สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2178/2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2178/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 261

การที่ศาลชั้นต้นมีหมายห้ามชั่วคราวตามคำร้องขอของโจทก์ในคดีเดิมมิให้จำเลยในคดีดังกล่าวเก็บค่าเช่าอาคารสิ่งปลูกสร้าง หาบเร่ แพงลอยบนที่ดินตลาดพิพาท และห้ามเกี่ยวข้องกับที่พิพาท ในคดีดังกล่าว โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นบุคคลภายนอกซึ่งอ้างว่าจะต้องเสียหายเพราะหมายห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้นประสงค์จะขอให้ศาลถอนหมายห้ามชั่วคราวก็ต้องยื่นคำร้องขอในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 261 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้หมายห้ามชั่วคราวดังกล่าวไม่มีผลบังคับเป็นคดีใหม่ได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลชั้นต้นในคดีแพ่ง ระหว่างบริษัท ช. โจทก์ บริษัท ป. กับพวก จำเลยไม่มีผลบังคับ ห้ามจำเลยทั้งแปดเข้าเกี่ยวข้องในตลาดที่พิพาทและให้เลิกกระทำการใด ๆ อันเป็นการข่มขู่คุกคามโจทก์ทั้งหกเพื่อไม่ให้ค้าขายในตลาดตามปกติ ให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอัตราวันละ 10,000 บาท ต่อวันต่อคนให้แก่โจทก์ทั้งหกจนกว่าจะเลิกเกี่ยวข้องในตลาดที่พิพาท

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งหกขอถอนฟ้องจำเลยที่ 7 ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องให้โจทก์ทั้งหกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งแปด (ที่ถูกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8) โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท

โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งหกฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหกชอบหรือไม่ ที่โจทก์ทั้งหกฎีกาว่า โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ฐานกระทำละเมิดและค่าเสียหาย จึงมีอำนาจฟ้องนั้น คำฟ้องของโจทก์ทั้งหกบรรยายสรุปความว่า การที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งห้ามชั่วคราวตามคำร้องขอของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 6566/2540 มิให้นายภูเทพ จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวเก็บค่าเช่าอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หาบเร่ แผงลอยบนที่ดินตลาดที่พิพาท และห้ามเกี่ยวข้อง กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับพิพาท ให้โจทก์คดีดังกล่าวเป็นผู้เก็บเงิน ค่าเช่า ทำบัญชี แล้วนำมาวางต่อศาลพร้อม แสดงบัญชีเป็นรายเดือน และดูแลกิจการต่าง ๆ บนที่พิพาท ทำให้นายภูเทพไม่อาจจัดหาสินค้าราคาถูกมาให้โจทก์ทั้งหกจำหน่ายแก่ประชาชน เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหกเสียหายคนละ 10,000 บาท ต่อวัน จึงขอให้พิพากษาให้คำสั่งห้ามชั่วคราวดังกล่าวไม่มีผลบังคับและเรียกค่าเสียหายนั้น เห็นว่า ป.วิ.พ. มาตรา 261 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า จำเลยหรือบุคคลภายนอก ซึ่งได้รับหมายยึด หมายอายัดหรือคำสั่ง ตามมาตรา 254 (1) (2) หรือ (3) หรือจะต้องเสียหายเพราะหมายยึด หมายอายัด หรือคำสั่งดังกล่าว อาจมีคำขอต่อศาลให้ถอนหมายเพิกถอนคำสั่งหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง หมายยึด หรือ หมายอายัด ซึ่งออกตามคำสั่งดังกล่าวได้? การที่ศาลชั้นต้นมีหมายห้ามชั่วคราวถึงนายภูเทพ จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว โจทก์ทั้งหกเป็นบุคคลภายนอกซึ่งอ้างว่าจะต้องเสียหายเพราะหมายห้ามชั่วคราว ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 6566/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว หากโจทก์ทั้งหกประสงค์จะขอให้ศาลถอนหมายห้ามชั่วคราวดังกล่าวก็ต้องยื่นคำร้องขอในคดีเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 261 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้หมายห้ามชั่วคราวดังกล่าวไม่มีผลบังคับเป็นคดีใหม่ได้ แม้คำสั่งดังกล่าวจะมีผลให้นายภูเทพไม่อาจจัดหาสินค้าราคาถูกมาให้โจทก์ทั้งหกจำหน่ายแก่ประชาชนดังที่โจทก์ทั้งหกกล่าวอ้าง ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ทั้งหกกับนายภูเทพที่จะต้องว่ากล่าวกันตามบุคคลสิทธิที่มีอยู่ต่อกัน ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ในคดีนี้ จึงไม่อาจถือว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก ที่โจทก์ทั้งหก จะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามคำฟ้องได้ ส่วนข้อที่โจทก์ทั้งหกกล่าวอ้างในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ร่วมกันข่มขู่บังคับโจทก์ทั้งหกทำสัญญาเช่าใหม่กับจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเช่าแก่จำเลยที่ 2 และขับไล่โจทก์ทั้งหกไม่ให้ขายของในตลาดที่พิพาทต่อไป ตลอดจนข้อกล่าวอ้างอื่น ๆ อันเป็นการตัดสิทธิโจทก์ทั้งหกไม่ให้ค้าขายได้โดยปกติ? นอกจากจะปรากฏตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ทั้งหกมิได้โต้แย้งเป็นประการอื่นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำตามหมายห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้น หากเป็นความจริงก็ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งหกแล้ว ยังได้ความในอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกว่าโจทก์ทั้งหกยังคงครอบครองที่เช่าในตลาดที่พิพาทอยู่ดังเดิม แสดงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ยังมิได้ดำเนินการถึงขั้นขับไล่โจทก์ทั้งหกมิให้ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่เช่า ต่อไปแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6และที่ 8 ตามคำฟ้อง จึงยังไม่อาจถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งหก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ที่มีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และ จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหกจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งหกฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นายสาโรจน์ ขวัญแก้ว กับพวก จำเลย - บริษัทโชคชัยทรัพย์ทวี จำกัด กับพวก

ชื่อองค์คณะ สมชาย พงษธา กมล เพียรพิทักษ์ จรัส พวงมณี

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายถมรัตน์ เลิศไพรวัน ศาลอุทธรณ์ - นายพิทยา บุญชู

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE