Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 420 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 420” คืออะไร? 


“มาตรา 420” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 420 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น “

จากทนายความ > ทุกเรื่องที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับความประมาท: ความหมาย ผลทางกฎหมาย และวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น
 

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 420” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 420 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2794/2565
แม้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 11988/2561 ให้โจทก์ในฐานะนายจ้างชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดของลูกจ้างเป็นค่าขนส่งสินค้าไปกลับและค่าตรวจเช็กสภาพเครื่องให้แก่บริษัท อ. และให้จำเลยในฐานะผู้รับจ้าง บริษัท อ. ดำเนินการทางพิธีการศุลกากรนำสินค้าออกจากคลังสินค้าของโจทก์ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายดังกล่าวก็ตาม แต่ระหว่างโจทก์ผู้ทำการขนย้ายสินค้าออกจากคลังเก็บสินค้า กับจำเลยผู้รับจ้างให้ดำเนินการเกี่ยวกับการนำสินค้าเข้าผ่านพิธีการศุลกากรและนำสินค้าออกจากคลังสินค้าของโจทก์จะมีความรับผิดต่อกันหรือไม่อย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจำเลยมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า พนักงานขับรถยกของโจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียวเป็นเหตุให้ลังสินค้าพลิกตกกระแทกพื้นสินค้าได้รับความเสียหาย โดยจำเลยมิได้มีส่วนกระทำโดยประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 ที่บัญญัติให้ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นดังที่โจทก์ฎีกานั้น จะบังคับแก่กรณีนี้ได้ต่อเมื่อลูกหนี้ร่วมแต่ละคนจะมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นเท่านั้น เมื่อจำเลยมิได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย แม้โจทก์ได้ชำระหนี้เต็มจำนวนที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลย โจทก์ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยให้จำเลยชำระเงินกึ่งหนึ่งของจำนวนที่โจทก์ชำระได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 226, ม. 229, ม. 296, ม. 420, ม. 425


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6234/2564
ตามบทบัญญัติมาตรา 50, 54 วรรคหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 17, 45 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และมาตรา 4 นิยามศัพท์ “การศึกษาภาคบังคับ” “สถานศึกษา” “เด็ก” แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 เป็นบทบังคับให้ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยมีหน้าที่เข้ารับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นหน้าที่ของรัฐจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายบัญญัติ เริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียน คือ ชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 จนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำเลยที่ 1 เปิดสอนการศึกษาภาคบังคับจึงเป็นสถานศึกษาตามนิยามศัพท์แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ โดยไม่คำนึงว่าเป็นโรงเรียนเอกชนหรือรัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จัดการศึกษาภาคบังคับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แม้มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ ยังไม่ได้แก้ไขกำหนดอายุของเด็กก่อนวัยเรียนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่จำนวนชั้นปีที่ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายทั้งสองฉบับสอดคล้องกับอายุเด็กซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก แสดงว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ว่าเป็นการจัดการศึกษาโดยรัฐหรือเอกชนต้องทำอย่างต่อเนื่อง จะให้ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่ได้ ซึ่งมูลเหตุที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เกิดจากความผิดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการบริหารของโรงเรียนแสดงเจตนาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สิ้นสภาพการเป็นนักเรียนมีผลเป็นการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยปราศจากอำนาจตามตราสารจัดตั้งนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 และเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการศึกษาจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริโภค ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนจึงเป็นผู้แทนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 4 ผู้อำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำทะเบียนนักเรียนกับปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามตราสารจัดตั้งของโรงเรียนตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ มาตรา 39 (4) (6) แต่กลับทำผิดหน้าที่จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 432
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 427, ม. 432, ม. 1167
พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ม. 17, ม. 45
พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ม. 24, ม. 39 (4), ม. 39 (6)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6010/2564
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น ข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ศาลในคดีแพ่งจำต้องถือตามจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำแถลงของจำเลยที่ 3 ว่า ในคดีอาญาดังกล่าว โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ ตามสำเนาคำสั่งศาลอุทธรณ์และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ท้ายคำแถลง เมื่อคดีอาญาในส่วนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้จำหน่ายคดีไปโดยไม่ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ย่อมไม่มีข้อเท็จจริงอันถึงที่สุดในคดีอาญาที่ศาลในคดีนี้จำต้องถือตาม การวินิจฉัยพยานหลักฐานในคดีนี้ย่อมเป็นไปตามที่คู่ความนำสืบ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420
ป.วิ.อ. ม. 39 (2), ม. 46
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 4
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที