Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 442 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 442 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 442” คืออะไร? 


“มาตรา 442” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 442 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๒๓ มาใช้บังคับ โดยอนุโลม “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 442” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 442 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 783/2565
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงสามารถพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกพยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบกันในคดีส่วนแพ่งขึ้นมาวินิจฉัยว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ร่วมและจำเลยไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์ร่วมจึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และพิพากษายกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้ศาลสามารถนำพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันในคดีส่วนแพ่งมาวินิจฉัยในคดีส่วนอาญาได้ ทั้งปัญหาดังกล่าวมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนักและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย และเพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาใหม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา เมื่อคดีอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งจึงไม่ต้องห้ามฎีกา โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องขออนุญาตฎีกาคดีส่วนแพ่งในคดีส่วนอาญาจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แม้คู่ความจะนำสืบกันในคดีส่วนแพ่ง การรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันในคดีส่วนแพ่งเพื่อกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 และมาตรา 223 นั้น หากข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนประมาทด้วย ศาลก็เพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น แต่ไม่อาจด่วนพิพากษาให้ความรับผิดค่าสินไหมทดแทนระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเป็นพับและยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้ เพราะต้องถือว่าข้อเท็จจริงในคดีอาญายุติตามคำรับสารภาพของจำเลยแล้วว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งพฤติการณ์การกระทำผิดตามฟ้องก็บ่งชี้อยู่ว่าจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยคดีส่วนแพ่ง โดยมิได้วินิจฉัยเนื้อหาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยตามพยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบกันในคดีส่วนแพ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 252
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 223, ม. 442
ป.วิ.อ. ม. 44/1, ม. 46, ม. 176 วรรคหนึ่ง, ม. 195 วรรคสอง, ม. 208 (2), ม. 225
ป.วิ.พ. ม. 243 (2), ม. 252


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2378/2564
ระเบียบของโจทก์ว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2550 ข้อ 26 กำหนดว่า “การจ่ายเงินของสหกรณ์ให้กระทำได้ดังนี้...(2) การจ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้แก่สมาชิก หรือกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์...ให้จ่ายเป็นเช็ค ยกเว้นถ้าผู้รับเงินประสงค์จะให้จ่ายเป็นเงินสด...” และข้อ 27 กำหนดว่า “ก่อนจ่ายเงินทุกครั้ง ผู้มีหน้าที่จ่ายต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และใบสำคัญประกอบการจ่ายเงินให้ถูกต้องเรียบร้อย...” ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้จัดการสหกรณ์โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินกู้ได้ โจทก์อนุมัติให้ ป. และ ก. กู้ยืมเงินจากโจทก์ ตามปกติแล้ว ป. และ ก. ต้องเป็นผู้รับเงินด้วยตนเอง การจ่ายเงินจำนวนมากเช่นในคดีนี้ต้องจ่ายเป็นเช็ค เว้นแต่ ป. และ ก. เจตนาขอรับเป็นเงินสด และหาก ป. และ ก. จะไม่รับเงินด้วยตนเองต้องทำหนังสือมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้บุคคลอื่นรับเงินแทน ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้ถูกต้องเสียก่อนจึงจะจ่ายเงินกู้ได้ การที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินกู้จำนวนมากเป็นเงินสดให้แก่ น. ซึ่งไม่ใช่ผู้มีสิทธิรับเงินตามสัญญากู้ จึงเป็นการจ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ เป็นการละเมิดและเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ด้วย และถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง ที่จะมีผลให้จำเลยที่ 1 รับผิดน้อยลง ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่มีหน้าที่จ่ายเงินกู้ให้แก่สมาชิกผู้กู้โดยตรง แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมการจ่ายเงินทุกประเภทให้เป็นไปตามระเบียบ แล้วไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ควบคุมการจ่ายเงินสดของจำเลยที่ 1 ให้แก่ น. ให้ถูกต้องตามระเบียบ จึงเป็นการละเมิดและเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์การกำหนดค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่สามารถกำหนดเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 6 ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 223 วรรคหนึ่ง, ม. 432, ม. 442


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6964/2561
แม้โจทก์จะเป็นบุตรของ บ. เจ้าของกรรมสิทธ์รถยนต์และเป็นผู้ถือครองรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้รับความเสียหายในส่วนของค่าซ่อม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยนต์ สำหรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุนั้น ถึงแม้โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันเกิดเหตุแต่โจทก์นำรถยนต์ดังกล่าวมาใช้ประกอบอาชีพทุกวัน โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้สอยประโยชน์จากรถยนต์ เมื่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้ครอบครองใช้สอยประโยชน์จากรถยนต์คันเกิดเหตุได้รับความกระทบกระเทือนเสียหายจากเหตุละเมิด โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้
ขณะโจทก์ขับรถอยู่ในช่องเดินรถของตนซึ่งเป็นทางตรง มีโควิ่งออกมาจากข้างทาง โจทก์ขับรถชนโคกระเด็นไปไกลประมาณ 10 เมตร ทำให้เห็นได้ว่าเป็นการชนอย่างแรง จึงเชื่อว่าโจทก์ขับรถด้วยความเร็วมากพอสมควร หากโจทก์ไม่ขับรถด้วยความเร็วต้องสามารถหยุดรถได้ทัน หรือหากหยุดไม่ทันลักษณะการชนต้องไม่รุนแรงอย่างผลที่เกิดเหตุเช่นนี้ การที่โจทก์ขับรถผ่านถนนที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเขตชุมชนมีป้ายเตือนให้ลดความเร็ว บริเวณข้างทางมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัย มีผู้คนสัญจรผ่านไปมา จึงต้องระมัดระวังลดความเร็วลง พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์รับฟังได้ว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ด้วย มิใช่จำเลยประมาทเพียงฝ่ายเดียว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยมีส่วนประมาทในการก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโจทก์ จำเลยไม่อุทธรณ์ข้อเท็จจริงนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รับฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 223, ม. 442
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที