวลาแปดวันก็ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาออกไปได้ โดยแสดงให้ศาลเห็นว่ากรณีมีพฤติการณ์พิเศษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 และถึงแม้ระยะเวลาแปดวันจะผ่านพ้นไปแล้ว จำเลยก็ยังอาจขอขยายระยะเวลาได้โดยแสดงให้ศาลเห็นว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยแต่จำเลยหาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ กลับมายื่นคำร้องหลังจากพ้นกำหนดแปดวันแล้วโดยอ้างว่ามิได้มีเจตนาจงใจจะขาดนัดยื่นคำให้การซึ่งเป็นเหตุผลที่จำเลยชอบที่จะอ้างหลังจากที่ศาลได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 ในชั้นนี้ยังไม่มีกรณีจะต้องพิจารณาถึงว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยไม่จงใจหรือโดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ ศาลจึงสั่งรับคำให้การจำเลยไว้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1885

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1885/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. , ,

เจ้าพนักงานตำรวจเห็นคนร้ายซึ่งเป็นพวกของจำเลยกำลังยื้อแย่งกระเป๋าถือจากผู้เสียหาย จึงวิ่งเข้าไปบอกให้หยุดพร้อมกับยิงปืนขึ้นฟ้า 1 นัด กระเป๋าตกลงกับพื้นแล้วผู้เสียหายเอาคืนไปการที่กระเป๋าตกลงกับพื้นก็เพราะเสียงของเจ้าพนักงานตำรวจร้องบอกให้หยุดยื้อแย่งและเพราะผู้เสียหายกับคนร้ายตกใจเสียงปืน คนร้ายยังไม่ได้กระเป๋าไป ดังนี้ การกระทำของจำเลยกับพวกจึงมีความผิดเพียงพยายามปล้นทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1995

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1995/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 288 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 107, 456, 1299

ผู้ร้องซื้อเรือนพิพาทจากภรรยาจำเลย แม้การซื้อขายจะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินที่เรือนพิพาทปลูกอยู่ เรือนเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ร้องเจ้าของที่ดินย่อมได้กรรมสิทธิ์ในเรือนพิพาทโดยไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1972

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1972/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 219

ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโพยสลากกินรวบและเงินของกลางที่จับได้จากจำเลยประกอบกันแล้วฟังต้องกันว่า จำเลยเล่นการพนันสลากกินรวบโดยเป็นผู้ขายฝ่ายเจ้ามือ จำเลยฎีกาคัดค้านว่าเพียงแต่โพยสลากกินรวบเท่านั้นไม่พอฟังว่าเป็นการเล่นการพนันสลากกินรวบอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หาใช่ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายไม่ เมื่อศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยไม่เกินอัตราโทษที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 80, 288

จำเลยใช้ไม้รวกตีที่ไหล่โจทก์ร่วม 1 ที โจทก์ร่วมวิ่งหนี จำเลยชักปืนสั้นจ้องไปทางโจทก์ร่วมในระยะห่างกันเพียง 2 วา น. ตบมือจำเลยเพื่อไม่ให้ยิงโจทก์ร่วมปืนลั่นขึ้น 1 นัด กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด น.แย่งปืนจากจำเลย จำเลยจึงยิงไปที่โจทก์ร่วมอีก 1 นัด ขณะอยู่ห่างกันประมาณ 3 เมตร กระสุนปืนถูกโคนขาอ่อนโจทก์ร่วมทะลุ ปืนเป็นอาวุธร้ายแรง จำเลยยิงโจทก์ร่วมในระยะดังกล่าว หากกระสุนปืนถูกอวัยวะสำคัญก็ทำให้ถึงแก่ความตายได้ เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วม ไม่ใช่เพียงทำร้ายร่างกาย

« »
ติดต่อเราทาง LINE