คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3172

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3172/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 291 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 284, 289

คำพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมโดยจำกัดความผิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไว้ โจทก์จึงมีสิทธิบังคับให้จำเลย คนใดคนหนึ่งชำระหนี้โดยสิ้นเชิงภายในวงเงินที่ต้องรับผิดหรือแต่โดยส่วน ก็ได้ตามแต่จะเลือก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะ ร้องขอให้บังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งเจ็ดให้เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดี และ ค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ขอยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 เพิ่มเติม ซึ่งไม่ติดจำนองโจทก์ แต่ติดจำนองผู้ร้อง และศาลชั้นต้นอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินการขายทรัพย์ที่ติดจำนองให้ครบถ้วนก่อน หากได้เงินจำนวนเพียงพอที่จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป โจทก์ต้องถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 โดยเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย จึงไม่เป็นการนำยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3171

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3171/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินให้จำเลย แต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยภายในกำหนดได้เนื่องจากขัดข้องเรื่องเอกสาร จึงขอขยายระยะเวลา หลังจากที่มีการขอขยายระยะเวลาแล้วโจทก์คืนมัดจำ 5,000,000 บาท แก่จำเลย โจทก์ได้เสนอให้จำเลยถือเงินสดของโจทก์ไว้ 3,000,000 บาท เป็นประกันว่าโจทก์สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตกลงจะซื้อจะขายแก่จำเลยได้หาไม่แล้วให้เงินดังกล่าวตกเป็นของจำเลย แต่หากโจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้วเสร็จก็ให้จำเลยถือปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมพร้อมกับคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ แสดงว่าการที่โจทก์มอบเงินจำนวนนี้แก่จำเลยสืบเนื่องมาจาก สัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกัน เพื่อให้การบังคับตามสัญญาเกิดผลในทางปฏิบัติมิได้มีเจตนาหรือประสงค์ให้เงินจำนวนนี้ เป็นการวางมัดจำหรือเป็นการชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้เกิดผลบังคับ เป็นสัญญาใหม่แทนสัญญาจะซื้อจะขายเดิมไม่ อีกทั้งโจทก์ผู้จะขายมอบเงินแก่จำเลยผู้จะซื้อเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาก็ไม่มีลักษณะ เป็นการวางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยฉบับเดิมตกเป็นโมฆะไปแล้วโจทก์กลับอุทธรณ์ว่าเงินจำนวนนี้เป็นการวางมัดจำ หรือเป็นการชำระหนี้บางส่วนเป็นคำเสนอสนอง สัญญาย่อมเกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้โจทก์สามารถฟ้องร้องบังคับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้อีก จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง และเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3170

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3170/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/8 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 119, 198 วรรคหนึ่ง

แม้ผู้ประกันจะผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตั้งแต่วันที่ 31กรกฎาคม 2541 และศาลชั้นต้นได้สั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกันไปแล้วแต่ในวันนัดพร้อมต่อมาผู้ประกันแถลงขอเลื่อนการส่งตัวจำเลยและศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาต ย่อมมีความหมายว่าในช่วงเวลาดังกล่าวศาลจะยังไม่บังคับผู้ประกันให้ชำระค่าปรับตามสัญญาประกันและเป็นที่เข้าใจว่าหากผู้ประกันสามารถติดต่อตามจำเลยมาส่งศาลได้ ศาลชั้นต้นย่อมสั่งลดค่าปรับให้แก่ผู้ประกัน ต่อมาเมื่อถึงวันนัดพร้อมอีกครั้งในวันที่ 2 ธันวาคม 2541 ผู้ประกันก็ยังไม่สามารถติดตามจำเลยได้และขอเลื่อนการส่งตัวอีกครั้งหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและสั่งว่าถือว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกัน ให้บังคับตามสัญญาประกันโดยให้ชำระค่าปรับภายใน 1 เดือน แต่ในวันนัดพร้อมวันที่ 30 ธันวาคม 2541อันเป็นนัดสุดท้าย ผู้ประกันก็ยังมิได้ชำระค่าปรับแต่มาแถลงต่อศาลขอเลื่อนการส่งตัวจำเลยอีกซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตและให้ผู้ประกันชำระค่าปรับภายใน 30 วัน คำสั่งดังกล่าวมีความหมายว่าให้ผู้ประกันชำระค่าปรับตามสัญญาประกันภายใน 30 วันนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2541อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่ง ดังนั้น การอุทธรณ์ของผู้ประกันถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่ 30 ธันวาคม 2541 ที่ได้สั่งบังคับตามสัญญาประกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119

เมื่อผู้ประกันได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์2542 เนื่องจากวันที่ 30 และ 31 มกราคม 2542 เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดทำการงานตามปกติ อุทธรณ์ของผู้ประกันจึงมิได้ยื่นเกินกำหนด1 เดือน นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2541 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นสั่งบังคับตามสัญญาประกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3136

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3136/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 46 วรรคสาม, 225 วรรคสอง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31

ศาลรับฟังเอกสารภาษาต่างประเทศทั้งฉบับโดยโจทก์ไม่ได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทย เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมาย มิใช่ข้อเท็จจริง แต่เอกสารนั้นคู่ความส่งต่อศาลได้โดยไม่จำต้องทำคำแปลเป็นภาษาไทยยื่นต่อศาลเสมอไปนอกจากศาลสั่งให้ทำคำแปล เมื่อศาลมิได้สั่งให้ทำคำแปล ศาลย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้

แม้จำเลยมิได้ให้การถึงเงินสะสม 10,000 บาทว่าโจทก์มีสิทธิได้รับหรือไม่เพียงใด ซึ่งต้องถือว่าจำเลยรับว่าโจทก์มีสิทธิรับเงินสะสม 10,000 บาทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับเงินสะสมไปบ้างแล้ว การที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายเงินสะสมแก่โจทก์อีกโดยที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับย่อมไม่ชอบซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3131

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3131/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 887

สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยและจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัย ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการใช้ลากจูงหรือผลักดัน เว้นแต่รถที่ถูกลากจูงหรือถูกผลักดันได้ประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ด้วย การที่จำเลยที่ 2 นำรถที่เอาประกันภัยไปลากจูงรถพ่วงที่ไม่ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 3เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 3ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3122

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3122/2543

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49

โจทก์ทำงานแผนกเดียวกับ ธ. ต้องทำงานแทนกันในช่วงเวลาที่อีกคนหนึ่งไปพัก เมื่อ ธ. ไปพัก โจทก์คุมเครื่องจักรแทน ธ. โจทก์มีหน้าที่นำชิ้นงานออกจากเครื่องขัดแทน ธ. และตรวจสอบด้วยว่าชิ้นงานที่ออกมาได้ขนาดหรือไม่หากไม่ได้ขนาดก็ต้องปรับแต่งขัดใหม่ให้ได้ขนาด ดังนี้ ในช่วงที่ ธ. ไปพักต้องถือว่างานของ ธ. เป็นงานในหน้าที่โจทก์ด้วย โจทก์จึงต้องรับผิดในผลงานร่วมกับ ธ.

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุว่า "พนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจสุขุมรอบคอบ และด้วยความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ" เมื่อโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ควบคุมตรวจสอบให้รอบคอบจนชิ้นงานที่ทำไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลย ซึ่งจำเลยเคยเตือนโจทก์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนแล้ว โจทก์ยังมากระทำผิดในเรื่องเดียวกันอีก เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3121

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3121/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150, 850, 852 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31

จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2542 ซึ่งโจทก์ทราบการเลิกจ้างและไม่ไปทำงานตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์ไปทำหนังสือยินยอมการสละสิทธิเรียกร้องของโจทก์ หลังจากโจทก์ไม่ไปทำงานถึง 2 เดือนเศษ โจทก์จึงมีอิสระแก่ตน พ้นพันธะกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยโดยสิ้นเชิง การสละสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามเอกสารดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและไม่เป็นโมฆะ จึงมีผลใช้บังคับ

เอกสารฉบับพิพาทระบุว่า จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2542 โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ 169,600 บาท โจทก์ทราบแล้วตกลงรับเงินจำนวนดังกล่าวโดยจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดี เรียกค่าชดเชยหรือเงินใด ๆจากจำเลยอีก ซึ่งเงินใด ๆ ที่โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องอีกดังกล่าวนั้น ย่อมหมายถึงเงินทุกประเภท รวมทั้งค่าล่วงเวลาที่โจทก์อาจจะมีสิทธิได้รับจากจำเลยด้วย เมื่อการสละสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

บทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 มีความหมายว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวง ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงใดหรือไม่ พยานหลักฐานใดขัดต่อเหตุผลไม่น่ารับฟัง และในกรณีที่ศาลจะพิพากษาลงโทษบุคคลใด พยานหลักฐานในคดีนั้นต้องมั่นคงแน่นหนา และมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง หากพยานหลักฐานในสำนวนมีข้อพิรุธน่าระแวงสงสัยไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าหากพยานหลักฐานของโจทก์มีข้อแตกต่างขัดแย้งกันเอง หรือมีข้อน่าสงสัยบางประการแล้ว ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียทุกกรณีไป ข้อพิรุธน่าระแวงสงสัยอันจะเป็นเหตุให้ยกฟ้องโจทก์นั้นต้องเป็นข้อบกพร่องของพยานหลักฐานโจทก์ที่ทำให้น้ำหนักคำพยานเลื่อนลอยไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังเป็นความจริงได้โดยสนิทใจ ส่วนข้อแตกต่างขัดแย้งกันในกรณีอื่นที่ไม่มีผลต่อการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพยานหาเป็นข้อพิรุธอันจะเป็นเหตุให้ยกฟ้องโจทก์ไม่ ข้อแตกต่างผิดเพี้ยนกันในรายละเอียดปลีกย่อยอันเป็นพลความหรือข้อพิรุธที่ไม่เกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงที่มุ่งจะพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ย่อมไม่เป็นเหตุทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3117

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3117/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 119 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,

โจทก์อาศัยโอกาสที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยหลอกลวงเรียกรับผลประโยชน์จากผู้อื่นเพื่อให้ผู้นั้นได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของจำเลยทั้งได้ติดต่อทำเอกสารปลอมเพื่อใช้ในการสมัครงานของผู้อื่นด้วยเป็นการประพฤติชั่วประพฤติตนเป็นภัยต่อสังคมหรือจำเลยไม่รักษาเกียรติชื่อเสียง และกระทำผิดกฎหมาย เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3116

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3116/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

การขนเมทแอมเฟตามีนจำนวนมาก ผู้ขนจะต้องกระทำเป็นความลับไม่ให้บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็น เพราะความลับอาจรั่วไหลและถูกจับกุมได้การที่จำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางมากับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ต้นโดยเป็นผู้ขับรถยนต์ให้นั้นหากจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแล้ว จำเลยที่ 1 คงจะไม่ให้ร่วมเดินทางมาในยามวิกาลเช่นนั้น ทั้งก่อนจับกุมผู้ร่วมจับกุมสืบทราบหมายเลขทะเบียนของรถยนต์กระบะที่จะใช้เป็นพาหนะขนเมทแอมเฟตามีนล่วงหน้าแล้ว นอกจากนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะมาถึงด่านสกัดของเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 2 ได้เลี้ยวรถเพื่อหลบการตรวจค้นของเจ้าพนักงานตำรวจ จนรถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจไล่ตามทันและจับกุมได้ พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1

« »
ติดต่อเราทาง LINE