คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2543

พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2493 ม. 57 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496 ม. 7

แม้ผู้คัดค้านจะไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าผู้ร้องมิได้มีสัญชาติไทยแต่ภาระการพิสูจน์ในเรื่องนี้ย่อมตกแก่ผู้ร้องที่ต้องนำสืบให้ศาลเชื่อได้ว่าผู้ร้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิดในประเทศไทย เมื่อปรากฏว่าสูติบัตรที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นของผู้ร้องมิได้อยู่ที่ผู้ร้อง แต่เป็นเอกสารที่นายทะเบียนท้องถิ่นรับรองสำเนาถูกต้องเนื่องจากผู้ร้องไปขอคัดมา แสดงว่าพยานหลักฐานดังกล่าวผู้ร้องมาแสวงหาจากในประเทศไทยเท่านั้น ผู้ร้องไม่ได้แสดงสำเนาทะเบียนบ้านที่อ้างว่าได้ไปค้นแต่ไม่พบซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงไม่พบสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว และผู้ร้องไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานที่แสดงการเรียนในโรงเรียนหลายแห่งที่อ้างถึง ส่วนภาพถ่ายที่อ้างว่าถ่ายเมื่ออายุ 13 ปีนั้น ก็ไม่มีการนำสืบทางนิติเวชให้น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกัน พยานของผู้ร้องคงมีแต่พยานบุคคลทั้งสิ้น ซึ่งต่างไม่ได้พบผู้ร้องมาเป็นเวลานานและเบิกความถึงข้อเท็จจริงในรายละเอียดที่แตกต่างกันและขัดกันหลายประเด็น ดังนั้นพยานหลักฐานของผู้ร้องจึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้เกิดในประเทศ ผู้ร้องจึงไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 587 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสอง, 249 วรรคหนึ่ง

คำให้การของจำเลยที่ 2 ที่อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าไม่ทราบและไม่รับรองว่า ป. เป็นผู้ตกลงว่าจ้างโจทก์ด้วยตนเองหรือไม่ และตกลงค่าจ้างเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอว่า ป. ไม่ได้ติดต่อว่าจ้างโจทก์ด้วยตนเองโดยให้ค่าจ้างว่าความ 6,000,000 บาท ถือได้ว่าเป็นคำให้การไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ย่อมไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี

ป. ตกลงว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความโดยตกลงค่าจ้างว่าความ 6,000,000 บาท ภายหลังจากโจทก์ตกลงรับจ้างว่าความให้แก่ ป. โจทก์สอบถามข้อเท็จจริงจาก ป. ทางโทรศัพท์ อีกประมาณ 10 วัน โจทก์เรียงคำให้การเสร็จและนำใบแต่งทนายไปให้ ป. ลงชื่อนำไปยื่นต่อศาล ต่อมาโจทก์ทราบว่าคู่ความได้ตกลงประนีประนอมยอมความกันแล้ว ผลงานที่โจทก์กระทำให้ ป. มีอยู่ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองคำนวณผลงานดังกล่าวและกำหนดค่าจ้างว่าความให้โจทก์ 200,000 บาท จึงเหมาะสมแก่รูปคดี

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาโดยไม่กำหนดดอกเบี้ยให้ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบอย่างไร คงมีแต่คำขอในอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 จ่ายดอกเบี้ยด้วยเท่านั้น ถือได้ว่าโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์เรื่องดอกเบี้ยและปัญหานี้ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ฎีกาโจทก์เรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2178

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2178/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 261

การที่ศาลชั้นต้นมีหมายห้ามชั่วคราวตามคำร้องขอของโจทก์ในคดีเดิมมิให้จำเลยในคดีดังกล่าวเก็บค่าเช่าอาคารสิ่งปลูกสร้าง หาบเร่ แพงลอยบนที่ดินตลาดพิพาท และห้ามเกี่ยวข้องกับที่พิพาท ในคดีดังกล่าว โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นบุคคลภายนอกซึ่งอ้างว่าจะต้องเสียหายเพราะหมายห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้นประสงค์จะขอให้ศาลถอนหมายห้ามชั่วคราวก็ต้องยื่นคำร้องขอในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 261 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้หมายห้ามชั่วคราวดังกล่าวไม่มีผลบังคับเป็นคดีใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2177

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2177/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 18, 254, 261

ป.วิ.พ. มาตรา 261 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "จำเลยหรือบุคคลภายนอกซึ่งได้รับหมายยึด หมายอายัดหรือคำสั่งตามมาตรา 254 (1) (2) หรือ (3) หรือจะต้องเสียหายเพราะหมายยึด หมายอายัด หรือคำสั่งดังกล่าว อาจมีคำขอต่อศาลให้ถอนหมาย เพิกถอนคำสั่งหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง หมายยึด หรือหมายอายัด ซึ่งออกตามคำสั่งดังกล่าวได้?" การที่ศาลชั้นต้นมีหมายห้ามชั่วคราวถึง ภ. จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งเดิม หากโจทก์ทั้งยี่สิบสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เห็นว่าจะต้องเสียหายเพราะหมายห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้น และประสงค์จะขอให้ศาลเพิกถอนหมายห้ามชั่วคราวดังกล่าวก็ชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งฯได้ในคดีแพ่งเดิม ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 261 วรรคหนึ่ง จะมาฟ้องให้เพิกถอนคำสั่ง ฯ เป็นคดีใหม่หาได้ไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2176

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2176/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 32 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 192 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89, 116

โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 วรรคสอง เพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 540 เม็ด น้ำหนัก 45.679 กรัม ซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 5.643 กรัม อันเป็นจำนวนเกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดไว้ในครอบครองของจำเลยโดยไม่ได้ใบอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องไว้ในครอบครองเพื่อขาย อันเป็นการขายเมทแอมเฟตามีนตามความหมายของพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 4 ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่งโจทก์บรรยายฟ้องต่อมาในข้อ 2 ว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขายตามฟ้องข้อ 1 เป็นของกลางเป็นเพียงขยายความเมทแอมเฟตามีนที่ถูกยึดเป็นของกลางเท่านั้น ไม่ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย และแม้จะอ้างบทมาตราเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายมาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายได้เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่กล่าวมาในฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ศาลฎีกายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายจึงไม่อาจริบเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯมาตรา 116 ได้ แต่การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเป็นความผิดจึงให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2109

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2109/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 797, 820, 900

ตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันของจำเลย ระบุเงื่อนไขในการสั่งจ่ายและถอนเงินจากบัญชีว่าเมื่อจะสั่งจ่ายหรือถอนเงินให้ใช้เช็คซึ่งธนาคารมอบให้ไว้สำหรับแต่ละบัญชีโดยเฉพาะ จำเลยให้ตัวอย่างลายมือชื่อต่อธนาคารว่าจำเลยหรือ ผ. คนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินในเช็คได้โดยจำเลยในฐานะผู้มอบอำนาจได้ทำหนังสือมอบหมายให้ลงชื่อสั่งจ่ายเงินในเช็ค ระบุให้ ผ. เป็นผู้มีอำนาจกระทำการทั้งปวงเกี่ยวกับดำเนินบัญชีแทนจำเลย เช่น ฝาก ถอน ออกเช็ค ฯลฯ โดยจำเลยยินยอมรับผิดชอบตามที่ ผ. จะได้กระทำไปและยินยอมรับผิดชดใช้ให้แก่ธนาคารเสมือนหนึ่งจำเลยได้กระทำไปด้วยตนเอง จึงเป็นการมอบอำนาจให้ ผ. เป็นตัวแทนลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินในเช็คจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยแทนจำเลยได้ เช็คพิพาทเป็นเช็คสำหรับบัญชีกระแสรายวันของจำเลย การที่ ผ. ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท จึงอยู่ในขอบอำนาจของตัวแทนตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลย ไม่ว่า ผ. จะนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย หรือส่งมอบเช็คพิพาทให้แก่บุคคลอื่นเพื่อเรียกเก็บเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย ก็เป็นการกระทำการภายในขอบอำนาจที่จำเลยมอบอำนาจไว้ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยในฐานะตัวการรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทที่ ผ. ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในฐานะตัวแทนของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797,820

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ม. 102 (3 ทวิ, 127 ทวิ

การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุก จำเลยย่อมมีความผิดฐาน เสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานเป็นผู้ประจำรถเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็น ผู้ประจำรถ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 เนื่องจากในวันที่จำเลยกระทำความผิดนั้น พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. การขนส่งทางบก (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2542 มาตรา 6 ใช้บังคับแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 151, 152, 155, 194, 349, 351, 1102, 1113, 1108 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 วรรคหนึ่ง, 142 (2)

ตามสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล แต่อยู่ระหว่างการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ซึ่งผู้เริ่มก่อการสามารถดำเนินการก่อหนี้หรือทำสัญญาใด ๆ ได้ยกเว้นกรณีตาม มาตรา 1102 และเมื่อจดทะเบียนบริษัทเสร็จจนมีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว โจทก์ก็ยอมรับผลแห่งสัญญาโดยเข้าทำงานจนเสร็จ จึงเป็นการให้สัตยาบันแก่สัญญาที่ผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ตามมาตรา 1108 (2) สัญญาดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ ขณะเดียวกันสัญญาที่ทำขึ้นก็ไม่ใช่นิติกรรมอำพราง เพราะสัญญาทำขึ้นตรงกับเจตนาของคู่กรณี แม้ตอนแรกโจทก์จะใช้ชื่อจำเลยเป็นตัวแทนในการประมูลงานและทำสัญญาดังกล่าวต่อกรมทรัพยากรธรณี แต่ต่อมาโจทก์จำเลยประสงค์จะแปลงหนี้ใหม่เปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญจากการใช้ชื่อแทนหรือจากตัวการตัวแทนมาเป็นผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์และจำเลยต่างยอมรับเอาข้อกำหนดตามสัญญารับจ้างดังกล่าวปฏิบัติต่อกันตลอดมา เป็นต้นว่า การทวงถามให้ชำระหนี้และปฏิบัติการชำระหนี้อันมีลักษณะทำนองเดียวกันกับข้อกำหนดในแบบสัญญาจ้างระหว่างกรมทรัพยากรธรณีกับจำเลย สัญญารับจ้างดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ในรูปของการที่ได้แปลงหนี้มาใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และมาตรา 351 โดยอนุโลม

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) บัญญัติว่า "ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้" อันถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 142 วรรคหนึ่ง ที่ว่าศาลต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ดังนั้น ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ซึ่งลูกหนี้หรือจำเลยอาจจะยังคงค้างชำระอยู่บางส่วน เจ้าหนี้หรือโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ตามมูลหนี้ที่ยังค้างอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 ได้ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัย และพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 265, 268, 342 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185, 192, 185, 192

แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 ลงในบัตรเครดิตของผู้เสียหายที่ 2 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายที่ 2 ลงในใบสั่งซื้อสินค้า (ใบเซ็นชื่อ) แล้วใช้แสดงใบสินค้าต่อพนักงานขายสินค้าของผู้เสียหายที่ 3 โดยแสดงตนเป็นคนอื่นนั้น ย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 และฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นตามมาตรา 342 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2134

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2134/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

แม้ว่าโจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะจำเลยและพวกฆ่าผู้ตายแต่โจทก์มีพยานแวดล้อมเห็นเหตุการณ์ใกล้ชิดก่อนผู้ตายถูกยิงจนถึงแก่ความตายโดยเห็นจำเลยและพวกโต้เถียงกับผู้ตายและชักอาวุธปืนจ้องจะยิงผู้ตาย เมื่อผู้ตายวิ่งหนี จำเลยและพวกถืออาวุธปืนวิ่งไล่ตามผู้ตายไปทันทีแล้วมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัดหลังจากนั้นประมาณ 2 นาที ก็ดังขึ้นอีก 2 นัด ระยะเวลาที่จำเลยและพวกถืออาวุธปืนวิ่งไล่ตามผู้ตายไปจนมีเสียงปืนดังขึ้นรวม 3 นัด ดังกล่าวเป็นช่วงเวลาไม่นานซึ่งไม่พอที่จะทำให้ระแวงสงสัยได้ว่าจะมีผู้อื่นเข้ามาฆ่าผู้ตายในช่วงเวลานั้น จึงเชื่อได้ว่าต้องเป็นจำเลยและพวกอย่างแน่แท้ที่ฆ่าผู้ตาย ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจก็ตรวจพบมีดอีโต้ที่พวกจำเลยถือไปและรองเท้าแตะเปื้อนเลือด 1 ข้าง ของพวกจำเลยตกอยู่ในที่เกิดเหตุพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักแน่นแฟ้นฟังได้ว่า จำเลยและพวกร่วมกันฆ่าผู้ตาย

« »
ติดต่อเราทาง LINE