คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2571/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 291 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227 พระราชบัญญัติจราจรทางบก ม. 157
จำเลยขับรถมาด้วยความเร็วประมาณ80ถึง90กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อขับรถมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีรถแล่นอยู่ข้างหน้าเห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ตัดข้ามถนนจำเลยใช้สัญญาณแตรเตือน2ครั้งก่อนหักหลบไปทางขวาแต่ผู้ตายตกใจเร่งเครื่องยนต์พุ่งออกมาอีกจำเลยห้ามล้อรถยนต์แล้วแต่ไม่สามารถหยุดรถได้ทันทีเมื่อปรากฏว่าเส้นทางเดินรถของจำเลยเป็นทางเอกซึ่งผู้ตายจะต้องหยุดรอให้รถของจำเลยผ่านไปก่อนประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนการที่ผู้ตายเห็นแสงไฟรถของจำเลยยังขับข้ามถนนจนเกิดชนกันขึ้นเป็นการพ้นวิสัยที่จำเลยจะหลีกเลี่ยงได้จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังซึ่งบุคคลที่อยู่ในภาวะเช่นจำเลยต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แล้วแม้รอยห้ามล้อรถจำเลยจะยาวประมาณ22เมตรก็ไม่อาจบ่งชี้ว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของรถที่แล่นสวนมาเมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมายังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยกระทำโดยประมาทจึงฟังลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 425, 850 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 245 (1), 247
การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดในความประมาทเลินเล่อและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 6,000บาท จากค่าเสียหายประมาณ 10,550 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระตามกำหนดให้โจทก์ฟ้องร้องทางแพ่งได้นั้น เป็นการตกลงชำระค่าเสียหายกันเป็นจำนวนที่แน่นอนแล้ว ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทอันเกี่ยวกับค่าเสียหายซึ่งเกิดจากมูลละเมิดขับรถชนกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องในหนี้สินอันเกิดจากมูลละเมิดระงับสิ้นไปและทำให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดระงับไปแล้วความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างย่อมระงับไปด้วย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยทั้งสาม ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ฎีกามาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2567 - 2568/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 131
การดำเนินกิจการของมูลนิธิต้องเป็นไปตามเสียงข้างมากของกรรมการมูลนิธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 71 แต่กรรมการมูลนิธิบางคนตายคงเหลือเพียง 2 คน และไม่อาจหาเสียงข้างมากได้ ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตามมาตรา 131(3) จึงต้องเลิกมูลนิธิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ม. 124
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมจำคุก 7 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลามีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ฐานพาอาวุธไปในเมือง ปรับ 100 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แสดงว่าในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลามีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 4 ปี มิได้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน5 ปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. 2534 มาตรา 124 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ขัดกันในสาระสำคัญและขาดเหตุผล ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยมาไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยให้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 587/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/14, 193/15, 882
หนังสือที่จำเลยที่3มีถึงโจทก์ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าจำเลยที่3ปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแต่อย่างใดถือได้ว่าจำเลยที่3ยอมรับตามสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่1ได้ทำไว้แก่จำเลยที่3และยอมรับที่จะจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนรายนี้แก่โจทก์แล้วแต่ขอเวลาอีก60วันเพื่อการรวบรวมหลักฐานให้ครบถ้วนจะได้ประมวลข้อเท็จจริงทั้งหมดซึ่งเป็นเรื่องดำเนินการตามขั้นตอนทางปฏิบัติของบริษัทจำเลยที่3เท่านั้นการกระทำของจำเลยที่3เป็นการกระทำอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์แล้วอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา139/14เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตามมาตรา193/15หนังสือที่จำเลยที่3มีถึงโจทก์ลงวันที่25มีนาคม2533เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่23สิงหาคม2534ยังไม่เกินสองปีคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่3จึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา882
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 87, 88
ในการยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยจำเลยต้องกระทำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะยื่นบัญชีระบุพยานมิใช่กระทำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยยื่นบัญชีระบุพยานคือบทบัญญัติมาตรา88วรรคแรกและวรรคสี่แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่13)พ.ศ.2535ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นกำหนดวันชี้สองสถานในวันที่7กรกฎาคม2537จำเลยจึงต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันที่7กรกฎาคมไม่น้อยกว่าสิบห้าวันที่จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อวันที่22มิถุนายน2537นั้นเป็นการยื่นก่อนวันชี้สองสถานเพียง14วันจึงเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา88วรรคแรกดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในบัญชีระบุพยานจำเลยว่า"สำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายรวมสำนวน16อันดับ"ก็ตามแต่เมื่อต่อมาความปรากฎแก่ศาลชั้นต้นว่าการยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลชั้นต้นก็ย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งที่ได้สั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยไว้โดยไม่ถูกต้องนั้นได้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า"ปรากฎว่าคดีนี้จำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานคดีไม่มีประเด็นที่สืบพยานจำเลย"นั้นถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้เพิกถอนคำสั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยซึ่งสั่งโดยไม่ถูกต้องไว้แต่เดิมนั้นโดยปริยายแล้วต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและไม่ปรากฎว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องขออ้างพยานหลักฐานเช่นนั้นว่าต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานโดยแสดงเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ตามมาตรา88วรรคสี่แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งทั้งกรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา87(2)จำเลยจึงไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานมาสืบแต่อย่างใดที่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานจำเลยหรือไม่อนุญาตให้จำเลยนำพยานหลักฐานเข้าสืบนั้นจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 18 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ม. 104 (2), 124
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย10ปีและให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีกำหนดขั้นต่ำ2ปีและขั้นสูง3ปีนับแต่วันพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534มาตรา104(2)ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยจึงไม่เป็นการลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา18และต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน5ปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534มาตรา124
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 26 วรรคท้าย
เมื่อจำเลยทั้งสามต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา26วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ7.5ต่อปีตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองเนื่องจากโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดโดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวว่ามีอัตราเท่าใดเพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นก็ต้องเป็นไปตามนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2540/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36
ในคดีอาญาที่โจทก์มีคำขอให้ริบของกลางนั้นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 เพียงแต่บัญญัติ ว่าในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ 34 แล้วก็ให้เจ้าของแท้จริงยื่นคำเสนอขอคืนต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดได้เท่านั้น แต่หาตัดสิทธิเจ้าของที่แท้จริงจะขอยื่นคำเสนอก่อนเวลาดังกล่าวไม่ฉะนั้น เจ้าของที่แท้จริงจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางระหว่างพิจารณาคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2528/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172
ฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์และจำเลยที่1ได้ทำพิธีหมั้นกันโดยฝ่ายจำเลยที่1ได้มอบของหมั้นเป็นแหวนพลอยจำนวน1วงในการหมั้นจำเลยที่1สัญญาว่าหลังจากหมั้นแล้วจะทำพิธีแต่งงานอยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยาตามประเพณีกันต่อไปต่อมาจำเลยที่1เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นโดยไปสมรสกับจำเลยที่2ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ดังนี้ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วจำเลยที่1ก็ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่1กับโจทก์มิได้มีการหมั้นกันและจำเลยที่1มิได้ผิดสัญญาหมั้นแสดงว่าจำเลยที่1เข้าใจฟ้องโจทก์และต่อสู้คดีได้ถูกต้องทั้งสาระสำคัญของคำฟ้องก็อยู่ที่ว่าได้มีการทำสัญญาหมั้นกันและมีการผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ส่วนข้อที่ว่าโจทก์กับจำเลยที่1มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่1จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาเพื่อแสดงให้เห็นว่าการหมั้นนั้นจะมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายหรือไม่เท่านั้นโจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในคำฟ้องด้วยฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม