คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6322

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6322/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 80, 288

ขณะที่จำเลยวิ่งหลบหนีสิบตำรวจตรี ส. และพลตำรวจ ส. จำเลยหันมายิงปืนใส่เจ้าพนักงานตำรวจทั้งสอง1 นัด เพื่อให้พ้นจากการจับกุม จากนั้นหลบซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้โดยมิได้ยิงปืนใส่เจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองอีกเช่นนี้ จะฟังว่าการยิงปืนของจำเลยดังกล่าวเป็นการจ้องเล็งปืนยิงตรงไปยังเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองโดยมีเจตนาฆ่าหาได้ไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/27, 193/33, 745

การจำนองทรัพย์สินเพื่อเป็นประกันหนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/27และมาตรา745บัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่าแม้หนี้ที่ประกันหรือหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วก็ยังบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้แต่ดอกเบี้ยที่ค้างให้คิดย้อนหลังขึ้นไปได้เพียงห้าปีหากหนี้ประธานไม่ขาดอายุความสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างชำระก็มีกำหนดอายุความห้าปีเช่นกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/33(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6321

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6321/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185, 227

โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยนำบัตร เอ.ที.เอ็ม.ไปกดถอนเงินจากบัญชีของ น. จะอาศัยเพียงว่าการที่จำเลยเป็นเจ้าของบัตรจึงสันนิษฐานว่าจำเลยนำบัตรไปกดถอนเงินไม่ได้ เพราะผู้ที่ได้บัตรนั้นไปและรู้เลขรหัสก็สามารถนำบัตรไปกดถอนเงินได้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของบัตร พยานโจทก์ยังมีข้อน่าสงสัยไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์ แม้จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ห้ามฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6320

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6320/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

ผู้เสียหายเห็นคนร้ายโดยอาศัยแสงเทียนเล่มเล็ก ๆ เล่มเดียวซึ่งไม่น่าจะมีแสงสว่างเพียงพอในที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายไม่เคยเห็นหน้าและไม่รู้จักจำเลยมาก่อนไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะจำจำเลยได้ว่าเป็นคนร้าย ดังนั้น การเห็นภาพถ่ายจำเลยและชี้ตัวจำเลยว่าเป็นคนร้ายจึงไม่อาจรับฟังสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายได้กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6304

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6304/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 448 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 180

โจทก์ฟ้องบริษัทสยามพัฒนา จำกัด เป็นจำเลยที่ 2ให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นบริษัทสยามพัฒนาเซอร์วิส (1988) จำกัด เมื่อพ้นกำหนดเวลา1 ปี แล้ว แต่เป็นเวลาก่อนจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การซึ่งโจทก์มีสิทธิกระทำได้ เพราะเป็นการขอแก้ไขข้อผิดพลาดเกี่ยวกับชื่อคู่ความที่โจทก์ฟ้องในระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องแก่คู่ความ ไม่มีกฎหมายห้าม ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 2จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่โจทก์ยื่นคำฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำละเมิดฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6252/2540

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49

ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้นายจ้างปิดกิจการการปิดกิจการอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุเมื่อต้องปิดกิจการซึ่งมีการเลิกจ้างแล้ว การเลิกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผลของการปิดกิจการว่ามีเหตุผลสมควรและเพียงพอที่จะปิดกิจการหรือไม่ นายจ้างปิดกิจการโดยไม่ได้ประสบภาวะการขาดทุนตามที่อ้าง ย่อมไม่มีเหตุผลสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ การที่นายจ้างปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างกรณีดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6251

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6251/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456, 700 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 245 (1), 247

จำเลยที่ 3 ฎีกาฝ่ายเดียว และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าบางส่วนเป็นเงิน 52,000 บาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว ดังนี้แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2จะมิได้ฎีกา แต่เมื่อเป็นหนี้ร่วมกันจะแบ่งแยกกันมิได้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมได้รับผลเป็นคุณด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247 การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้น จะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอนและมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องร้องไม่ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ซื้อสินค้าโจทก์ และจำเลยที่ 3ได้ทำสัญญาค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดชำระหนี้แม้จำเลยที่ 2 จะสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าชำระหนี้แก่โจทก์แทนเช็คฉบับเก่า แต่เมื่อโจทก์ยังสามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามมูลหนี้ซื้อขายได้ กรณีไม่ใช่เป็นการตกลงกำหนดวันหรือระยะเวลาชำระหนี้ให้เป็นการแน่นอน จึงไม่เป็นการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้อันผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 จำเลยที่ 3จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 10, 224 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49, 54

ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานเพราะเป็นการเลิกจ้างตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยเนื่องจากโจทก์มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการพนักงานของจำเลยเพราะโจทก์สร้างความขัดแย้งแตกแยกในหมู่พนักงาน จึงไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น ตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว อ้างว่าสาเหตุที่เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบว่าด้วยการพนักงานของจำเลยดังกล่าว แต่ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีความผิดในการปฏิบัติหน้าที่หรือมีความประพฤติเสียหายอันจะถือได้ว่ามีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้เช่นนี้ข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ในปี 2536 โจทก์ทำงานกับจำเลยเต็มปีทางบัญชี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามระเบียบวาระการประชุมกรรมการดำเนินการซึ่งจำเลยกำหนดจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานที่ปฏิบัติงานครบ1 ปี ได้รับเต็มจำนวนหมายถึง เท่ากับเงินเดือน 1 เดือนจำเลยต้องจ่ายเงินโบนัสสำหรับปี 2536 ให้แก่โจทก์จำนวน18,140 บาท ส่วนจะได้รับเท่าใดนั้น ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าการที่จำเลยตกลงจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 1 ปีได้รับเต็มจำนวนคือ เงินเดือน 1 เดือน เมื่อระเบียบวาระการประชุมกรรมการดำเนินการระบุว่า พนักงานเต็มปี53.08 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 538,273.61 บาท หมายถึงพนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 1 ปี ได้รับเต็มจำนวนคือ 53.08 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน 1 เดือน หาใช่หมายถึงได้รับเท่ากับเงินเดือน1 เดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสปี 2536 จำนวน53.08 บาท เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนจำนวน 1 เดือน เท่านั้นคือ 18,140 บาท คิดเป็นเงิน 9,628.71 บาท ความในข้อ 31 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ที่กำหนดว่าถ้านายจ้างผิดนัดในการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปีบทบัญญัติดังกล่าวหาได้กำหนดเรื่องค่าเสียหายที่นายจ้างจะต้องจ่ายระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีไม่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 มิได้บัญญัติกำหนดอัตราดอกเบี้ยของค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างไว้ กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไป ที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในส่วนค่าเสียหายได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6249/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 222, 693

จำเลยที่ 1 ลูกจ้างนำรถกระบะของโจทก์ที่เช่าซื้อมาออกไปจากสาขาของโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติผิดสัญญาต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1นำเช็คของผู้มีชื่อซึ่งสั่งจ่ายเงินเพื่อชำระราคารถส่วนส่วนที่เหลือไปมอบให้โจทก์ เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการติดตามหนี้สินอันเกิดจากการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของโจทก์ แม้โจทก์ยอมรับเช็คดังกล่าวไว้เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถกระบะส่วนที่เหลือ กรณีก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เต็มใจยอมรับเอาผลเสียหายจากการที่เช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้ และถือไม่ได้ว่าโจทก์ติดใจที่จำเลยที่ 1นำรถกระบะออกไปจากสาขาของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของโจทก์อย่างจริงจัง โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 โดยระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างเพียงว่า จำเลยที่ 1 ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาเกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควรย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างในการอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างเท่านั้น แม้โจทก์มิได้อ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานหรือจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาจ้างเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ ก็ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ในการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานและผิดสัญญาจ้างแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6154

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6154/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (9), 90, 91, 157, 162 (4), 265, 268, 341 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (2)

ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านเป็นหลักฐานแห่งการระงับซึ่งสิทธิของผู้ให้เช่าจึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9)

จำเลยนำใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยปลอมขึ้นและเป็นเอกสารเท็จยื่นประกอบแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านเพื่อเบิกเงินค่าเช่าบ้าน และจำเลยได้รับเงินค่าเช่าบ้านจากคลังจังหวัดชุมพรไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อว่าจำเลยได้เช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวจริง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อและทำให้จำเลยได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามที่จำเลยขอเบิกจ่ายไปจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพร อันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่คลังจังหวัดชุมพร ก. และกรมส่งเสริมสหกรณ์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม มาตรา 268

จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารและกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(4)และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและโดยทุจริตตามมาตรา 157 เมื่อเป็นความผิดตามมาตรา 162(4)ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วจึงไม่ปรับบทลงโทษตามมาตรา 157 อีก

การที่จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดชุมพรซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพร ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรให้ทำการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรในการอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านของข้าราชการและลูกจ้างในสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพร ได้ทำการอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินในแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านโดยรู้อยู่แล้วว่าเอกสารใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านและใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านเป็นเอกสารปลอม และมีข้อความเท็จโดยจำเลยได้ลงลายมือชื่ออนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านได้จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและโดยทุจริตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ตามเอกสารพิพาทเป็นเอกสารของจำเลยที่จำเลยนำเงินส่วนที่เบิกเกินไปคืนแก่ทางราชการและตามใบเสร็จรับเงินของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ได้รับเงินจากจำเลยไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในความผิดฐานฉ้อโกงและลำพังการที่จำเลยส่งเงินส่วนที่จำเลยเบิกเกินคืนกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์รับไว้ ก็เพียงแต่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดทางแพ่งเท่านั้นไม่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดทางอาญา และยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันอันจะทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกง และในความผิดฐานอื่น

การที่จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านอันเป็นเอกสารสิทธิซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 นั้น จำเลยกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และการที่จำเลยได้นำแบบคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านและใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านอันเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าวซึ่งมีข้อความเท็จเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อว่าจำเลยได้เช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวจริงและโดยการหลอกลวงทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อและทำให้จำเลยได้รับเงินตามที่ขอเบิกจ่ายไปจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรอันเป็นความผิดตามมาตรา 341 และมาตรา 268 และการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กรอกข้อความรับรองคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านได้รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ อันเป็นความผิดตามมาตรา 162(4) และการที่จำเลยในฐานะที่ดำรงตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดชุมพรซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพรได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรในการอนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรได้ลงลายมือชื่ออนุมัติการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านของจำเลยในแบบคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยปลอมขึ้นและมีข้อความอันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดตามมาตรา 157 นั้นเป็นการกระทำคนละครั้งคนละคราวกัน แต่การที่จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้าน นำใบเสร็จดังกล่าวไปใช้ประกอบการยื่นคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน ลงลายมือชื่อรับรองการเบิกเงินค่าเช่าบ้านรวมทั้งลงลายมือชื่ออนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านในแต่ละเดือนดังกล่าวนั้น แม้จะเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ก็เป็นการกระทำโดยมีเจตนาและจุดประสงค์ในผลอันเดียวกัน คือมุ่งที่จะได้รับเงินค่าเช่าบ้าน การกระทำดังกล่าวตั้งแต่ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านจนถึงการอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านจึงเป็นกระบวนการเดียวกันเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าเช่าบ้านตามที่จำเลยประสงค์และเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกันในแต่ละเดือนแต่ละคำขอ ตามมาตรา 90เมื่อจำเลยกระทำการดังกล่าวรวม 12 เดือน เดือนละหนึ่งครั้งรวม 12 ครั้ง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 และในแต่ละกรรมต้องลงโทษในบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดคือตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

« »
ติดต่อเราทาง LINE