สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1531/2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1531/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 223, 246, 247, 293 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2542 ม. 11

จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293(ที่ยังไม่แก้ไข) ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ก่อนจำเลยยื่นฎีกาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 โดยให้ตัดข้อความบางส่วนของวรรคสอง และเพิ่มวรรคสามของมาตรา 293 ว่า"คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด" ซึ่งมีผลใช้บังคับทันทีนับแต่วันที่ 4พฤษภาคม 2542 ตามบทบัญญัติมาตรา 293 วรรคสาม ที่ว่า "คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด" นั้น หมายความว่าคำสั่งของศาลตามมาตราดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้งดการบังคับคดีหรือยกคำร้อง คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด จะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปไม่ได้ทั้งนี้ก็เพื่อให้กระบวนการบังคับคดีสามารถดำเนินการไปด้วยความรวดเร็ว เมื่อจำเลยยื่นฎีกาภายหลังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคสาม มีผลใช้บังคับแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงถึงที่สุดตามมาตราดังกล่าว ประกอบด้วยมาตรา 246 ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามมาตรา 293 วรรคสาม ประกอบมาตรา 223 และมาตรา 247

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยลงนามในหนังสือมอบอำนาจตามฟ้อง หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 68,750 บาท นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม2527 จนกว่าจะส่งมอบอาคารพาณิชย์ 29 คูหา พร้อมที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยหลายรายการ

จำเลยยื่นคำร้อง 2 ฉบับทำนองเดียวกันว่า จำเลยได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นเรื่องผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และเรียกให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน747,926,031 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 733,124,700บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หรือจำเลยในคดีนี้ หากจำเลยชนะคดีดังกล่าวก็สามารถหักกลบลบหนี้กันได้โดยไม่จำต้องยึดทรัพย์ของจำเลยออกขายทอดตลาดและไม่ทำให้โจทก์เสียหายแต่อย่างใด ขอให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างที่โจทก์จะขอบังคับคดีหรือให้งดการบังคับคดี หรืองดการขายทอดตลาดทรัพย์ไว้ก่อน

โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ยื่นคำร้อง ขอให้งดการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293(ที่ยังไม่แก้ไข) ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2542 แต่เนื่องจากก่อนจำเลยยื่นฎีกาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 โดยให้ตัดข้อความบางส่วนของวรรคสอง และเพิ่มวรรคสามของมาตรา 293 ว่า "คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด" ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับทันทีนับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542 ตามบทบัญญัติมาตรา 293 วรรคสาม ที่ว่า "คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด" นั้น หมายความว่าคำสั่งของศาลตามมาตราดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้งดการบังคับคดีหรือยกคำร้อง คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด จะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้กระบวนการบังคับคดีสามารถดำเนินการไปด้วยความรวดเร็ว เมื่อจำเลยยื่นฎีกาภายหลังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคสามมีผลใช้บังคับแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงถึงที่สุดตามมาตราดังกล่าว ประกอบด้วยมาตรา 246 ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามมาตรา 293วรรคสาม ประกอบมาตรา 223 และมาตรา 247 ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับฎีกาของจำเลยมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายกฎีกาของจำเลย คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาให้จำเลยทั้งหมด

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท บ้านและอาคารชุด จำกัด จำเลย - นาย สุรสีห์ บุณยตุลย์

ชื่อองค์คณะ ระพิณ บุญสิทธิ์ สุเทพ เจตนาการณ์กุล สมชัย เกษชุมพล

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE