คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1565/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1387 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142 (5)
ปัญหาว่าโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งขายที่ดินส่วนที่เหลือจากที่ขายให้จำเลย (ซึ่งเป็นสามยทรัพย์) ให้บุคคลอื่นไปแล้วจะมีสิทธิฟ้องจำเลยบังคับเรื่องภารจำยอมได้หรือไม่ เป็นปัญหาอำนาจฟ้อง แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลจึงวินิจฉัยให้ เมื่อได้ความว่าโจทก์ที่ 4 และที่ 5 เป็นคู่สัญญากับจำเลยตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและบันทึก ซึ่งกำหนดให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่ที่ดินของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 โจทก์ที่ 4 และที่ 5 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อบังคับสิทธิตามสัญญาและบันทึกดังกล่าวได้
จำเลยทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งห้า โดยมีข้อตกลงว่าจะจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าในส่วนที่เหลือจากการขาย ต่อมาจำเลยจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแต่ยังไม่จดทะเบียนภารจำยอม แต่ได้ทำหนังสือยืนยันว่าจะจดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์ทั้งห้าภายหลัง จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ที่ดินของจำเลยจึงตกอยู่ในภารจำยอมของที่ดินโจทก์ทั้งห้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 8 (5), 14, 83, 87
จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ถือว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจมีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ได้ กรณีเช่นว่านี้โจทก์อาจขอให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์จะต้องขอให้เรียกทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์เข้ามาแก้คดีแทนลูกหนี้ที่ตายนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 83 และ 87 ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ก่อน การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ใหม่
การที่ศาลออกหมายบังคับคดี แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นั้น เข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 คงมีเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ หามีน้ำหนักไม่ เมื่อข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด ทั้งไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 276 วรรคสอง
แม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้ลงมือข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย แต่พฤติการณ์ที่จำเลยช่วยกันฉุดผู้เสียหายและช่วยกดคอและตบตีผู้เสียหายเพื่อให้พวกของจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในลักษณะโทรมหญิงนั้นถือได้ว่าจำเลยได้เป็นตัวการร่วมกระทำผิดด้วยกันกับพวกของจำเลยแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 732 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 287, 289
แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด ก็หาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่เพราะการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์พิพาทได้ ฉะนั้น เมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อจากขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1547 - 1548/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 86 วรรคสอง, 120, 183
คดีมีประเด็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ หรือโจทก์ไม่มาทำงานเองเพราะกลัวความผิดที่ยอมให้บุคคลภายนอกนำสิ่งของเข้ามาไว้ในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1โดยพลการ ที่จำเลยที่ 5 จะนำ ย. มาสืบว่าโจทก์เป็นผู้นำ ภ. ซึ่งตามทางพิจารณาคือบุคคลภายนอกที่จำเลยทั้งห้าอ้างไว้ในคำให้การขนสิ่งของเข้ามาในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 โดยพลการ จึงเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี จำเลยที่ 5 นำสืบได้แต่ที่จำเลยที่ 5 จะนำสืบ ย. ว่าโจทก์เก็บค่าไฟฟ้าจาก ย. แล้วไม่นำไปชำระจนถูกการไฟฟ้าฯ ตัดไฟฟ้าในโกดังของจำเลย กับที่จำเลยที่ 5 จะนำ ว. มาสืบว่าโจทก์เบิกความเท็จว่าเป็นผู้นำ ว. มาทำงานกับจำเลยนั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีและไม่ใช่การนำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างว่าคำเบิกความของโจทก์ไม่ควรเชื่อฟังอันเป็นการพิสูจน์ต่อพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 120 ที่ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 5 นำ ว. และ ย. มาสืบในข้อหลังจึงชอบแล้ว แต่ที่ไม่อนุญาตให้นำ ย. มาสืบข้อที่ว่าโจทก์เป็นผู้นำ ภ. ขนสิ่งของ เข้ามาในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 โดยพลการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 625
ใบตราส่งมีข้อความปรากฏชัดในด้านหน้าว่า ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาที่อยู่ด้านหลังนี้ ขอให้ผู้ส่งของรับทราบข้อสังเกตเกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งด้วย ผู้ส่งของอาจเพิ่มส่วนจำกัดความรับผิดได้โดยแจ้งมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้นและชำระเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น ย่อมทำให้ผู้ส่งของทราบดีว่าตนมีทางเลือก 2 ทาง คือ จะยอมรับข้อจำกัดความรับผิดที่มีอยู่ชัดในด้านหลังใบตราส่งหรือจะเพิ่มส่วนจำกัดความรับผิดโดยต้องเสียเงินเพิ่มก็ได้ และปรากฏว่าด้านหน้าใบตราส่งมีช่องสำหรับการแจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง แต่ในช่องดังกล่าวมีข้อความว่า "เอ็นวีดี"(NVD) ซึ่งหมายถึง การไม่แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง โดยมีการแจ้งเฉพาะน้ำหนักสินค้าและมีการคิดค่าระวางตามน้ำหนักที่แจ้ง ซึ่งทำให้ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเติมเท่ากับเป็นการเลือกยอมรับข้อจำกัดความรับผิดหลังใบตราส่ง ถือว่าผู้ส่งของแสดงความตกลงด้วยโดยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 86, 276
จำเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันพาผู้เสียหายไปที่บ้านเกิดเหตุเพื่อกระทำชำเราจำเลยที่ 3 กระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอม จึงไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา แต่เมื่อจำเลยที่ 3 ออกไปจากห้องแล้วปล่อยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2และพวกอีก2 คน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในห้องทีละคนโดยจำเลยที่ 3 มิได้ขัดขวางหรือห้ามปรามแต่อย่างใดถือว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และพวกอีก 2 คน ก่อนหรือขณะกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราในลักษณะเป็นการโทรมหญิงจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 149, 157, 161, 266 (1)
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับคำขอต่าง ๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินทุกประเภท รวมทั้งงานในด้านเกี่ยวกับการเงินและบัญชี โดยมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการกรอกข้อความในเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน แล้วนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาก่อนเกิดเหตุนานประมาณ 7 ปี จำเลยย่อมทราบและคำนวณค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นอย่างดี การที่จำเลยเรียกหรือรับเงินจำนวน 7,800 บาท ไว้แล้วนิ่งเฉยเสีย แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาเรียกหรือรับเอาเงินส่วนที่เกินไว้สำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่ง จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
จำเลยพร้อมที่จะเสนอเรื่องราวขอจดทะเบียนขายที่ดินระหว่าง น. กับ ส. ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินเพื่อดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ แต่จำเลยกลับละเว้นไม่ดำเนินการนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ดังนั้น ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เมื่อปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก
เมื่อจำเลยได้กรอกข้อความลงในใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ตามความเป็นจริง ตรงตามเจตนาของผู้ซื้อผู้ขายที่ดินทุกประการ และตราประทับของกระทรวงมหาดไทยก็ถูกต้อง เพียงแต่ยังไม่มีลายมือชื่อ นายอำเภอและยังมิได้ลงวันที่และเดือนที่ออกใบแทนฯ เท่านั้น เอกสารดังกล่าว จึงมิใช่เอกสารที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยมีเจตนาจะลอกเลียนแบบหรือปลอมเอกสาร ต้นฉบับ ๆ หนึ่งฉบับใด เป็นเพียงแต่เอกสารยังลงรายการไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ ตามระเบียบของทางราชการเท่านั้น และการที่นายอำเภอในฐานะเป็น เจ้าพนักงานที่ดินยังมิได้ลงชื่อรับรองเอกสารกับการที่ยังมิได้ลงวันเดือนปี ที่ออกเอกสาร ก็ไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้พบเห็นเอกสารจะหลงเชื่อว่าเป็น เอกสารที่ถูกต้องแท้จริงที่ทางราชการออกให้ไปได้ การกระทำของจำเลย ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารจึงไม่เป็นความผิดฐาน ปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ประกอบด้วยมาตรา 266(1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1531/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 223, 246, 247, 293 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2542 ม. 11
จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293(ที่ยังไม่แก้ไข) ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ก่อนจำเลยยื่นฎีกาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 โดยให้ตัดข้อความบางส่วนของวรรคสอง และเพิ่มวรรคสามของมาตรา 293 ว่า"คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด" ซึ่งมีผลใช้บังคับทันทีนับแต่วันที่ 4พฤษภาคม 2542 ตามบทบัญญัติมาตรา 293 วรรคสาม ที่ว่า "คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด" นั้น หมายความว่าคำสั่งของศาลตามมาตราดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้งดการบังคับคดีหรือยกคำร้อง คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด จะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปไม่ได้ทั้งนี้ก็เพื่อให้กระบวนการบังคับคดีสามารถดำเนินการไปด้วยความรวดเร็ว เมื่อจำเลยยื่นฎีกาภายหลังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคสาม มีผลใช้บังคับแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงถึงที่สุดตามมาตราดังกล่าว ประกอบด้วยมาตรา 246 ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามมาตรา 293 วรรคสาม ประกอบมาตรา 223 และมาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40, 86, 104
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองมีทุนทรัพย์ถึง 2,560,462.57 บาท แม้จะปรากฏว่ามีการเลื่อนคดีติดต่อกัน ตั้งแต่นัดแรกจนถึงวันนัดสุดท้าย รวม 7 นัด เป็นเวลา 1 ปีเศษ แต่ทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีเนื่องจากไม่มีพยานมาศาลในนัดที่สองเพียงนัดเดียว ส่วนนัดแรกเหตุเลื่อนคดีก็เนื่องมาจากทนายจำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 2 ขออนุญาตยื่นคำให้การส่วนวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่สาม ทนายโจทก์คนใหม่ติดว่าความที่ศาลอื่นซึ่งนับว่ามีเหตุจำเป็น เพราะทนายโจทก์คนใหม่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง การนัดความในวันดังกล่าวทนายโจทก์คนใหม่มิได้มีส่วนรับรู้ด้วย การเลื่อนคดีในนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่สี่ที่พยานโจทก์มาศาลก็เนื่องมาจากทนายจำเลยทั้งสองเพิ่งมาแถลงต่อศาลในวันนัดว่ายังไม่ได้รับสำเนาเอกสารบางฉบับซึ่งเป็นเอกสารสำคัญจากโจทก์หากไม่มีเหตุดังกล่าวก็คงจะมีการสืบพยานโจทก์ไปได้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าการส่งสำเนาเอกสารยังไม่เรียบร้อยจึงให้เลื่อนคดีไป เมื่อถึงในวันนัดครั้งที่ห้าทนายโจทก์ขอถอนตัวเนื่องจาก มีความคิดเห็นไม่ตรงกับโจทก์และไม่สามารถตกลงกันเรื่องค่าทนายความได้ นัดนี้ทนายจำเลยที่ 2 ขอเลื่อนคดีเช่นกันโดยอ้างว่าติดว่าความที่ศาลอื่นและมีนัดที่ต่างจังหวัด การเลื่อนคดีในนัดนี้จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ ส่วนวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่หก ซึ่งทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีเนื่องจากเพิ่งได้รับการแต่งตั้งและยังไม่ได้รับเอกสารจากโจทก์ และวันนัดสืบพยานครั้งที่เจ็ดทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีเนื่องจากเอกสารสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันยังไม่ได้รับคืนจากทนายโจทก์คนเดิมและยังติดตามตัวทนายโจทก์คนเดิมไม่พบ กรณีดังกล่าวแม้จะนับได้ว่าเป็นความบกพร่องของ ทนายโจทก์ที่ไม่จัดเตรียมเอกสารให้เรียบร้อยก่อนวัดนัดก็ตาม แต่เมื่อเอกสารที่ต้องการใช้อยู่กับทนายโจทก์คนเดิม และเหตุที่ไม่ได้เอกสารมาก็เนื่องจากติดตามตัวทนายโจทก์คนเดิมไม่ได้ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่พอฟังว่าโจทก์มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า