คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2134/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
แม้ว่าโจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะจำเลยและพวกฆ่าผู้ตายแต่โจทก์มีพยานแวดล้อมเห็นเหตุการณ์ใกล้ชิดก่อนผู้ตายถูกยิงจนถึงแก่ความตายโดยเห็นจำเลยและพวกโต้เถียงกับผู้ตายและชักอาวุธปืนจ้องจะยิงผู้ตาย เมื่อผู้ตายวิ่งหนี จำเลยและพวกถืออาวุธปืนวิ่งไล่ตามผู้ตายไปทันทีแล้วมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัดหลังจากนั้นประมาณ 2 นาที ก็ดังขึ้นอีก 2 นัด ระยะเวลาที่จำเลยและพวกถืออาวุธปืนวิ่งไล่ตามผู้ตายไปจนมีเสียงปืนดังขึ้นรวม 3 นัด ดังกล่าวเป็นช่วงเวลาไม่นานซึ่งไม่พอที่จะทำให้ระแวงสงสัยได้ว่าจะมีผู้อื่นเข้ามาฆ่าผู้ตายในช่วงเวลานั้น จึงเชื่อได้ว่าต้องเป็นจำเลยและพวกอย่างแน่แท้ที่ฆ่าผู้ตาย ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจก็ตรวจพบมีดอีโต้ที่พวกจำเลยถือไปและรองเท้าแตะเปื้อนเลือด 1 ข้าง ของพวกจำเลยตกอยู่ในที่เกิดเหตุพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักแน่นแฟ้นฟังได้ว่า จำเลยและพวกร่วมกันฆ่าผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2112/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษและแก้เฉพาะเรื่องของกลางจากไม่ริบเป็นริบรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงของกลางอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.วิ.อ. ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและไม่ริบรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงของกลางอันเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 867, 880
ผู้รับประกันภัยรับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายในการขนส่งอุปกรณ์ไฟฟ้า เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่เอาประกันภัยเสียหายและผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิที่จะฟ้องผู้ทำละเมิดและจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนของผู้ทำละเมิดได้แม้กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยจะลงลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลไม่ถูกต้องตามตราสารข้อบังคับ ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาประกันภัย จำเลยร่วมหาอาจยกมาเป็นเหตุให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2080/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 728
ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยแล้ว แม้ต่อมาโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในส่วนหนี้ที่จำเลยค้างชำระ ทำให้ยอดหนี้ใหม่มีจำนวนสูงกว่าที่ปรากฏในหนังสือที่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองก็ตาม แต่จำนวนหนี้ที่ระบุในหนังสือดังกล่าวนั้นมิใช่ข้อสาระสำคัญ โจทก์จึงไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองในหนี้ส่วนที่เพิ่มขึ้นอีกแต่อย่างใด เพราะหนี้จำนวนดังกล่าวก็เป็นหนี้ที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์นั่นเอง ถือได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองก่อนฟ้องคดีโดยชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 321, 850 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 138 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 121 (1) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ หรือจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น แม้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 จะกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้แตกต่างกันและเป็นกฎหมายต่างฉบับกันก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างในการได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายจ้างเช่นเดียวกันสำหรับกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือศาลแรงงานไม่เห็นสมควรให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานอีก
การที่โจทก์นำสาเหตุจากการที่จำเลยเลิกจ้าง ไปยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์และต่อมาโจทก์ได้นำเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวไปฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน อีกจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งชำระเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แล้วโจทก์กับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมชำระเงิน 147,820 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์ตกลงรับเงินดังกล่าวและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายและเงินอื่นใดจากจำเลยอีกศาลแรงงานมีคำพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมหมายความว่าโจทก์พอใจจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยชำระตอบแทนในการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว ซึ่งรวมทั้งโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์ด้วย แม้ภายหลังจากที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันแล้ว คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะวินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ก็ตาม
เมื่อค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลแรงงาน ต่างมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างของจำเลยเดียวกัน ค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวย่อมอยู่ในความหมายของข้อความว่าค่าเสียหายและเงินอื่นใดที่โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลย ที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั่นเอง ค่าเสียหายที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยชำระแก่โจทก์ย่อมเป็นอันระงับสิ้นไปก่อนแล้วโดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโจทก์จึงไม่อาจนำมาฟ้องให้จำเลยรับผิดได้อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2156/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192, 215
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นความผิดและตามบทกฎหมายที่กำหนดโทษไว้ การที่ศาลอุทธรณ์ยกข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งจำเลยทราบแล้วไม่ได้โต้เถียงหรือคัดค้านมากล่าวในคำพิพากษาประกอบการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการร้ายแรงหรือไม่เพียงใด เพื่อที่ศาลอุทธรณ์จะได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าสมควรจะลงโทษหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลย หาใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวมาในฟ้องไม่
ความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ฐานมีโทรศัพท์มือถืออันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 23 และความผิดฐานจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมตามมาตรา 26 มีองค์ประกอบความผิดต่างกัน กล่าวคือความผิดตามมาตรา 23 เป็นความผิดเพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตส่วนความผิดมาตรา 26 เป็นความผิดเพราะจำเลยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม แม้จำเลยจะมีโทรศัพท์มือถือโดยได้รับหรือไม่ได้รับอนุญาตก็ตามหากจำเลยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมแล้วการกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตาม มาตรา 26 ซึ่งเป็นความผิด 2 กรรม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระเป็น 2 กรรม ชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2110/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5)
บิดาโจทก์อนุญาตให้บิดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ใช้ที่พิพาทสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ประมาณปี 2487 จนกระทั่งบิดาโจทก์ถึงแก่ความตายในปี 2517 และเมื่อบิดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9ถึงแก่ความตายในปี 2520 โจทก์ก็ยังอนุญาตให้จำเลยที่ 1 สอนศาสนาในที่พิพาทต่อไป เป็นการที่บิดาโจทก์และโจทก์อุทิศที่พิพาทให้ใช้เป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามตามหลักของศาสนาอิสลามทำให้ผู้ใดจะยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทไม่ได้ ที่พิพาทจึงเป็นที่ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ของชาวมุสลิมและตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทันทีที่บิดาโจทก์อุทิศให้ โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1490
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 3 สามีของจำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอม ซึ่งมีข้อความว่าตนยินยอมให้จำเลยที่ 1ทำนิติกรรมทุกอย่างกับโจทก์ได้ ดังนี้ ถือว่าจำเลยที่ 3 ร่วมรับรู้หนี้ที่จำเลยที่ 1ก่อให้เกิดขึ้นและให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าว จึงเป็นหนี้ร่วมซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2106/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 วรรคหนึ่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บังคับให้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ โดยมิได้บังคับว่าต้องระบุชื่อผู้ให้กู้และผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อด้วย จำเลยเป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้เงินและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้กับได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์แล้ว แต่สัญญากู้เงินได้เว้นช่องผู้ให้กู้และกำหนดเวลาชำระเงินคืนไว้ เมื่อโจทก์เป็นผู้ให้กู้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะลงชื่อเพื่อเป็นหลักฐานในการนำคดีมาฟ้องร้องได้ ส่วนการที่โจทก์กรอกข้อความกำหนดชำระเงินคืนนั้น ข้อความดังกล่าวจะระบุไว้หรือไม่ก็ตาม ก็หามีผลให้หลักฐานการฟ้องร้องที่สมบูรณ์อยู่แล้วและบังคับแก่จำเลยได้เสียไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2095/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 67, 179 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17, 29
คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นการเพิ่มเติมชื่อโจทก์ที่จะต้องระบุไว้แน่ชัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 เข้ามาในภายหลัง จึงเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เป็นโจทก์เข้ามาในคำฟ้องเดิม มิใช่เป็นเรื่องขอแก้ไขคำฟ้องตามนัยบทกฎหมายดังกล่าว คำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลแต่อย่างใด เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าโจทก์เป็นคณะบุคคลตามกฎหมายใช้ชื่อว่า "คณะบุคคลกำชัย-มณฑา" ซึ่งเป็นเพียงคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รวมกันเป็นหน่วยภาษีตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น มิใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์จึงมิใช่บุคคลธรรมดาและมิใช่นิติบุคคลอันอาจเป็นคู่ความในคดีได้