คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ม. 102 (3 ทวิ, 127 ทวิ

การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุก จำเลยย่อมมีความผิดฐาน เสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานเป็นผู้ประจำรถเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็น ผู้ประจำรถ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 เนื่องจากในวันที่จำเลยกระทำความผิดนั้น พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. การขนส่งทางบก (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2542 มาตรา 6 ใช้บังคับแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 151, 152, 155, 194, 349, 351, 1102, 1113, 1108 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 วรรคหนึ่ง, 142 (2)

ตามสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล แต่อยู่ระหว่างการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ซึ่งผู้เริ่มก่อการสามารถดำเนินการก่อหนี้หรือทำสัญญาใด ๆ ได้ยกเว้นกรณีตาม มาตรา 1102 และเมื่อจดทะเบียนบริษัทเสร็จจนมีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว โจทก์ก็ยอมรับผลแห่งสัญญาโดยเข้าทำงานจนเสร็จ จึงเป็นการให้สัตยาบันแก่สัญญาที่ผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ตามมาตรา 1108 (2) สัญญาดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ ขณะเดียวกันสัญญาที่ทำขึ้นก็ไม่ใช่นิติกรรมอำพราง เพราะสัญญาทำขึ้นตรงกับเจตนาของคู่กรณี แม้ตอนแรกโจทก์จะใช้ชื่อจำเลยเป็นตัวแทนในการประมูลงานและทำสัญญาดังกล่าวต่อกรมทรัพยากรธรณี แต่ต่อมาโจทก์จำเลยประสงค์จะแปลงหนี้ใหม่เปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญจากการใช้ชื่อแทนหรือจากตัวการตัวแทนมาเป็นผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์และจำเลยต่างยอมรับเอาข้อกำหนดตามสัญญารับจ้างดังกล่าวปฏิบัติต่อกันตลอดมา เป็นต้นว่า การทวงถามให้ชำระหนี้และปฏิบัติการชำระหนี้อันมีลักษณะทำนองเดียวกันกับข้อกำหนดในแบบสัญญาจ้างระหว่างกรมทรัพยากรธรณีกับจำเลย สัญญารับจ้างดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ในรูปของการที่ได้แปลงหนี้มาใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และมาตรา 351 โดยอนุโลม

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) บัญญัติว่า "ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้" อันถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 142 วรรคหนึ่ง ที่ว่าศาลต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ดังนั้น ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ซึ่งลูกหนี้หรือจำเลยอาจจะยังคงค้างชำระอยู่บางส่วน เจ้าหนี้หรือโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ตามมูลหนี้ที่ยังค้างอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 ได้ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัย และพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 265, 268, 342 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185, 192, 185, 192

แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 ลงในบัตรเครดิตของผู้เสียหายที่ 2 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายที่ 2 ลงในใบสั่งซื้อสินค้า (ใบเซ็นชื่อ) แล้วใช้แสดงใบสินค้าต่อพนักงานขายสินค้าของผู้เสียหายที่ 3 โดยแสดงตนเป็นคนอื่นนั้น ย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 และฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นตามมาตรา 342 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2134

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2134/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

แม้ว่าโจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะจำเลยและพวกฆ่าผู้ตายแต่โจทก์มีพยานแวดล้อมเห็นเหตุการณ์ใกล้ชิดก่อนผู้ตายถูกยิงจนถึงแก่ความตายโดยเห็นจำเลยและพวกโต้เถียงกับผู้ตายและชักอาวุธปืนจ้องจะยิงผู้ตาย เมื่อผู้ตายวิ่งหนี จำเลยและพวกถืออาวุธปืนวิ่งไล่ตามผู้ตายไปทันทีแล้วมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัดหลังจากนั้นประมาณ 2 นาที ก็ดังขึ้นอีก 2 นัด ระยะเวลาที่จำเลยและพวกถืออาวุธปืนวิ่งไล่ตามผู้ตายไปจนมีเสียงปืนดังขึ้นรวม 3 นัด ดังกล่าวเป็นช่วงเวลาไม่นานซึ่งไม่พอที่จะทำให้ระแวงสงสัยได้ว่าจะมีผู้อื่นเข้ามาฆ่าผู้ตายในช่วงเวลานั้น จึงเชื่อได้ว่าต้องเป็นจำเลยและพวกอย่างแน่แท้ที่ฆ่าผู้ตาย ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจก็ตรวจพบมีดอีโต้ที่พวกจำเลยถือไปและรองเท้าแตะเปื้อนเลือด 1 ข้าง ของพวกจำเลยตกอยู่ในที่เกิดเหตุพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักแน่นแฟ้นฟังได้ว่า จำเลยและพวกร่วมกันฆ่าผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2112

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2112/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคหนึ่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษและแก้เฉพาะเรื่องของกลางจากไม่ริบเป็นริบรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงของกลางอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.วิ.อ. ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและไม่ริบรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงของกลางอันเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 867, 880

ผู้รับประกันภัยรับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายในการขนส่งอุปกรณ์ไฟฟ้า เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่เอาประกันภัยเสียหายและผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิที่จะฟ้องผู้ทำละเมิดและจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนของผู้ทำละเมิดได้แม้กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยจะลงลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลไม่ถูกต้องตามตราสารข้อบังคับ ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาประกันภัย จำเลยร่วมหาอาจยกมาเป็นเหตุให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2080

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2080/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 728

ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยแล้ว แม้ต่อมาโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในส่วนหนี้ที่จำเลยค้างชำระ ทำให้ยอดหนี้ใหม่มีจำนวนสูงกว่าที่ปรากฏในหนังสือที่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองก็ตาม แต่จำนวนหนี้ที่ระบุในหนังสือดังกล่าวนั้นมิใช่ข้อสาระสำคัญ โจทก์จึงไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองในหนี้ส่วนที่เพิ่มขึ้นอีกแต่อย่างใด เพราะหนี้จำนวนดังกล่าวก็เป็นหนี้ที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์นั่นเอง ถือได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองก่อนฟ้องคดีโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 321, 850 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 138 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 121 (1) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49

การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ หรือจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น แม้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 จะกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้แตกต่างกันและเป็นกฎหมายต่างฉบับกันก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างในการได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายจ้างเช่นเดียวกันสำหรับกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือศาลแรงงานไม่เห็นสมควรให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานอีก

การที่โจทก์นำสาเหตุจากการที่จำเลยเลิกจ้าง ไปยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์และต่อมาโจทก์ได้นำเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวไปฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน อีกจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งชำระเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แล้วโจทก์กับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมชำระเงิน 147,820 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์ตกลงรับเงินดังกล่าวและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายและเงินอื่นใดจากจำเลยอีกศาลแรงงานมีคำพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมหมายความว่าโจทก์พอใจจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยชำระตอบแทนในการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว ซึ่งรวมทั้งโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์ด้วย แม้ภายหลังจากที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันแล้ว คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะวินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ก็ตาม

เมื่อค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลแรงงาน ต่างมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างของจำเลยเดียวกัน ค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวย่อมอยู่ในความหมายของข้อความว่าค่าเสียหายและเงินอื่นใดที่โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลย ที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั่นเอง ค่าเสียหายที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยชำระแก่โจทก์ย่อมเป็นอันระงับสิ้นไปก่อนแล้วโดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโจทก์จึงไม่อาจนำมาฟ้องให้จำเลยรับผิดได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2156

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2156/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192, 215

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นความผิดและตามบทกฎหมายที่กำหนดโทษไว้ การที่ศาลอุทธรณ์ยกข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งจำเลยทราบแล้วไม่ได้โต้เถียงหรือคัดค้านมากล่าวในคำพิพากษาประกอบการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการร้ายแรงหรือไม่เพียงใด เพื่อที่ศาลอุทธรณ์จะได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าสมควรจะลงโทษหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลย หาใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวมาในฟ้องไม่

ความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ฐานมีโทรศัพท์มือถืออันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 23 และความผิดฐานจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมตามมาตรา 26 มีองค์ประกอบความผิดต่างกัน กล่าวคือความผิดตามมาตรา 23 เป็นความผิดเพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตส่วนความผิดมาตรา 26 เป็นความผิดเพราะจำเลยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม แม้จำเลยจะมีโทรศัพท์มือถือโดยได้รับหรือไม่ได้รับอนุญาตก็ตามหากจำเลยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมแล้วการกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตาม มาตรา 26 ซึ่งเป็นความผิด 2 กรรม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระเป็น 2 กรรม ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2110

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2110/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5)

บิดาโจทก์อนุญาตให้บิดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ใช้ที่พิพาทสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ประมาณปี 2487 จนกระทั่งบิดาโจทก์ถึงแก่ความตายในปี 2517 และเมื่อบิดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9ถึงแก่ความตายในปี 2520 โจทก์ก็ยังอนุญาตให้จำเลยที่ 1 สอนศาสนาในที่พิพาทต่อไป เป็นการที่บิดาโจทก์และโจทก์อุทิศที่พิพาทให้ใช้เป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามตามหลักของศาสนาอิสลามทำให้ผู้ใดจะยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทไม่ได้ ที่พิพาทจึงเป็นที่ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ของชาวมุสลิมและตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทันทีที่บิดาโจทก์อุทิศให้ โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE