Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-25

มาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

“มาตรา 59 หรือ มาตรา 59 อาญา คืออะไร?


“มาตรา 59 ” หรือ “มาตรา 59 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
              กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
              ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
              กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
              การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย”

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 59” หรือ “มาตรา 59 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4423/2564
การกระทำอันจะถือเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83 ได้นั้น บุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดจะต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และมีการกระทำโดยเจตนาที่จะร่วมกันกระทำความผิดนั้น จึงจะเป็นตัวการตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม เมื่อพวกของจำเลยที่ขับรถแบ็กโฮเข้าขุดดินในที่ดินของผู้เสียหาย มิได้รู้เท็จจริงว่าดินที่ขุดออกไปเป็นของผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าเป็นการขุดดินของจำเลย ก็ย่อมจะถือไม่ได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความเองโดยอ้อมโดยใช้พวกของจำเลยเป็นตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดของจำเลยเอง เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่ได้ความกระจ่างชัดว่าพวกของจำเลยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดและมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยอันจะถือเป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นคุณแก่จำเลยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปโดยใช้ยานพาหนะ


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2563
การที่จำเลยทั้งสองกับพวกใช้อาวุธปืนยิงกราดไปที่บริเวณบ้านทั้งจุดที่ผู้เสียหายทั้งสามยืนและนั่งอยู่ในครั้งแรกจนถึงจุดที่หลบซ่อนอยู่ภายในตัวบ้าน จำเลยทั้งสองย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายทั้งสามหรือบุคคลอื่นภายในบ้านได้ แม้กระสุนปืนจะไม่ถูกผู้ใด การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ถือได้ว่ามีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าช่วงเวลาที่จำเลยทั้งสองกับพวกมีเรื่องกับผู้เสียหายที่ 2 จนถึงช่วงเวลาเกิดเหตุ มีระยะเวลาห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมง จึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองกับพวกตระเตรียมอาวุธปืนเพื่อใช้ในการกระทำความผิดมาล่วงหน้าและนัดหมายกับพวกไปรวมตัวกันที่สถานีบริการน้ำมันเพื่อจะไปที่บ้านที่เกิดเหตุเพราะยังขุ่นเคืองอยู่ ซึ่งเมื่อจำเลยทั้งสองไปถึงบ้านที่เกิดเหตุก็ได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในบ้านทันทีโดยมีการวางแผนและตระเตรียมไว้ล่วงหน้า จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2563
จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน นอกจากอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ที่ใช้ยิงผู้ตาย ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ทางราชการมอบให้ไว้ใช้ตรวจรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านแล้ว จำเลยยังมีอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยว (NTS) แบบสไลด์ แอ็คชั่น (SLIDE ACTION) บรรจุ 4 นัด ขนาด 12 ที่ใช้ยิงขึ้นฟ้าในวันเกิดเหตุอีก 1 กระบอก จำเลยย่อมมีความชำนาญในการใช้อาวุธปืนและทราบดีอยู่แล้วว่าอาวุธปืนเป็นอาวุธที่ร้ายแรงสามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ง่าย แต่จำเลยยังใช้อาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ของกลางที่มีกระสุนบรรจุอยู่ในการข่มขู่ผู้ตาย ในขณะผู้ตายนั่งอยู่บนแคร่ จำเลยเดินถืออาวุธปืนเข้าไปหาผู้ตายเพื่อข่มขู่ โดยปากกระบอกปืนชี้ไปหาผู้ตายในระยะใกล้จนผู้ตายสามารถจับปากกระบอกปืนได้ จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาวุธปืนของกลางอาจลั่นถูกผู้ตายถึงแก่ชีวิตได้ แต่จำเลยยังคงกระทำการดังกล่าว เมื่อเกิดการดึงปืนกันจนปืนลั่นถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้ตาย หาใช่เป็นการกระทำโดยประมาทไม่
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท