คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 10, 224 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49, 54
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานเพราะเป็นการเลิกจ้างตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยเนื่องจากโจทก์มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการพนักงานของจำเลยเพราะโจทก์สร้างความขัดแย้งแตกแยกในหมู่พนักงาน จึงไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น ตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว อ้างว่าสาเหตุที่เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบว่าด้วยการพนักงานของจำเลยดังกล่าว แต่ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีความผิดในการปฏิบัติหน้าที่หรือมีความประพฤติเสียหายอันจะถือได้ว่ามีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้เช่นนี้ข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ในปี 2536 โจทก์ทำงานกับจำเลยเต็มปีทางบัญชี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามระเบียบวาระการประชุมกรรมการดำเนินการซึ่งจำเลยกำหนดจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานที่ปฏิบัติงานครบ1 ปี ได้รับเต็มจำนวนหมายถึง เท่ากับเงินเดือน 1 เดือนจำเลยต้องจ่ายเงินโบนัสสำหรับปี 2536 ให้แก่โจทก์จำนวน18,140 บาท ส่วนจะได้รับเท่าใดนั้น ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าการที่จำเลยตกลงจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 1 ปีได้รับเต็มจำนวนคือ เงินเดือน 1 เดือน เมื่อระเบียบวาระการประชุมกรรมการดำเนินการระบุว่า พนักงานเต็มปี53.08 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 538,273.61 บาท หมายถึงพนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 1 ปี ได้รับเต็มจำนวนคือ 53.08 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน 1 เดือน หาใช่หมายถึงได้รับเท่ากับเงินเดือน1 เดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสปี 2536 จำนวน53.08 บาท เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนจำนวน 1 เดือน เท่านั้นคือ 18,140 บาท คิดเป็นเงิน 9,628.71 บาท ความในข้อ 31 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ที่กำหนดว่าถ้านายจ้างผิดนัดในการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปีบทบัญญัติดังกล่าวหาได้กำหนดเรื่องค่าเสียหายที่นายจ้างจะต้องจ่ายระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีไม่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 มิได้บัญญัติกำหนดอัตราดอกเบี้ยของค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างไว้ กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไป ที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในส่วนค่าเสียหายได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น
คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงานประจำตั้งแต่เดือนเมษายน 2511 โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการพิมพ์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ18,140 บาท เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้าง โดยอ้างเหตุว่า โจทก์ไม่นำพาต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับแบบแผนและวิธีปฏิบัติหย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติงาน กระด้างกระเดื่องและปฏิบัติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการบริหารงานของจำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริงจำเลยไม่เคยว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ ทั้งไม่ได้ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์จำเลยเงินบำเหน็จและค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน424,083 บาท โดยให้โจทก์ลงชื่อในบันทึกการรับเงินว่าจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลย โดยโจทก์ไม่สมัครใจ บันทึกดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะและการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 501,118 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสจำนวน 36,280 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์จริงและเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว เนื่องจากคณะอนุกรรมการที่จำเลยแต่งตั้งเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของโจทก์ รายงานผลการตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานของโจทก์และไม่น่าไว้วางใจ โจทก์ไม่นำพาต่อการที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบ กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาและอื่น ๆ จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ และจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว โจทก์ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินโบนัส จำเลยได้จ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างเพียงปีเดียวคือปี 2536 และจ่ายเพียง 53.08 เปอร์เซ็นต์ของอัตราเงินเดือนที่ลูกจ้างได้รับเท่านั้นมิใช่จ่ายให้เท่ากับเงินเดือน 1 เดือน ตามที่โจทก์เรียกร้อง ส่วนดอกเบี้ยของเงินโบนัสดังกล่าวอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจากค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องนั้นหากฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายก็มีสิทธิเรียกได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 มิใช่ร้อยละสิบห้าต่อปี และโจทก์เรียกค่าเสียหายจำนวนสูงเกินไป โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ทำหลักฐานเป็นหนังสือสละสิทธิฟ้องร้องจำเลยต่อศาลแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นพิพาทดังนี้
ข้อ 1. โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
ข้อ 2. การเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ หากไม่เป็นธรรมต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด
ข้อ 3. จำเลยต้องรับผิดเงินโบนัสหรือไม่เพียงใด
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้ยกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อ 2 และ ข้อ 3
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามประเด็นพิพาทข้อ 2 และข้อ 3 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยในประเด็นพิพาทข้อ 2และข้อ 3 ว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อเดือนเมษายน 2511 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการพิมพ์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 18,140 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน424,083 บาท พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีความผิดอันจะถือได้ว่ามีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บท ส่วนเงินโบนัสปี 2536 นั้นโจทก์ทำงานกับจำเลยเต็มปีทางบัญชี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามระเบียบของจำเลย ตามเอกสารหมาย ล.2 และพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2524ตามเอกสารหมาย จ.8 ตามระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 24 ครั้งที่ 3/2537 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2537 เอกสารหมาย จ.9 จำเลยกำหนดจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 1 ปีได้รับเต็มจำนวนหมายถึง เท่ากับเงินเดือน 1 เดือน จำเลยต้องจ่ายเงินโบนัสสำหรับปี 2537 (ที่ถูกปี 2536) ให้แก่โจทก์จำนวน18,140 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสสำหรับปี 2537พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท และเงินโบนัสจำนวน 18,140 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี และร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวตามลำดับนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานเพราะเป็นการเลิกจ้างตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลย เนื่องจากโจทก์มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการพนักงานของจำเลย พ.ศ. 2535 หมวด 6 ข้อ 23(1)(6)(9)(11) และข้อ 27 (4) เพราะโจทก์สร้างความขัดแย้งแตกแยกในหมู่พนักงาน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า ตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวอ้างว่า โจทก์มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการพนักงานของจำเลย พ.ศ. 2535 หมวด 6 ข้อ 23(1) เกี่ยวกับเรื่องพนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต สุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคีและความเที่ยงธรรม (6) พนักงานต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบแผนและวิธีปฏิบัติหรือปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการโดยเคร่งครัด (ช) พนักงานต้องไม่กระทำตัวเป็นที่กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา และ (11)พนักงานต้องไม่กระทำการใด ๆ โดยทางตรงหรือทางอ้อมก่อให้เกิดประโยชน์ขัดกับธุรกิจของจำเลย เห็นว่าจำเลยอ้างว่าสาเหตุที่เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบว่าด้วยการพนักงานของจำเลยดังกล่าว แต่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีความผิดในการปฏิบัติหน้าที่หรือมีความประพฤติเสียหายอันจะถือได้ว่ามีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เช่นนี้ข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสปี 2536 ให้โจทก์จำนวน 18,140 บาท โจทก์ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์จะได้รับเงินโบนัส เพราะขณะที่คณะกรรมการดำเนินการของจำเลยมีมติให้จ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างนั้น โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยแล้ว และจำเลยจ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างเพียงคนละ 53.08 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนที่ลูกจ้างแต่ละคนได้รับ มิใช่ 1 เดือน ตามที่โจทก์เรียกร้อง ลูกจ้างคนใดทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับเงินโบนัสเต็มจำนวนคือ 53.08 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส 18,140 บาทนั้นเห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในปี 2536 โจทก์ทำงานกับจำเลยเต็มปีทางบัญชีโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามเอกสารหมาย ล.2 และ จ.8 ตามระเบียบวาระการประชุมกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 24 ครั้งที่ 3/2537 วันที่ 22 ธันวาคม 2537เอกสารหมาย จ.9 จำเลยกำหนดจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 1 ปี ได้รับเต็มจำนวนหมายถึง เท่ากับเงินเดือน 1 เดือนจำเลยต้องจ่ายเงินโบนัสสำหรับปี 2536 ให้แก่โจทก์จำนวน18,140 บาท นั้น จะเห็นได้ว่า ตามเอกสารหมาย จ.9 เป็นการพิจารณาจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานในปี 2536 ซึ่งโจทก์ทำงานกับจำเลยเต็มปีทางบัญชี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสในปี 2536จากจำเลย ส่วนจะได้รับเท่าใดนั้น ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่จำเลยตกลงจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 1 ปีได้รับเต็มจำนวนคือ เงินเดือน 1 เดือน จำเลยอุทธรณ์ว่า ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับเงินโบนัสเต็มจำนวนคือ53.08 เปอร์เซ็นต์ จากเงินเดือนเท่านั้น เห็นว่าตามเอกสารหมายจ.9 ข้อ 4.2 ระบุว่าพนักงานเต็มปี 53.08 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน5387,273.61 บาทนั้น ย่อมหมายถึงพนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 1 ปีได้รับเต็มจำนวน คือ 53.08 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน 1 เดือนหาใช่หมายถึงได้รับเท่ากับเงินเดือน 1 เดือน ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสปี 2536จำนวน 53.08 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนจำนวน 1 เดือน คือ18,140 บาท คิดเป็นเงิน 9,628.71 บาท
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีไม่ถูกต้อง เพราะค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมิใช่เงินอยู่ในประเภทตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 31 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานแต่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ซึ่งโจทก์สามารถคิดดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น เห็นว่าความในข้อ 31 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน กำหนดว่า ถ้านายจ้างผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้กำหนดเรื่องค่าเสียหายที่นายจ้างจะต้องจ่ายระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีไม่ ค่าเสียหายที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์เป็นค่าเสียหายจากกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติใดกำหนดอัตราดอกเบี้ยของค่าเสียหายดังกล่าวไว้เช่นนี้ กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในส่วนค่าเสียหายได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น
อนึ่ง โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยในค่าเสียหายและเงินโบนัสนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง จึงเกินคำขอ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไปให้ถูกต้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน200,000 บาท และเงินโบนัสจำนวน 9,628.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย หิรัญ สนธิ จำเลย - ชุมนุม สหกรณ์การเกษตร แห่งประเทศ ไทย จำกัด
ชื่อองค์คณะ กมล เพียรพิทักษ์ อัมพร ทองประยูร สมมาตร พรหมานุกูล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan