คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2543
พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2493 ม. 57 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496 ม. 7
แม้ผู้คัดค้านจะไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าผู้ร้องมิได้มีสัญชาติไทยแต่ภาระการพิสูจน์ในเรื่องนี้ย่อมตกแก่ผู้ร้องที่ต้องนำสืบให้ศาลเชื่อได้ว่าผู้ร้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิดในประเทศไทย เมื่อปรากฏว่าสูติบัตรที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นของผู้ร้องมิได้อยู่ที่ผู้ร้อง แต่เป็นเอกสารที่นายทะเบียนท้องถิ่นรับรองสำเนาถูกต้องเนื่องจากผู้ร้องไปขอคัดมา แสดงว่าพยานหลักฐานดังกล่าวผู้ร้องมาแสวงหาจากในประเทศไทยเท่านั้น ผู้ร้องไม่ได้แสดงสำเนาทะเบียนบ้านที่อ้างว่าได้ไปค้นแต่ไม่พบซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงไม่พบสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว และผู้ร้องไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานที่แสดงการเรียนในโรงเรียนหลายแห่งที่อ้างถึง ส่วนภาพถ่ายที่อ้างว่าถ่ายเมื่ออายุ 13 ปีนั้น ก็ไม่มีการนำสืบทางนิติเวชให้น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกัน พยานของผู้ร้องคงมีแต่พยานบุคคลทั้งสิ้น ซึ่งต่างไม่ได้พบผู้ร้องมาเป็นเวลานานและเบิกความถึงข้อเท็จจริงในรายละเอียดที่แตกต่างกันและขัดกันหลายประเด็น ดังนั้นพยานหลักฐานของผู้ร้องจึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้เกิดในประเทศ ผู้ร้องจึงไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักร
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทย และได้ยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นคนไทยต่อกองตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ แต่เจ้าพนักงานมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องจึงจำเป็นต้องร้องขอพิสูจน์สัญชาติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508มาตรา 7(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2535 (ฉบับที่ 2)มาตรา 4
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่คนสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทย แต่เป็นคนเชื้อชาติจีน สัญชาติจีน เกิดที่มณฑลไหหนาน(ไหหลำ) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีชื่อว่านายเจียม ต้าวซวง และมิใช่บุคคลคนเดียวกับเด็กชายพูนผล แซ่เจียม ตามสูติบัตรท้ายคำร้องหมายเลข 1 ผู้ร้องไม่เคยอยู่ในประเทศไทยเนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าถือหนังสือเดินทางของประเทศไทยและได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ร้องไม่เคยจบการศึกษาจากโรงเรียนในประเทศไทยไม่มีประกาศนียบัตรหรือใบสุทธิของโรงเรียนมาแสดงภาพถ่ายท้ายคำร้องหมายเลข 4ไม่ใช่ภาพถ่ายของนักเรียนและครูโรงเรียนซินหมินหรือโรงเรียนมีนประสาทวิทยาผู้ร้องไม่ใช่บุคคลที่ 1 ตามภาพถ่าย นายตุ่นกุ่ย แซ่เจียม และนางฮอนเหยงแซ่ลี มิใช่บิดามารดาของผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าผู้ร้องได้เดินทางโดยเครื่องบินเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม2535 โดยถือหนังสือเดินทางเลขที่ 1740444 ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในนามของนายเจียม ต้าวซวง เอกสารดังกล่าวระบุว่าผู้ร้องเกิดวันที่ 3 พฤศจิกายน 2484 ที่เมืองไหหลำตามเอกสารหมาย ร.13เจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองประเทศไทยอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาได้ชั่วคราวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนราธิวาส เพื่อเข้าบ้านเลขที่ 286 ถึง 288 ถนนภูผาภักดี ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาสจังหวัดนราธิวาส เจ้าพนักงานได้บันทึกถ้อยคำของผู้ร้องและพยานไว้ และให้สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเขตมีนบุรีสอบสวนบันทึกปากคำพยานบุคคลไว้ตามเอกสารหมาย ร.14 ถึง ร.19 นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนราธิวาสเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณากลับคืนสัญชาติไทยแก่ผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.22 แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสแจ้งว่าไม่อาจดำเนินการให้ได้ตามเอกสารหมาย ร.23 ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2535 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นคนไทยต่อกองตรวจคนเข้าเมือง กองตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมีสัญชาติไทย และกรมตำรวจขณะนั้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบแล้วตามเอกสารหมาย ร.28 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นคนมีสัญชาติไทยหรือไม่ ผู้ร้องเบิกความว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทยชื่อเด็กชายพูนผล แซ่เจียม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2482ที่บ้านเลขที่ 910 หมู่ที่ 1 ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ตามสูติบัตรเอกสารหมาย ร.1 บิดาชื่อนายตุ่นกุ่ย แซ่เจียม มารดาชื่อนางฮวนเย้ง แซ่ลี บิดามารดาของผู้ร้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยตามสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเอกสารหมาย ร.2 และ ร.3 ผู้ร้องมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน คือ นางเจียม ยิ่งหงหรือสมประสงค์ แซ่เจียมนายเจียม ต้าวเต๋อหรือเกยูร แซ่เจียม ผู้ร้อง นางเจียม หลิงยี้หรือวาสนา แซ่เจียมและนางเจียม หลีหมิงหรือไสว แซ่เจียม ผู้ร้องเข้าเรียนหนังสือเมื่อปี 2488 ที่โรงเรียนซินหมิน จังหวัดนราธิวาส บิดามารดาจึงตั้งชื่อจีนให้ว่า เจียม ต้าวซวงจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ปี 2489 บิดาผู้ร้องป่วยจึงเดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาลเทียนหัว กรุงเทพมหานคร เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้วผู้ร้องและนายเกยูรได้มาอาศัยอยู่กับปู่ที่เขตมีนบุรี ผู้ร้องได้เข้าเรียนที่โรงเรียนซินหมินจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และเรียนภาษาจีนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6โรงเรียนซินหมินต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมีนประสาทวิทยา เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในวันรับประกาศนียบัตรได้ถ่ายรูปไว้ตามภาพถ่ายหมาย ร.7 เมื่อปี 2496 ทางการได้เนรเทศมารดาผู้ร้องออกจากประเทศไทย มารดาผู้ร้องและปู่ของผู้ร้องจึงได้พาผู้ร้องและพี่น้องไปอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยทางเรือ ผู้ร้องได้เข้าเรียนหนังสือเมื่อปี 2497 ที่โรงเรียนกวางเจาหัวเฉียวปู่เชี่ยว ขณะนั้นอายุ 14 ปี เลยเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนดที่จะรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งกำหนดอายุ 12 ปีมารดาผู้ร้องจึงแจ้งว่าผู้ร้องเกิดวันที่ 3 พฤศจิกายน 2484 โดยลดอายุลงไป 2 ปี หลังจากนั้นผู้ร้องได้เรียนจนจบมหาวิทยาลัย เมื่อปี 2508 ตามประกาศนียบัตรเอกสารหมาย ร.13 เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านจะไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าผู้ร้องมิได้มีสัญชาติไทย แต่ภาระการพิสูจน์ในเรื่องนี้ย่อมตกแก่ผู้ร้องที่ต้องนำสืบให้ศาลเชื่อได้ว่าผู้ร้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิดในประเทศไทยแต่ปรากฏว่าสูติบัตรเอกสารหมาย ร.1 ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นของผู้ร้องก็มิได้อยู่ที่ผู้ร้องหรือมารดาผู้ร้องเก็บไว้ แต่เป็นเอกสารที่นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนราธิวาสรับรองสำเนาถูกต้องเนื่องจากผู้ร้องไปขอคัดมา เช่นเดียวกับสำเนาสูติบัตรของเด็กชายเกยูร แซ่เจียม และเด็กหญิงวาสนา แซ่เจียมตามเอกสารหมาย ร.4 และ ร.5 แสดงว่าพยานหลักฐานดังกล่าวผู้ร้องมาแสวงหาจากในประเทศไทยเท่านั้น สำเนาทะเบียนบ้านที่แจ้งย้ายชื่อของผู้ร้องและญาติพี่น้องเข้าอยู่ในบ้านเลขที่ 910 หมู่ที่ 1 ตำบลบางนาคอำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส หรือสำเนาทะเบียนบ้านที่ผู้ร้องได้ย้ายมาอยู่และเรียนหนังสือที่เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานครก็ไม่มีมาแสดงให้ปรากฏ ผู้ร้องให้การต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนราธิวาสในการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามเอกสารหมาย ร.14 ว่าในทะเบียนบ้านฉบับปี 2499 บ้านเลขที่ใหม่เลขที่ 20 ซอยจิตรปฏิมา ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ไม่ปรากฏชื่อผู้ร้องกับพวกแต่อย่างใด เพราะผู้ร้องกับพวกเดินทางกลับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนปี 2499เหตุใดทะเบียนบ้านที่ผู้ร้องเกิดไม่มี ไม่ปรากฏจากคำเบิกความของนางสวรัตน์วรินทร์เวช นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนราธิวาส ส่วนที่เขตมีนบุรีผู้ร้องมาอยู่ที่บ้านเลขที่ใดก็ไม่ปรากฏจากคำเบิกความของผู้ร้องเลย คงปรากฏจากคำเบิกความของนายพิศาล ธรรมหรรษา ว่าได้ไปค้นสำเนาทะเบียนบ้านให้ผู้ร้องแต่ไม่พบ ซึ่งก็ไม่ปรากฏเช่นกันว่าเหตุใด จึงไม่พบสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวเอกสารหลักฐานที่แสดงการเรียนที่จังหวัดนราธิวาสหรือที่โรงเรียนซินหมินที่เขตมีนบุรีก็ไม่มีเช่นกัน ผู้ร้องใช้เอกสารใดไปเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1ที่โรงเรียนกวางเจาหัวเฉียวปู่เชี่ยวไม่ปรากฏภาพถ่ายของผู้ร้องที่อ้างว่าถ่ายเมื่ออายุ 13 ปี ที่ร้านจิตรกรกับภาพถ่ายของผู้ร้องตามสำเนาหนังสือเดินทางเอกสารหมาย ร.13 ผู้ร้องก็ไม่นำสืบทางนิติเวชให้น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกันพยานของผู้ร้องคงมีแต่พยานบุคคลทั้งนั้น ผู้ร้องนำนางสุดใจ เจียมสกุลมาสืบว่านายตุ่นกุ่ย แซ่เจียม บิดาของผู้ร้องเป็นพี่ชายร่วมบิดาของนางสุดใจบิดานายตุ่นกุ่ยและนางสุดใจชื่อเม่งกวงหรือเฮงเต็ง แซ่เจียม แต่ปรากฏจากสำเนาทะเบียนบ้านของนางสุดใจเอกสารหมาย ร.6 ว่าบิดานางสุดใจชื่อเม่งกวง แต่ตามสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนายตุ่นกุ่ยเอกสารหมาย ร.2 ว่าบิดาชื่อนายเฮงเต็ง ดังนี้ นายเฮงเต็งกับนายเม่งกวงจะเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ยังน่าสงสัยและไม่มีหลักฐานใดมายืนยันเช่นนั้น นอกจากนี้นางสุดใจและผู้ร้องก็เบิกความแตกต่างกัน ผู้ร้องเบิกความว่านายเกยูรพี่ชายผู้ร้องได้ย้ายมาอยู่กับปู่ที่เขตมีนบุรีเมื่อปี 2497แต่เมื่อบิดาถึงแก่กรรมในปี 2498 ผู้ร้องจึงเดินทางมาอาศัยอยู่กับปู่และพี่ชายที่เขตมีนบุรี แต่นางสุดใจเบิกความว่านายเกยูรและผู้ร้องมาอยู่ที่เขตมีนบุรีหลังจากนายตุ่นกุ่ยถึงแก่กรรมแล้ว นางสุดใจเบิกความว่าได้เลี้ยงดูผู้ร้องขณะที่ผู้ร้องอยู่กับมารดาที่จังหวัดนราธิวาส แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้เบิกความถึงความข้อนี้เลย นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างนางสุดใจกับผู้ร้องก็ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นญาติกันจริงหรือไม่นางสุดใจเบิกความว่าได้ติดต่อกับมารดาผู้ร้องขณะที่อยู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดมาทางจดหมาย แต่ก็ไม่มีจดหมายแม้ฉบับเดียวมาแสดงผู้ร้องเดินทางมาประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2535 โดยอ้างว่าเพื่อจะมาเยี่ยมนางสุดใจ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้ตรงไปหานางสุดใจซึ่งเป็นญาติสนิทก่อน ขณะที่มารดาผู้ร้องถูกเนรเทศไปอยู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ไม่ปรากฏว่านางสุดใจได้ไปส่งที่ท่าเรือนางสุดใจเบิกความว่าตอนไปเลี้ยงผู้ร้องอยู่ที่จังหวัดนราธิวาสได้เรียกชื่อผู้ร้องว่าพูนผลไม่ได้เรียกชื่อจีน แต่เมื่อตอบคำถามติงของทนายผู้ร้อง นางสุดใจกลับเบิกความว่าบิดามารดาผู้ร้องได้เรียกชื่อบุตรส่วนมากเป็นภาษาจีน โดยนายพูนผลชื่อภาษาจีนว่า เจียม ต้าวซวง ได้มีการเรียกชื่อดังกล่าวบ่อยครั้ง เมื่อบิดามารดาเรียกชื่อผู้ร้องเป็นภาษาจีนส่วนใหญ่ แต่นางสุดใจกลับเรียกชื่อผู้ร้องเป็นภาษาไทยจึงเป็นข้อพิรุธ นางสุดใจไม่ได้พบกับผู้ร้องตั้งแต่ผู้ร้องยังเด็กมากขณะที่ผู้ร้องอยู่ที่จังหวัดนราธิวาสจนกระทั่งผู้ร้องได้มาพบอีกครั้งเมื่อปี2535 เป็นเวลาถึง 40 ปี โดยผู้ร้องมาแนะนำตัว นางสุดใจเองก็เบิกความรับว่าตอนพบกันครั้งหลังจำผู้ร้องไม่ได้ ผู้ร้องนำสืบถึงเพื่อนนักเรียนรุ่นพี่ชื่อนายฮ่งเคง แซ่ลิ้ม ที่เรียนภาษาจีนที่โรงเรียนซินหมิน จังหวัดนราธิวาสและนายพิศาล ธรรมหรรษา แต่ปรากฏว่านายฮ่งเคงอายุห่างจากผู้ร้องประมาณ 10 ปี และรู้จักผู้ร้องขณะผู้ร้องอายุยังน้อย ส่วนนายพิศาลอายุห่างจากผู้ร้องประมาณ 6 ปี ไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสองสนิทสนมคุ้นเคยกับผู้ร้องมาก จึงไม่น่าเชื่อว่าจะจำผู้ร้องได้ ผู้ร้องนำสืบภาพถ่ายหมาย ร.7 ระบุชื่อเพื่อนที่ใช้ชื่อจีนตามหมายเลขที่ระบุไว้แต่ก็ไม่ระบุถึงพี่ชายผู้ร้องตามที่นายพิศาลเบิกความว่าคือคนตามภาพถ่ายที่กากบาทไว้ ครูประจำชั้นซึ่งน่าจะพอจำชื่อได้ก็ไม่ปรากฏว่านายพิศาลและผู้ร้องจำชื่อครูประจำชั้นได้เลย ผู้ร้องเบิกความถึงนายสมศักดิ์ วรนาวิน ว่าก่อนเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นายเฮงเต็งปู่ของผู้ร้องได้พาผู้ร้องไปพบนายสมศักดิ์ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของลูกศิษย์ของมารดาผู้ร้องที่ตำบลสีลม อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร และผู้ร้องเบิกความว่าไม่เคยเดินทางมาประเทศไทยมาก่อนแต่ปรากฏจากคำเบิกความของนายสมศักดิ์ว่า เมื่อนายเฮงเต็งไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้วไม่เคยติดต่อมาเลย เมื่อปี 2530 นายสมศักดิ์เดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้พบนางวาสนาซึ่งมีชื่อจีนว่า หลิงยี้ ประกอบอาชีพเป็นล่ามแปลภาษาไทยที่สมาคมชาวจีนโพ้นทะเลที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นายสมศักดิ์เห็นว่าพูดภาษาไทยจึงได้สอบถามจึงทราบว่านายเฮงเต็งเป็นปู่ของนางวาสนาและพี่น้องของนางวาสนาอีก 4 คน อยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนขณะนายสมศักดิ์อยู่ในประเทศไทยนางวาสนามาเยี่ยมญาติที่ประเทศไทยและมาพักอยู่กับนายสมศักดิ์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และยังมีผู้ร้องมาเยี่ยมด้วยโดยมาพักอยู่อาศัยกับนายสมศักดิ์และบ้านเพื่อนของผู้ร้อง มาอยู่ได้ไม่กี่วันก็กลับไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้คุยกับนายสมศักดิ์ว่าต้องการอยู่ในประเทศไทย จึงไม่น่าเชื่อว่านายสมศักดิ์จะยังจำผู้ร้องได้ทั้งพยานปากนี้เบิกความตอบคำถามค้านของพนักงานอัยการว่า ไม่มีเพื่อนซึ่งเป็นลูกศิษย์ของมารดาผู้ร้อง คำเบิกความของผู้ร้องกับนายสมศักดิ์จึงขัดกันไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ผู้ร้องนำสืบถึงนายสุรินทร์ ศิริยกุล ซึ่งเป็นเพื่อนกับลูกศิษย์ของมารดาผู้ร้องที่จังหวัดนราธิวาส โดยอ้างว่านายสุรินทร์ไปเยี่ยมมารดาผู้ร้องที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มารดาผู้ร้องแนะนำให้รู้จักนายสุรินทร์และนายสุรินทร์ได้ชวนให้มาเที่ยวประเทศไทย ก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายสุรินทร์ว่า นายสุรินทร์รู้จักพี่น้องของผู้ร้องคือนางเจียมยิ่งหง และนางวาสนา ส่วนพี่น้องคนอื่นจำไม่ได้ นายสุรินทร์รู้จักผู้ร้องตั้งแต่คลอดจนกระทั่งผู้ร้องอายุ 8 ปี ผู้ร้องจึงย้ายภูมิลำเนาไปอยู่กรุงเทพมหานครโดยอาศัยอยู่กับปู่เนื่องจากบิดาผู้ร้องถึงแก่กรรม ต่อมาทราบว่าครอบครัวของผู้ร้องย้ายไปอยู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นายสุรินทร์เคยไปเยี่ยมผู้ร้องและถ่ายรูปไว้ตามภาพถ่ายหมาย ปร.1 (ศาลจังหวัดนราธิวาส) ไม่ปรากฏเลยว่าตามภาพถ่ายหมาย ปร.1 (ศาลจังหวัดนราธิวาส) นายสุรินทร์ได้ถ่ายรูปร่วมกับใครบ้าง ที่ไหน เมื่อใด นายสุรินทร์ได้ติดต่อกับผู้ร้องได้อย่างไร ทั้ง ๆที่ผู้ร้องได้ออกจากจังหวัดนราธิวาสไปตั้งแต่อายุเพียง 8 ปี และอพยพไปอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่านายสุรินทร์จะจำผู้ร้องได้จริง ผู้ร้องยังนำสืบถึงนายภู่ ศักดิ์มังกร ซึ่งเป็นครูสอนภาษาจีนรู้จักบิดามารดาผู้ร้อง ปรากฏจากคำเบิกความของนายภู่ว่านายภู่ได้แวะเยี่ยมบิดามารดาผู้ร้องเมื่อปี 2484 ถึงปี 2485 ที่จังหวัดนราธิวาส ขณะนั้นผู้ร้องอายุประมาณ 2 ถึง 3 ปี และเมื่อปี 2488 เคยพบปู่ของผู้ร้องและผู้ร้องที่เขตมีนบุรี หลังจากนั้นจึงทราบว่ามารดาของผู้ร้องถูกเนรเทศไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 2530 นายภู่เดินทางไปดูงานที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มารดาผู้ร้องได้มาต้อนรับและแนะนำให้รู้จักบุคคลในครอบครัวรวมทั้งผู้ร้องด้วย ต่อมาปี 2535 ได้พบผู้ร้องที่ประเทศไทยโดยผู้ร้องขอให้มาเป็นพยานที่กองตรวจคนเข้าเมืองตามเอกสารหมาย ร.27ศาลฎีกาเห็นว่า พยานปากนี้ไม่ได้พบผู้ร้องมาเป็นเวลานานไม่น่าจะจำผู้ร้องได้แต่นายภู่รู้จักผู้ร้องก็เนื่องจากมารดาผู้ร้องแนะนำขณะที่นายภู่เดินทางไปดูงานที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 2530 เท่านั้น ก่อนหน้านั้นนายภู่ก็ไม่เคยติดต่อกับผู้ร้องเลย นายภู่จึงจำผู้ร้องได้ภายหลัง แต่ผู้ร้องจะเป็นคนเดียวกับเด็กชายพูนผลหรือไม่ น่าสงสัย เพราะพยานปากนี้เบิกความตอบคำถามค้านของพนักงานอัยการว่า ขณะพบผู้ร้องที่จังหวัดนราธิวาสผู้ร้องชื่อเจียม ต้าวซวง ไม่ทราบว่า ผู้ร้องเปลี่ยนชื่อมาเป็นนายพูลผลเมื่อใด แต่เมื่อตอบคำถามติงกลับเบิกความว่า ได้ทราบว่าผู้ร้องมีชื่อไทยว่า พูลผล นอกจากนี้ผู้ร้องก็มีเพียงหนังสือเดินทางซึ่งปีเกิดและสถานที่เกิดไม่ตรงกับสูติบัตรเอกสารหมาย ร.1 ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องนำสืบว่าเหตุที่จำเป็นต้องลดอายุลง 2 ปี เพราะเมื่อปี 2497 ผู้ร้องเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1ที่โรงเรียนกวางเจาหัวเฉียวปูเชี่ยวซึ่งกำหนดอายุไว้เพียง 12 ปี เรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนแต่อย่างใด เหตุใดพี่และน้องคนอื่น ๆ ของผู้ร้องซึ่งไปเรียนต่อที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเช่นกันจึงไม่ต้องลดอายุลงมาเหมือนกรณีของผู้ร้อง เอกสารหลักฐานการเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยผู้ร้องก็ไม่นำมาสืบแสดงให้ปรากฏ พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้เกิดในประเทศไทย ผู้ร้องจึงไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักร ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น"
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกคำร้อง
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - นาย พูนผล แซ่เจียม หรือนาย เจียม ต้าวซวง ผู้คัดค้าน - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด
ชื่อองค์คณะ ประพันธ์ ทรัพย์แสง กนก พรรณรักษา วิชัย ชื่นชมพูนุท
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan