คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 362, 365 (3)

จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในความดูแลของสุขาภิบาล สุขาภิบาลแจ้งให้จำเลยรื้อถอนออกไป จำเลยทราบแล้วไม่ยอมรื้อและไม่ยอมออกไป จำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นความผิดตั้งแต่นั้นต่อเนื่องกันตลอดไปตราบเท่าที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินรวมทั้งเวลากลางคืนตามมาตรา 365(3) ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456, 1332 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

การซื้อขายรถยนต์สมบูรณ์ กรรมสิทธิ์โอนโดยไม่ต้องจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ มาตรา13 ผู้ขายมีอาชีพซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์มา 8-9 ปี ตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีรถยนต์ในร้าน 30 คันบริเวณใกล้เคียงมีร้านบริการซื้อขายรถยนต์หลายสิบร้านถือได้ว่าเป็นพ่อค้าหรือท้องตลาดผู้ซื้อรถตกลงกับผู้ขายในสำนักงานของผู้ซื้อแล้วให้ผู้เช่าซื้อไปรับรถจากร้านของผู้ขายแทนผู้ซื้อผู้ซื้อไม่ต้องคืนรถแก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่จะได้รับใช้ราคาที่ซื้อ เจ้าของเอารถนั้นไปจากผู้เช่าซื้อโดยผู้ซื้อไม่ยินยอมเจ้าของต้องคืนรถแก่ผู้ซื้อ แต่ไม่มีนิติสัมพันธ์กับผู้ซื้อที่จะต้องโอนทะเบียนให้เป็นของผู้ซื้ออันเป็นการเกินคำขอในฟ้องอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 ม. 29, 41 วรรคหนึ่ง, 41 วรรคสี่

การที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้ให้เช่านาจะขายนาได้ต่อเมื่อได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่านาทราบพร้อมทั้งราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินนั้นก็เพื่อให้โอกาสแก่ผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาแปลงที่ตนเช่าก่อนบุคคลอื่นเท่านั้น ที่โจทก์ผู้ให้เช่านาขายนาไปโดยไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยผู้เช่านาทราบนั้นไม่เป็นการผิดสัญญาเช่าเพราะการเช่านาไม่ระงับไป โดยผู้ซื้อต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มาตรา 29 และไม่เป็นการละเมิดเพราะจำเลยมีสิทธิที่จะซื้อนาจากผู้ซื้อในราคาและตามวิธีการชำระเงินที่โจทก์ได้ขายให้แก่ผู้ซื้อไปตามมาตรา 41 วรรค 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1937

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1937/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 60, 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 226

ยิง 4-5 นัด เจตนาฆ่า ก. กระสุนถูก ก. ตาย ถูก ส. อันตรายสาหัส เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 กับมาตรา 288,80 อีกบทหนึ่งคำพิพากษาต้องอ้างความผิดทั้ง 2 บท ให้ลงโทษตาม มาตรา 288 บทหนัก

คำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ที่ได้ตัวมาเบิกความ และที่ไม่ได้ตัวมาเบิกความเพราะติดตามตัวไม่พบ ระบุชื่อผู้ยิงว่านายประทีป สุขเกษม มาในชั้นศาลพยานโจทก์ว่าคนยิงไม่ใช่จำเลย แต่เป็นคนในร้านตัดเสื้อที่ชื่อประทีป แต่ไม่ทราบนามสกุล ศาลรับฟังได้ว่านายประทีป สุขเกษม จำเลยคือผู้ยิงตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1931

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1931/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 264, 265

จำเลยทำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถยนต์ที่ ช. นำมาชำระ แม้ จำเลยจะได้ประทับตราชื่อของจำเลยเป็นผู้รับเงินและมีรายการเสียภาษี ตามความเป็นจริงทุกประการก็ตามแต่จำเลยใช้ฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซ้ำกับฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงที่มี การนำส่งเงินภาษีที่เก็บได้ต่อทางราชการโดยจำเลยมีเจตนาจะให้ผู้ที่ได้ พบเห็นใบเสร็จเหล่านั้น เข้าใจว่าเป็นใบเสร็จที่ใช้ฉบับที่และเล่มที่ตามลำดับ ไม่ซ้ำกับฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จอื่น ๆและได้มีการส่งเงินตามใบเสร็จเหล่านั้นต่อทางราชการตามระเบียบด้วยจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เพราะเป็นเอกสารที่ทางราชการทำขึ้น

ใบเสร็จรับเงินไม่ใช่เอกสารสิทธิ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่889/2492)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1875

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1875/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 295

บาดแผลถูกชกต่อยและเตะ หลังจากเกิดเหตุ 7 วันตาซ้ายยังเขียวช้ำหรี่เกือบปิด แก้มและขาซ้ายฟกช้ำเป็นอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1928

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1928/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237

จำเลยที่ 1 ปลอมใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 สามี นำโฉนดที่ดินจำเลยที่ 2 ไปทำนิติกรรมขายฝากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงฟ้องขอเพิกถอนการขายฝาก ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอน ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาข้อหาปลอมเอกสารและฉ้อโกงเกี่ยวกับการขายฝากนั้นย่อมเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องถูกโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าขายฝากที่ดินคืนและจำเลยที่ 2 จะต้องถูกโจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสออกเป็นส่วนของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นอีกดังนี้ การที่จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนการหย่าหลังจากศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนการขายฝากเพียง 20 วันเศษ และบันทึกระบุเรื่องทรัพย์สินระหว่างจำเลยทั้งสองว่าให้ตกเป็นของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวหลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาดังกล่าวเพียง 7 วันจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้โจทก์ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเหตุนี้จึงเป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1926 - 1927/2522

ประมวลรัษฎากร ม. 40 (5), 70 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2502 ม. 17, 33

โจทก์เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศสหรัฐอเมริกาประกอบธุรกิจให้เช่าและจัดจำหน่ายฟิลม์ภาพยนตร์ มีสำนักงานสาขาอยู่ในประเทศไทยโจทก์เช่าฟิลม์ภาพยนตร์จากบริษัทต่างประเทศแล้วเอาเข้ามาฉายในประเทศไทย ซึ่งทางโรงภาพยนตร์จะแบ่งปันรายได้ให้แก่โจทก์โจทก์จะหักไว้เป็นรายได้ของโจทก์ร้อยละ 40 ส่วนที่เหลือร้อยละ 60 ต้องหักค่าใช้จ่ายในการโฆษณา ค่าตัดต่อฟิลม์ค่าพิมพ์คำบรรยายค่าบันทึกเสียงหรือพากย์ และค่าตรวจเซนเซ่อร์เสียก่อน เหลือเท่าไรบริษัทต่างประเทศจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้และโจทก์มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องส่งเงินสุทธิดังกล่าวเท่านั้นไปให้บริษัทต่างประเทศดังนั้นเงินค่าเช่าฟิลม์ภาพยนตร์ซึ่งถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่โจทก์จะต้องรับผิดเสียภาษีตามมาตรา 40(5) ประกอบด้วยมาตรา 70 จึงได้แก่เงินที่โจทก์จ่ายให้บริษัทต่างประเทศหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วและการคำนวณภาษีเงินได้ของเงินดังกล่าวจะต้องหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้อีกร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือตามมาตรา 70(3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1925

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1925/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 210, 218, 221

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 86 ให้เวนคืนที่ดินของผู้ร้องเพื่อประโยชน์ของทางราชการกรมชลประทาน และกำหนดค่าทดแทนให้ราคาไร่ละ 2,000 บาท ผู้ร้องปฏิเสธเพราะราคาไม่เป็นธรรมจึงมีการตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดราคา อนุญาโตตุลาการของทางฝ่ายกรมชลประทานและฝ่ายผู้ร้องมีความเห็นไม่ตรงกัน ได้ตกลงตั้งประธานอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดโดยให้ฝ่ายผู้ร้องร้องขอต่อศาลให้ตั้ง อ. เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้ง อ. เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ ต่อมา อ. ทำคำชี้ขาดว่าราคาที่ดินที่เป็นธรรมควรกำหนดราคาไร่ละ 68,000 บาท และยื่นคำชี้ขาดต่อศาลทางฝ่ายกรมชลประทานไม่ยอมปฏิบัติตาม จึงขอให้ศาลพิพากษาตามคำชี้ขาดดังกล่าว ดังนี้กรณีตามคำร้องเป็นการเสนอข้อพิพาทในการกำหนดค่าทดแทนให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเรื่องราคาที่ดินนอกศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 221 ข้อที่อนุญาโตตุลาการลงมติให้ผู้ร้องร้องขอแต่งตั้ง อ. เป็นประธานอนุญาโตตุลาการและศาลมีคำสั่งแต่งตั้ง อ. ไปตามคำร้องแล้วนั้นเป็นเพียงข้อตกลงของคู่กรณีว่าให้ไปดำเนินการทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้ง อ. เท่านั้น หาใช่เป็นการตั้งอนุญาโตตุลาการในศาลไม่เพราะไม่มีคดีอันเป็นข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลตามมาตรา 220 เหตุนี้การที่ อ. ได้ทำคำชี้ขาดกำหนดราคาที่ดินยื่นต่อศาลก็หาเป็นการชี้ขาดที่ต้องให้ศาลพิพากษาตามที่บังคับไว้ในมาตรา 218 วรรคสองไม่

มาตรา 221 ที่ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาล ก็เพื่อแสดงว่าผู้ยื่นมีสิทธิตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่คดีเรื่องนี้ผู้ร้องมีคำขอให้บังคับกรมชลประทานปฏิบัติตามคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเข้ามาด้วยจึงเป็นคดีที่มีจำเลย เรียกว่าคดีมีข้อพิพาทผู้ร้องจึงต้องเสนอคดีต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2522

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ม. 121 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59

ฟ้องโจทก์มีใจความว่า "จำเลยบังอาจมียา ….ซึ่งเป็นยาสิ้นอายุตามที่แสดงไว้ในสลากแล้ว (คือยาเสื่อมคุณภาพ) ไว้ในความครอบครองของจำเลยเพื่อขายและตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยา คำว่า "มีไว้เพื่อขาย" มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า "ขาย" ฟ้องของโจทก์จึงได้ความตรงตามมาตรา 121 วรรคแรกแล้ว และความผิดตามมาตรานี้ (มาตรา 121) ต้องการเพียงเจตนาธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 เท่านั้นเมื่อโจทก์ใช้คำว่า"จำเลยบังอาจ" ก็เป็นการแสดงความหมายอยู่ในตัวว่าจำเลยเจตนากระทำผิดกฎหมายโจทก์หาจำต้องกล่าวในฟ้องว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นยาเสื่อมคุณภาพไว้ด้วยอีก

« »
ติดต่อเราทาง LINE