คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33
จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกมีน้ำหนักบรรทุกรวมทั้งน้ำหนักรถเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดถึง 13,150 กิโลกรัม โดยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาพทางหลวงของแผ่นดิน ซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวมและมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน และทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงอันตรายจากสภาพถนนที่ง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายที่เกิดจากสภาพของรถยนต์ที่มีน้ำหนักบรรทุกเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับขี่จะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัย รถยนต์บรรทุกซึ่งใช้ในการกระทำความผิดจึงเป็นทรัพย์ที่สมควรต้องริบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 2083/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 31 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15
คำสั่งศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยฐานะละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228(1)ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยจึงไม่จำต้องขออนุญาตผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
คดีนี้ในชั้นไต่สวนของศาลชั้นต้น ผู้ถูกกล่าวหาได้ให้การรับสารภาพโดยไม่มีข้อต่อสู้เป็นอย่างอื่น คดีต้องฟังตามคำรับสารภาพของผู้ถูกกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาพาอาวุธปืนติดตัวมาในบริเวณศาล อันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล จึงเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามที่ถูกกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้ เพราะไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2030/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 369
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทของกรมศาสนาจากจำเลยโดยตามสัญญาข้อ 3 ระบุว่า "ค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายทั้งหมด ? และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการโอน ผู้จะขายเป็นฝ่ายออกทั้งสิ้น" สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน เพราะโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระเงินสิทธิการเช่าให้แก่จำเลย จำเลยก็มีหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ เมื่อถึงวันนัดโอนโจทก์เสนอขอชำระหนี้แก่จำเลยครบถ้วนตามสัญญาด้วยการเตรียมเงินและแคชเชียร์เช็คตามที่ตกลง จำเลยจึงต้องเสนอชำระหนี้ตอบแทนโจทก์ การที่จำเลยจะขอชำระค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิการเช่าของกรมการศาสนาบางส่วนแต่ปฏิเสธไม่ยอมรับผิดชำระค่าธรรมเนียม การจดทะเบียนการเช่าของกรมที่ดินให้ครบถ้วนตามสัญญา ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/14, 193/32 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271
แม้โจทก์บังคับคดีแก่ที่ดินของจำเลยที่ 4 โดยนำออกขายทอดตลาดและขอเฉลี่ยเงินที่ขายทรัพย์ของจำเลยที่ 4 ในคดีอื่นได้เงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์บางส่วนแล้ว โจทก์ก็ต้องขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งหกเพิ่มเติมเพื่อบังคับชำระหนี้ส่วนที่เหลือภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ทั้งการที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วมาเป็นมูลฟ้องให้จำเลยทั้งหกล้มละลายมีอายุความ 10 ปีและการบังคับคดีดังกล่าวไม่ใช่การกระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาขาดอายุความแล้วโจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยทั้งหกล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1015 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (11), 67, 142 (5), 179, 246 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17, 29
การแก้ไขคำฟ้องนั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและ วิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากรพ.ศ. 2539 มิได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 17
การแก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179 จะต้องเป็นการแก้ไขข้อหาข้ออ้างที่มีต่อจำเลยอันกล่าวไว้ในคำฟ้องที่เสนอต่อศาลแต่แรก โดยการเพิ่มหรือลดทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์
คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ขอแก้ไขคำฟ้องจากชื่อโจทก์ว่า "คณะบุคคลบังอร-พงศ์วิทย์โดยนางบังอรลำยองเสถียร ผู้จัดการคณะบุคคล" เป็น "คณะบุคคล บังอร-พงศ์วิทย์โดยนางบังอรลำยองเสถียรผู้จัดการคณะบุคคลในฐานะส่วนตัว และในฐานะผู้รับมอบอำนาจของนายพงศ์วิทย์พนาพิศาล" และขอแก้ไขข้อความในคำฟ้องเดิมเพิ่มเติมว่า"ในการยื่นฟ้องนี้นางบังอรกระทำในฐานะผู้จัดการคณะบุคคล ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจของนายพงศ์วิทย์ด้วยโดยนายพงศ์วิทย์มอบอำนาจให้นางบังอรเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน" เป็นการเพิ่มเติมชื่อโจทก์ที่จะต้องระบุไว้แน่ชัดตามมาตรา 67 เข้ามาในภายหลังจึงเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เป็นโจทก์เข้ามาในคำฟ้องเดิม มิใช่เป็นเรื่องขอแก้ไขคำฟ้อง การที่ศาลภาษีอากรมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผล
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 มิได้บัญญัติถึงผู้ที่จะเป็นคู่ความไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตาม มาตรา 1(11)"คู่ความ" หมายความว่า บุคคลผู้อื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล และคำว่า บุคคล นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล คณะบุคคลบังอร-พงศ์วิทย์ โจทก์ เป็นเพียงคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รวมกันเป็นหน่วยภาษีตาม ประมวลรัษฎากรมีหน้าที่ยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมิน เพื่อเสียภาษีเสมือนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียว โดยบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินของ คณะบุคคลนั้นเพื่อเสียภาษีอีก เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการจดทะเบียน ตาม บทบัญญัติแห่งลักษณะ 22 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1015โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่านางบังอรและนายพงศ์วิทย์ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว ผู้เป็นโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่บุคคลธรรมดาด้วยเช่นกัน จึงไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 18 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17
คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางที่ให้โจทก์ทำคำฟ้องใหม่ซึ่งไม่ปรากฏว่าศาลตรวจพบคำฟ้องของโจทก์ว่ามีข้อบกพร่องตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 บัญญัติไว้ศาลจึงต้องจดแจ้งแสดงการรับคำคู่ความนั้นไว้ ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์ทำคำฟ้องใหม่โดยไม่ปรากฏเหตุดังกล่าวและมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ ต่อมาจึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2543
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่มีข้อความระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าการพิจารณาขึ้นค่าจ้างตามข้อตกลง ให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างใช้ดุลพินิจพิจารณาขึ้นค่าจ้างให้แก่พนักงานลูกจ้างของจำเลยตามสภาพความเป็นจริงได้ จำเลยจึงไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ และแม้ข้อตกลงจะใช้ถ้อยคำว่า "จะได้รับการพิจารณาขึ้นค่าจ้างปีละ 2 ครั้ง" ก็ตาม ถ้อยคำดังกล่าวก็มีความหมายว่าจำเลยจะต้องพิจารณาว่าลูกจ้างคนใดมีผลงานประเมินอย่างไร อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการขึ้นค่าจ้างหรือไม่ หากอยู่ในเกณฑ์ ได้รับการขึ้นค่าจ้างค่าจ้างที่ปรับขึ้นเป็นจำนวนเท่าใดเท่านั้น มิใช่เป็นการให้อำนาจแก่จำเลยที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาขึ้นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1999/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 247 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ม. 18, 21 วรรคสอง, 25, 26 วรรคหนึ่ง
สิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ไม่ถูกต้อง และสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลว่าคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25ไม่ถูกต้อง เป็นสิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 เท่านั้นเมื่อการเวนคืนที่ดินของโจทก์คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯไม่ได้มีมติว่าที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฎีกาขอให้เอาราคาที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งมีราคาสูงขึ้นมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเพราะเป็นการฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของฝ่ายตนเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1863/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 83, 340
รถคู่กรณีทั้งสองคันจอดติดสัญญาณไฟจราจรสีแดง แต่จำเลยที่ 1กลับขับรถชนท้ายรถผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายลงจากรถมาเจรจา ต่อมาผู้เสียหายเผลอ จำเลยที่ 2 ขึ้นรถของผู้เสียหายจะขับหลบหนีไป เมื่อผู้เสียหายได้ร้องห้าม กลับขับรถพุ่งเข้าใส่ผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งให้จำเลยที่ 2นำรถของผู้เสียหายไป เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถของผู้เสียหายได้ห่างจากที่เกิดเหตุหลายร้อยเมตร จึงเป็นการเอาทรัพย์ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้มือตีแขนและคอของผู้เสียหายขณะผู้เสียหายพยายามจะหยุดรถที่จำเลยที่ 1 ขับตามจำเลยที่ 2ไป เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อให้ความสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไป จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์
จำเลยที่ 3 นั่งรถมากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตั้งแต่ต้น ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 อยู่ด้วยตลอดเวลา แสดงว่าจำเลยที่ 3 ทราบการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาโดยตลอด และหลังเกิดเหตุก็หลบหนีไปด้วยกันเชื่อว่ามีการวางแผนร่วมกันมาก่อน และเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ พฤติการณ์เช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับพวก จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2070/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 19 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497
การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้น การออกเช็คในท้องที่ใดย่อมถือได้ว่า การกระทำความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กระทำลงในท้องที่นั้นต่อเนื่องกับการกระทำความผิดในท้องที่ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแห่งที่ที่จำเลยออกเช็คและพนักงานสอบสวนดังกล่าวทำการสอบสวนแล้ว คดีจึงมีการสอบสวนโดยชอบ