4.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-09-18

การประมาทตามกฎหมาย

1.png

คำว่า “ประมาท” หากพิจารณาตามความหมายทั่วไป หรือความหมายตามพจนานุกรม หมายความว่า การขาดความรอบคอบ หรือการขาความระมัดระวัง แต่หากพิจารณาความหมายตามกฎหมาย หมายความว่า การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่)


ความผิดเกี่ยวกับการกระทำโดยประมาทตามกฎหมาย

โดยปกติแล้วบุคคลที่จะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา แต่สำหรับการกระทำโดยประมาทนั้น บุคคลที่กระทำโดยประมาทจะต้องรับผิดในการกระทำของตนก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคหนึ่ง) ดังนั้น หากไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิด ผู้ที่กระทำโดยประมาทก็ไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด


4 ตัวอย่างความผิดที่เกี่ยวกับการกระทำโดยประมาท

1. ความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท 

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 เช่น เผาหญ้าใกล้หมู่บ้าน ไม่ระมัดระวังปล่อยให้ไฟลามไปไหม้หมู่บ้าน (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1021/2500)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1021/2500

"จุดไฟเผาไม้ในสวนของตนซึ่งอยู่ติดต่อกับสวนของผู้อื่น เห็นได้ว่าเพลิงอาจลุกลามไปไหม้ส่วนผู้อื่นได้ ดังนี้ เป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าทำไปโดยฐานประมาทตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 201"
 

2. ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เช่น คนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ตายหมดสติ เข้าใจว่าตายจึงนำไปทิ้งในอ่างเก็บน้ำเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5729/2556) จำเลยใช้ปืนจี้ศีรษะผู้เสียหายไว้ในขณะอาวุธปืนขึ้นนกและมีกระสุน และได้ทำปืนลั่น เป็นการกระทำโดยประมาท (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1592/2534)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1592/2534

"จำเลยไม่มีเจตนายิงปืนเพื่อฆ่าผู้เสียหาย แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนจี้ศีรษะผู้เสียหายไว้ในขณะที่อาวุธปืนขึ้นนกโดยมีกระสุนบรรจุในรังเพลิงและได้ทำอาวุธปืนลั่น ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท บาดแผลกระสุนปืนถูกหางคิ้วซ้าย ผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังขาดหายไปเลือดออกใต้เยื่อบุตาขาวข้างซ้ายอย่างมากแก้วตาซ้ายขุ่นมัวมาก ใช้เวลารักษาประมาณ 30 วัน ผู้เสียหายรักษาตัวที่โรงพยาบาล7 วัน แล้วกลับไปอยู่บ้านแต่ก็ต้องไปตรวจเป็นระยะ ๆ และตาซ้ายยังมองเห็นพร่า ๆ อยู่ ถือได้ว่าเป็นอันตรายถึงสาหัส โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,288 แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192"

3. ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส 

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งอันตรายสาหัสนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 กำหนดไว้ 8 ประเภท ดังนี้

(1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท (ความสามารถในการดมกลิ่น)

(2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์

(3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด

(4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว

(5) แท้งลูก

(6) จิตพิการอย่างติดตัว

(7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต

(8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติ ไม่ได้เกินกว่า 20 วัน

ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส เช่น ใช้ปืนยิง โดยไม่ดูให้ดีว่าบริเวณนั้นมีคนหรือไม่ เมื่อกระสุนถูกผู้อื่น ได้รับอันตรายสาหัสโดยเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน เป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2589/2546) ขับรถตัดหน้าผู้อื่นในระยะกระชั้นชิด ทำให้คนบาดเจ็บสาหัส (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3088/2527)

ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2589/2546

"จำเลยมีเจตนาใช้อาวุธปืนแก๊ปยาวยิงค้างคาวโดยไม่พิจารณาให้ดีว่าบริเวณที่ยิงไปนั้นจะมีผู้เสียหายอยู่หรือไม่ เมื่อกระสุนปืนที่ยิงไปนั้นไม่ถูกค้างคาว แต่กลับไปถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน กรณีเช่นนี้จึงถือว่าจำเลยกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยได้เพราะจำเลยต่อสู้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาท จำเลยจึงไม่หลงข้อต่อสู้ ทั้งการแตกต่างระหว่างการกระทำโดยเจตนากับประมาทนั้น กฎหมายมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3088/2527

" จำเลยที่ 1 ขับรถตัดหน้ารถยนต์ผู้อื่นในระยะกระชั้นชิดอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 52 วรรคแรกและไม่ให้สัญญาณก่อนเลี้ยว ฝ่าฝืนมาตรา 36 จนรถที่จำเลยที่ 2ขับมาในเส้นทางของตนตามปกติชนกับรถของจำเลยที่ 1ดังนี้ เป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 โดยตรงหาใช่เพราะเหตุสุดวิสัยหรือเป็นอุบัติเหตุไม่ ผู้เสียหายมีบาดแผลฉีกขาดบนใบหน้าหลายแห่งต้องเย็บตามคิ้วเปลือกตาบนและที่แก้ม เมื่อแผลหายจะมีแผลเป็นติดใบหน้า มองเห็นได้ชัดเจนในระยะ 15 เมตร ถือได้ว่าหน้าเสียโฉมอย่างติดตัวอันเป็นอันตรายสาหัสแล้ว จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ลงโทษตามมาตรา 300 ซึ่งเป็นบทหนัก "

 

 

4. ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 เช่น เมาสุราขับรถด้วยความเร็วสูง รถพุ่งชนคนบาดเจ็บ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 978/2540) ขับรถโดยประมาทชนผู้อื่นบาดเจ็บฟันหัก 1 ซี่ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2508)

นอกจากการกระทำความผิดโดยประมาท จะเป็นความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว การกระทำโดยประมาทนั้นยังถือเป็นการกระทำละเมิดในทางกฎหมายแพ่งด้วย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420) ซึ่งได้บัญญัติให้ผู้ที่กระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย แก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างอื่น เป็นการกระทำละเมิด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ดังนี้ ผู้ที่กระทำโดยประมาทนั้น จึงต้องรับผิดทั้งในทางอาญา และทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2508

การถูกกระทำร้ายถึงเสียอวัยวะที่จะถือว่าเป็นอันตรายสาหัสตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 คำว่า อวัยวะอื่นใดในอนุมาตรา 3 นั้น ย่อมหมายถึงอวัยวะอื่นนอกจากที่ระบุไว้ ซึ่งต้องเป็นอวัยวะที่สำคัญเช่นกันและเมื่อสูญเสียอวัยวะนั้นไปแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ได้รับอันตรายกลายเป็นคนพิการไปด้วย การที่จำเลยขับรถโดยประมาทชนรถผู้อื่นทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บฟันหัก 1 ซี่นั้น ยังถือไม่ได้ว่าได้รับอันตรายสาหัสตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

 

2.png

ประมาทร่วมคืออะไร ?

เมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “ประมาทร่วม” แต่ในทางกฎหมาย คำว่า “ประมาทร่วม” ไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับใดหรือมาตราใดเลย เนื่องจากการกระทำที่จะมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดได้นั้นต้องเกิดจากการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) ซึ่งดังที่กล่าวไปแล้วว่าการกระทำโดยประมาท คือการกระทำที่มิใช่กระทำโดยเจตนา ดังนี้ ประมาทร่วมจึงไม่มีในทางกฎหมาย

ในความเป็นจริงแล้ว คำว่า “ประมาทร่วม” ที่เรามักได้ยินกันนั้น หมายถึง กรณีต่างฝ่ายต่างประมาท เช่น ต่างฝ่ายต่างขับรถอย่างไม่ระมัดระวังเป็นเหตุให้รถเฉี่ยวชนกัน เป็นต้น แต่ที่มักนิยมพูดว่า “ประมาทร่วม” เนื่องจากเป็นคำที่เข้าใจได้ง่าย สำหรับกรณีต่างฝ่ายต่างประมาทนั้น ต้องถือว่าต่างฝ่ายต่างกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทั้งสิ้น แต่จะเป็นความผิดฐานใดนั้น ให้พิจารณาจากผลที่เกิดจากการกระทำโดยประมาทนั่นเอง

ในส่วนเรื่องค่าเสียหายสำหรับกรณีต่างฝ่ายต่างประมาท ก็ต้องถือว่าต่างฝ่ายต่างกระทำละเมิด และต้องชดใช้ค่าไหมทดแทนเช่นกัน หากแต่การจะพิจารณาว่าต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียงใด ต้องพิจารณาว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อความเสียหายมากน้อยกว่ากันเพียงใด (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223)

เข้าใจคำว่าประมาทร่วมให้มากขึ้น คลิกเลย !


กล่าวโดยสรุป การกระทำโดยประมาทนั้น ถือเป็นการกระทำที่เกิดจากการปราศจากความระมัดระวัง และเมื่อผู้ใดได้กระทำโดยประมาทแล้ว ผู้นั้นก็ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งแก่ผู้เสียหาย หากมีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำโดยประมาทนั้นด้วย หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ

 

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
ติดต่อเราทาง LINE