คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8480/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 11, 150, 171, 193/30, 194, 369, 456, 535, 1336 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 183
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากโจทก์ทั้งเจ็ดโดยเด็ดขาด ส่วนหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินข้อ 6 เป็นเพียงคำมั่นจะให้โดยเสน่หา เมื่อคำมั่นนั้นไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงตกเป็นโมฆะทั้งจำเลยได้เข้าประกอบกิจการเหมืองแร่แล้วและยังประกอบกิจการ เหมืองแร่อยู่จึงไม่ต้องคืนที่ดินให้โจทก์ทั้งเจ็ด และจำเลย ได้การครอบครองและได้กรรมสิทธิ์มาโดยเปิดเผยและ ชอบด้วยกฎหมายเกินกว่า 10 ปี คำให้การจำเลยนี้เมื่อรวมความแล้ว หมายถึงจำเลยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหนังสือสัญญาซื้อขาย ที่ดิน ข้อ 6 นั่นเองคำให้การของจำเลยจึงไม่ขัดแย้งกัน แต่อย่างใด และชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว ก่อนที่จำเลยจะเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับพิพาทบิดาจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ที่ 1ถึงที่ 6 ไว้ก่อนแล้ว เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2513 ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.9 และ ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับพิพาทข้อ 1 ระบุไว้ โดยแจ้งชัดว่าให้ถือหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.9เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ดังนี้ แม้หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับพิพาทจะระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินก็ตามแต่ในข้อ 2 ของหนังสือสัญญาดังกล่าวระบุไว้ว่า โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะผู้ขายทั้งหมดจะทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแก่จำเลยในฐานะผู้ซื้อ ณ สำนักงานที่ดินต่อไปแสดงว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทมิได้เสร็จเด็ดขาดตามข้อความที่ปรากฏในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับพิพาทเท่านั้นแต่จะต้องมีการจดทะเบียนกันก่อนจึงจะสมบูรณ์ และต่อมาโจทก์ทั้งเจ็ดกับจำเลยก็ได้ทำการจดทะเบียนขายที่ดินเฉพาะส่วนของที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นการชำระหนี้และปฏิบัติตามสัญญาบางส่วนของสัญญาไปแล้วเช่นนี้ หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับพิพาทจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินย่อมมีผลบังคับใช้ได้โดยไม่ต้องจดทะเบียน และข้อตกลงจะคืนที่ดินพิพาทตามข้อ 6 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาดังกล่าวย่อมใช้บังคับกันได้ระหว่างโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยในฐานะเป็นบุคคลสิทธิ สัญญาข้อ 6 ในหนังสือสัญญาจะขายที่ดินฉบับพิพาทระบุว่า "ผู้ซื้อขอให้คำมั่นไว้ต่อผู้ขายว่า การซื้อที่ดินตามหนังสือสัญญานี้ ผู้ซื้อตกลงซื้อที่ดินเพื่อประโยชน์ในการทำเหมืองแร่เท่านั้น และภายในกำหนดสิบปี เมื่อผู้ซื้อมิได้ประกอบกิจการเหมืองแร่หรือใช้ประโยชน์บนที่ดินเพื่อการทำเหมืองแร่แล้วผู้ซื้อยินยอมคืนที่ดินทั้งหมดให้แก่ผู้ขายโดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น" ดังนี้เป็นเงื่อนไขข้อหนึ่งของการซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน จึงไม่ใช่คำมั่นจะให้โดยเสน่หาแม้ไม่จดทะเบียนก็มีผลผูกพันต่อคู่สัญญา เพราะเป็นเงื่อนไขจะซื้อจะขายที่ดิน และเมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งมีผลบังคับใช้ได้โจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้ฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วน ดังนี้การที่โจทก์ทั้งเจ็ดนำสืบถึงเหตุที่มาของการมีเงื่อนไขตามสัญญาในสัญญาจะซื้อขาย ที่ดินฉบับพิพาทจึงกระทำได้ ไม่ถือว่าเป็นการนำสืบ เปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร สัญญาจะซื้อขายที่ดินฉบับพิพาทระบุไว้โดยแจ้งชัดว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์ในการทำเหมืองแร่เท่านั้นและภายในกำหนด 10 ปี เมื่อจำเลยมิได้ประกอบกิจการเหมืองแร่หรือใช้ประโยชน์บนที่ดินเพื่อทำเหมืองแร่แล้วจำเลยในฐานะผู้ซื้อยินยอมคืนที่ดินพิพาททั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นฝ่ายผู้ขายโดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆทั้งสิ้น ย่อมแสดงว่าในขณะที่จำเลยทำสัญญานั้นจำเลยมีเจตนาจะใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทเพื่อกิจการทำเหมืองแร่โดยเฉพาะเท่านั้น ไม่มีเจตนาจะใช้เพื่อกิจการอื่นทั้งจำเลยก็ได้เข้าทำเหมืองแร่บนที่ดินพิพาทภายหลังทำสัญญาแล้ว พฤติการณ์จึงเป็นการสอดคล้องต้องกันว่าจำเลยมีเจตนาเข้าผูกพันตามสัญญาดังกล่าว เมื่อข้อความในข้อ 6 ระบุไว้ว่า จำเลยในฐานะผู้ซื้อจะต้องโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ทั้งเจ็ดในสองกรณีด้วยกันคือ ภายในกำหนด 10 ปี หากจำเลยมิได้ประกอบกิจการเหมืองแร่บนที่ดินพิพาทกรณีหนึ่ง และอีกกรณีหนึ่งคือจำเลย ได้เข้าใช้ประโยชน์บนที่ดินพิพาทเพื่อทำกิจการเหมืองแร่ เสร็จแล้ว ข้อความในข้อ 6 หาได้ระบุแต่เฉพาะว่าเมื่อจำเลยไม่ได้เข้าทำกิจการเหมืองแร่บนที่ดินพิพาทภายในกำหนด 10 ปีต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งเจ็ดเพียงประการเดียวไม่ดังนี้ เมื่อจำเลยได้เข้าทำกิจการเหมืองแร่บนที่ดินพิพาทแล้วจำเลยจึงไม่ต้องคืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งเจ็ดในกรณีที่หนึ่งแต่จำเลยยังมีภาระต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดในกรณีที่สองคือภายหลังจากจำเลยได้เข้าใช้ประโยชน์ทำกิจการเหมืองแร่บนที่ดินพิพาทเสร็จแล้ว ต่อมาเมื่อจำเลยได้ใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาทเพื่อทำกิจการเหมืองแร่เสร็จแล้วกรณีจึงเข้าเงื่อนไขตามคำมั่นที่จำเลยให้ไว้ในข้อ 6 จำเลย จึงต้องโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ทั้งเจ็ดตามสัญญาแม้โจทก์ทั้งเจ็ดเคยมอบที่ดินพิพาทให้บิดาจำเลยเข้าครอบครองตั้งแต่ปี 2513 ก็ตาม แต่จำเลยเข้าทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับพิพาทกับโจทก์ทั้งเจ็ดอีก แสดงว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ทั้งเจ็ดยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและต่อมาโจทก์ทั้งเจ็ดกับจำเลยได้ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งเจ็ดโดยการจดทะเบียนโอนขาย โจทก์ทั้งเจ็ดกับจำเลยทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2522 และจำเลยเพิ่งทำเหมืองแร่เสร็จเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2529 เมื่อปรากฏว่าสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดในการที่จะเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ทั้งเจ็ดตามสัญญา ข้อ 6 เกิดเมื่อจำเลยใช้ประโยชน์บนที่ดินพิพาทเพื่อทำกิจการเหมืองแร่เสร็จในวันที่ 6 ธันวาคม 2529โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2535คดีของโจทก์ทั้งเจ็ดจึงยังไม่ขาดอายุความ 10 ปี ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้เดิม และดำเนินการกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ได้และศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ก่อนที่จำเลยจะนำสืบพยานของจำเลยจึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย การเพิกถอนประเด็นข้อพิพาทของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8408/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 118 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 120, 126, 192
แม้โจทก์บรรยายฟ้องผิดไปว่า บริษัทฮ. เป็นผู้เสียหายก็ตามแต่ทางพิจารณาได้ความว่า บริษัทส.เป็นผู้เสียหายการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นผัดฟ้องฝากขังก็ระบุชื่อผู้เสียหายถูกต้องมาแต่แรก ดังนี้ ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย และข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้เพราะไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจึงลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 192 วรรคสองกรณีมิใช่เป็นเรื่องทางพิจารณาได้ความแตกต่างในสาระสำคัญที่ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสอง ตราสารใดที่ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 นั้น จะใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะคดีแพ่งเท่านั้น ไม่รวมถึงคดีอาญาด้วย ดังนี้การที่ผู้เสียหายทำหนังสือให้ ฐ. ผู้รับมอบอำนาจไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ แม้หนังสือดังกล่าวจะปิดอากรแสตมป์ 10 บาท ก็ตาม แต่เมื่อไปแจ้งความตามหนังสือดังกล่าวแล้ว กรณีเป็นการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์และเมื่อมีการร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8396/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 680
สัญญาค้ำประกันฉบับพิพาทในช่องผู้ค้ำประกันมีชื่อจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อไว้ และมีข้อความระบุไว้อยู่เหนือลายมือชื่อว่า ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันกู้เงินให้แก่ มีข้อสัญญาดังแจ้งต่อไปนี้ ซึ่ง ผู้กู้ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินของท่านไปเมื่อวันที่ เดือน พ.ศ.นั้น ถ้า ล้มตายเสียก็ดี หลบหนีหายไปเสียก็ดีหรือมีตัวอยู่ก็ดี ท่านจะเรียกร้องต้นเงินและดอกเบี้ยแก่ไม่ได้ โดยเหตุประการใด ๆ ก็ดี ข้าพเจ้าผู้ค้ำประกันยอมใช้ต้นเงิน ดอกเบี้ย และค่าเสียหายอื่น ๆ ให้แก่ท่านตามที่ได้ทำสัญญาไว้ให้แก่ท่านจนครบ ทันใดนี้ผู้เขียนสัญญาได้อ่านข้อสัญญาให้ข้าพเจ้าเข้าใจโดยละเอียดตลอดทุกข้อแล้วข้าพเจ้าได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยานผู้อยู่พร้อมกัน ณ ที่นี้ ข้อความดังกล่าวทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้อยู่ในกระดาษแผ่นเดียวกันแต่อยู่คนละหน้าต่อจากหนังสือสัญญากู้เงินที่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้ยืมคือจำเลยที่ 1เป็นสำคัญ ข้อความดังกล่าวอ่านแล้วเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นหลักฐานแห่งการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 วรรคสอง โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1806/2540
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , , ,
โจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าจ้างเป็นอัตราเดือนละตามจำนวนที่กำหนดไว้แน่นอนการคิดค่าจ้างเป็นรายเดือนนี้ย่อมไม่มีการนำจำนวนวันละเวลาที่มาปฏิบัติงานมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าจ้างในการมาปฏิบัติงานของโจทก์ดังนี้หากโจทก์จะขาดงานไปบ้างก็ถือเป็นเพียงการปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฐานละทิ้งหน้าที่เท่านั้นการที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างรายเดือนลงเวลามาปฏิบัติงานกะกลางคืนตั้งแต่เวลา19.57นาฬิกาถึงเวลา4นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นอันเป็นเท็จย่อมมีผลเป็นการขาดงานไปหนึ่งกะเท่านั้นกรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ในค่าจ้างโดยไม่ชอบและประสงค์ให้จำเลยได้รับความเสียหายแก่การผลิตจึงไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47(1)และ(3)การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดดังกล่าวจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 438/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 377, 456, 821 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 246, 247
แม้จำเลยที่ 1 จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการค้าของบริษัทจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 เป็นบิดา ร.ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 และขณะที่จำเลยที่ 2ดำเนินโครงการการจัดสรรที่ดินขายเป็นแปลงย่อยพร้อมบ้านจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวประกอบกับจำเลยที่ 2 ได้ปักป้ายโฆษณาไว้ปากทางเข้าหมู่บ้าน โครงการ มีสำนักงานตั้งอยู่บริเวณหน้าหมู่บ้านโครงการดังนี้ พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่า จำเลยที่ 1 รู้เห็นในการจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใน ที่ดินดังกล่าวมีอำนาจจัดสรรที่ดินดังกล่าวได้เพียงผู้เดียว โจทก์จองซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 2 พร้อมให้จำเลยที่ 2ปลูกสร้างบ้านในที่ดินตามใบจอง ซึ่งกำหนดให้โจทก์มาทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเมื่อจำเลยที่ 2 ได้วางผังแล้วเมื่อจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้วางผังที่ดินแปลงที่โจทก์จองซื้อตามใบจอง การที่โจทก์ยังไม่ได้ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 2 จึงหาได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและสละสิทธิในใบจองตามข้ออ้างของจำเลยทั้งสองไม่ การที่โจทก์ได้วางเงินจองไว้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมถือได้ว่าเป็นการให้มัดจำและเป็นหลักฐานว่าได้ทำสัญญากันขึ้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 อีกทั้งตามใบจองได้ระบุ จำนวนเนื้อที่ดินที่โจทก์จองซื้อ ราคาที่ดินแบบบ้านที่จะปลูกสร้างและราคาก่อสร้าง ตลอดจนบริเวณของที่ดินที่จองซื้อกับระบุว่าดังเอกสารแนบท้าย ซึ่งตามแผนผังที่ดินก็ระบุที่ดินที่โจทก์จองซื้อคือที่ดินในส่วนสีส้มกรณีจึงมีสาระสำคัญครบถ้วน เป็นสัญญาจะซื้อจะขายอันบังคับจำเลยที่ 2 ตามใบจองได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 629 และมีอำนาจจัดสรรที่ดินดังกล่าวได้ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ปลูกสร้างบ้านและโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเสียภาษีในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกับโจทก์ออกค่าธรรมเนียมการซื้อขายและค่าธรรมเนียมในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินคนละครึ่ง กับให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดต่อศาลตามคำขอของโจทก์ จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งในส่วนนี้แต่อย่างใด ทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 การที่ ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ ย่อมเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นจากที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 172/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 1388
การจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินของโจทก์ได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นภารจำยอมเรื่องทางเดินทั้งแปลงการวางท่อระบายน้ำระบบประปาไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคอื่นการที่จำเลยทั้งสี่จ้างรถบรรทุกดินเข้ามาถมที่ดินของจำเลยทั้งสี่ซึ่งมีจำนวนหลายไร่ถือได้ว่าเป็นการใช้ทางภารจำยอมเกินกว่าควรกว่าปกติย่อมทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิที่จะทำได้การที่โจทก์นำหลักปักกีดขวางมิให้รถบรรทุกดินแล่นผ่านที่ภารยทรัพย์เข้าไปถมที่ดินของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลยทั้งสี่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1804/2540
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 54 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
จำเลยอุทธรณ์ว่าที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงอัตราวันละ1,883.08บาทขัดกับเอกสารและคำรับของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้กรณีต้องฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าจ้างเดือนละ40,800บาทอันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา54 สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ46วรรคสามหมายถึงสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตั้งแต่แรกเมื่อเข้าทำสัญญากันว่าตกลงจ้างมีกำหนดระยะเวลานานเท่าใดเมื่อครบกำหนดระยะเวลานั้นแล้วก็จะไม่มีการจ้างกันต่อไปอีก นอกจากจำเลยทั้งสองตกลงจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลา15เดือนแล้วยังมีข้อความต่อไปอีกว่า"และสามารถต่ออายุสัญญาได้โดยการตกลงร่วมกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของโครงการ"ดังนี้เมื่อครบกำหนดระยะเวลา15เดือนแล้วหากงานตามโครงการของจำเลยทั้งสองยังมีความต้องการจ้างโจทก์ต่อไปอีกจำเลยทั้งสองและโจทก์สามารถตกลงต่ออายุสัญญาคือขยายระยะเวลาการจ้างต่อไปอีกได้งานตามโครงการของจำเลยทั้งสองจะหมดความจำเป็นที่จะจ้างโจทก์เมื่อใดไม่อาจกำหนดระยะเวลาให้แน่นอนลงไปได้การจ้างจะมีกำหนดระยะเวลานานเท่าใดจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของโครงการซึ่งอาจมีต่อไปได้เรื่อยๆจนกว่าจะหมดความจำเป็นการที่สัญญาดังกล่าวจะได้กำหนดระยะเวลาการจ้างช่วงแรกไว้เป็นเวลา15เดือนก็ถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ46วรรคสามอันจะทำให้จำเลยทั้งสองได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เมื่อเลิกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8407/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 188, 207
ผู้ที่จะมีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 นั้น นอกจากจะต้องเป็นคู่ความฝ่ายที่ถูกศาลสั่งว่าขาดนัดพิจารณาแล้ว จะต้องปรากฏว่าศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แพ้คดีในประเด็นข้อพิพาทด้วย คดีนี้ผู้คัดค้านนำคำคัดค้านและขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาลชั้นต้นหลังจากที่ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรชายด้วย กฎหมายของผู้ตายเสร็จสิ้นไปก่อนแล้ว การที่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำคัดค้านและไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี คดีนี้จึงยังคงเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทและไม่มีประเด็นข้อพิพาท เมื่อผู้คัดค้านมิได้ถูกศาลสั่งว่าขาดนัดพิจารณา และศาลมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้คัดค้านแพ้คดีในประเด็นข้อพิพาท ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 207
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8402/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 428
แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเพียงผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างอาคารในที่ดินที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างอาคารโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะเป็นผู้เลือกหาจำเลยที่ 1 และที่ 2ให้เป็นผู้รับจ้าง การก่อสร้างต้องเป็นไปตามการงานที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 สั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำตามข้อบังคับในสัญญาจ้าง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 428
จำเลยที่ 7 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมก่อสร้างอาคาร มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบแปลนที่กำหนดและตามหลักวิชาการ ถ้าจำเลยที่ 7 ควบคุมดูแลให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขุดดินทำฐานรากของอาคารตามหลักวิชาการด้วยความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้ว ย่อมจะไม่เกิดผลเสียหายแก่ตึกแถวของโจทก์ จึงถือว่าจำเลยที่ 7 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อจนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 7 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 245 (1) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 39, 51
ศาลแรงงานมิได้กำหนดประเด็นเรื่องการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไว้การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าจำเลยที่2ที่5และที่6ต้องรับผิดเนื่องจากเป็นความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่1และที่2จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นหรือนอกจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาคดีและเนื่องจากหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งหกร่วมรับผิดนั้นเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่1ที่3และที่4ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา245(1)ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา31