คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5588

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5588/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 165, 176

โจทก์มิได้สมัครใจซื้อรถบรรทุก 10 ล้อ คันเกิดเหตุจากจำเลย จำเลยมิได้เจ้าของรถคันดังกล่าวแล้วแต่กลับกล่าวหาว่าโจทก์ถอดเอาอุปกรณ์ของรถคันดังกล่าวไปขายอันเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ แล้วบังคับให้โจทก์ซื้อรถคันดังกล่าวในราคา55,000 บาท หากไม่ซื้อก็จะดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหายักยอกทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการข่มขู่โจทก์จนโจทก์ จำต้องยอมลงลายมือชื่อในบันทึกการชำระหนี้พิพาท และยอมมอบเช็คจำนวนเงิน 55,000 บาท ให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลย ดังกล่าวมาถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม แต่ถือได้ว่าเป็นภัยถึงขนาดที่จะจูงใจให้โจทก์มีมูล ต้องกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่เสรีภาพของโจทก์ เป็นภัย อันใกล้จะถึงและร้ายแรงเท่ากับที่จะพึงกลัวต่อการอันถูกจำเลย ข่มขู่เอานั้น บันทึกการชำระหนี้ดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ได้บอกล้างแล้ว บันทึกการชำระหนี้ดังกล่าว จึงเป็นโมฆะเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นโจทก์ไม่จำต้องรับผิด ตามบันทึกการชำระหนี้ดังกล่าวนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 587 บัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายประมวลรัษฎากร ประเภทการค้า 4 บัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายประมวลรัษฎากร ประเภทการค้า 10 ประมวลรัษฎากร

โจทก์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับบัตรเครดิต โดยโจทก์จะออกบัตรเครดิตของโจทก์ให้แก่สมาชิกเพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากสถานธุรกิจที่เป็นคู่สัญญากับโจทก์ว่าจะรับบัตรเครดิตของโจทก์แทนการรับชำระหนี้ด้วยเงินสดโดยให้ผู้ใช้เครดิตลงลายมือชื่อไว้ในใบบันทึกการซื้อสินค้าหรือใช้บริการแล้วสถานธุรกิจดังกล่าวจะนำใบบันทึกดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการจากโจทก์ โจทก์จะชำระเงินตามจำนวนในบันทึกให้แก่สถานธุรกิจโดยหักส่วนลดไว้ร้อยละ 3ถึง 3.5 จากนั้นโจทก์จะไปเรียกเก็บเงินค่าสินค้าหรือบริการตามใบบันทึกจากสมาชิกผู้ใช้บัตรเครดิต หากสมาชิกไม่ชำระเงินให้โจทก์ภายในกำหนดเวลา โจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่ค้างชำระจนกว่าสมาชิกจะชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับสมาชิกผู้ถือบัตร หากโจทก์เก็บเงินจากสมาชิกไม่ได้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิไปไล่เบี้ยหรือเรียกคืนจากสถานธุรกิจดังนี้ การดำเนินกิจการของโจทก์จึงมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์รับเก็บหนี้สินแทนสถานธุรกิจ หากแต่เป็นเรื่องที่สถานธุรกิจโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าสินค้าหรือบริการให้แก่โจทก์โดยโจทก์ใช้เงินทุนของโจทก์ในการรับซื้อสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าสินค้าหรือค่าบริการจากสถานธุรกิจที่เป็นคู่สัญญากับโจทก์ การดำเนินกิจการของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ประกอบธุรกิจของโจทก์เองมิใช่รับจัดธุรกิจให้ผู้อื่น รายรับของโจทก์จากกิจการดังกล่าวคือรายรับจากส่วนลดค่าสินค้าหรือบริการตามบัตรเครดิตจึงมิใช่รายรับจากการรับจัดธุรกิจให้ผู้อื่น ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าแห่ง ประมวลรัษฎากรในประเภทการค้า 10นายหน้าและตัวแทน แต่ปรากฏว่าธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ธนาคารหลายแห่งประกอบอยู่เป็นปกติ จึงถือได้ว่าการประกอบธุรกิจของโจทก์เป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามประเภทการค้า 12 ธนาคาร โจทก์ได้ให้บริการแก่สมาชิก ผู้ถือบัตรเครดิตของโจทก์ในการเบิกถอนเงินสดฉุกเฉินจากเครื่องเบิกถอนเงินเอ.ที.เอ็ม. ของธนาคารต่าง ๆ ที่ทำสัญญาไว้กับโจทก์ได้โดยโจทก์จะคิดค่าธรรมเนียมผู้ถอนในอัตราร้อยละ 5 ของยอดเงินที่เบิกถอนบวกด้วยค่าบริการครั้งละ 100 บาท แม้โจทก์จะมิใช่ธนาคาร แต่ประกอบกิจการให้เบิกถอนเงินสดฉุกเฉินได้เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์รายรับจากค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินฉุกเฉินของโจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าตามประเภทการค้า12 ธนาคาร เช่นเดียวกัน โจทก์เป็นผู้นำเข้าเช็คเดินทางของบริษัท อ. ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเก็บรักษาและแจกจ่ายให้แก่ธนาคารที่ขายเช็คเดินทางให้แก่บุคคลทั่วไป ในการเก็บรักษาและแจกจ่ายให้แก่ธนาคารต่าง ๆ จะมีรายจ่าย เช่น ค่าภาษีการนำเข้าค่าจ้างพนักงาน ค่าจัดส่ง และค่าพาหนะต่างๆ โจทก์จะทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปก่อน แล้วเรียกคืนจากบริษัทอ.ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมค่าบริการอีกร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายดังกล่าว ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัทอ.ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นข้อตกลงที่โจทก์ผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการจนสำเร็จให้แก่บริษัทอ.ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นให้แก่โจทก์ผู้รับจ้างเท่ากับร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายที่โจทก์ทดรองจ่ายไปก่อน ดังนั้น สัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทอ.จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ค่าบริการที่โจทก์ได้รับมาดังกล่าวจึงเป็นรายรับจากการรับจ้างทำของตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ในประเภทการค้า 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5567/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1605, 1748, 1754 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 127

เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุตรที่ ฉ.ได้ให้การรับรองว่าเป็นบุตรแล้ว แม้จำเลยจะมีเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านนักเรียนที่ระบุว่า โจทก์เป็นบุตร ฉ.และนางแฉล้มมาแสดงก็ตาม แต่เมื่อพยานโจทก์ที่นำสืบมาฟังได้ดังกล่าวข้างต้น กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้นำสืบถึงความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านกับทะเบียนนักเรียนอันเป็นการนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 แล้ว แม้จำเลยแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของ ฉ. โดยมิได้แจ้งว่าโจทก์เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกด้วยก็ตาม แต่การที่จำเลยไปขอรับมรดกของฉ.โดยระบุบัญชีเครือญาติของฉ. เจ้ามรดกว่ามีเฉพาะจำเลยและ ส. บุตรนายเฉลียวเพียง 2 คน เท่านั้นที่เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของ ฉ.เจ้ามรดกและส. ไม่ขอรับมรดกโดยไม่ได้ระบุถึงโจทก์ด้วยตามพฤติการณ์เพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องปิดบังทรัพย์มรดก อันจะเป็นเหตุให้จำเลยถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 ฉ. เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2532โจทก์ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกภายหลังจากที่ฉ. ถึงแก่กรรมแล้วโดยได้รับอนุญาตจากจำเลย กรณีจึงมิใช่โจทก์ในฐานะทายาทคนหนึ่งมีเจตนายึดถือเพื่อตนอันจะมีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดก ฉ. ร่วมกับจำเลยแต่ประการใด แต่เป็นการครอบครองแทนจำเลยและเมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอรับโอนที่ดินมรดก โจทก์ก็ไปด้วยและโจทก์ไม่ได้ขอแบ่งที่ดินมรดก เมื่อรับฟังประกอบกับเมื่อขณะที่จำเลยขอรับโอนที่ดินมรดกจำเลยก็ไม่ได้ระบุว่าโจทก์เป็นทายาท ดังนี้ถือได้ว่า โจทก์มิได้ครอบครองที่ดินมรดกอย่างเจ้าของ และการครอบครองที่ดินมรดกของจำเลยมิใช่การครอบครองที่ดินมรดกแทนโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ ฉ. เจ้ามรดกถึงแก่กรรมคดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5565/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 204, 383, 386, 388, 587

แม้หนังสือสัญญาว่าจ้างทำเฟอร์นิเจอร์ฉบับพิพาทจะได้กำหนดให้ทำเฟอร์นิเจอร์ส่งมอบแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2532 แต่ต่อมาโจทก์ ในฐานะผู้รับจ้างกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างก็ได้ตกลงเลื่อนกำหนดวันส่งมอบงานออกไปเป็นให้ส่งมอบงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2533 แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอากำหนดตามสัญญาเดิม เป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าโจทก์ ส่งมอบงานล่าช้าโดยถือว่าโจทก์ผิดสัญญาก่อนวันที่ 5สิงหาคม 2533 หาได้ไม่ โจทก์ได้ตกลงทำสัญญากับจำเลยที่ 1 แล้วว่าหากทำไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2533 ก็จะยอมให้ปรับโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ผ่อนผันโดยไม่ทักท้วง พฤติการณ์แสดงว่าข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการส่งมอบล่าช้าหรือไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเดิมคู่สัญญาต่างมีเจตนาระงับกันไปโดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดสัญญาอีกต่อไปจนกว่าจะล่วงพ้นวันที่ 5 สิงหาคม2533 ดังนี้ เมื่อโจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนทั้งหมดแล้วในวันที่ 10 กันยายน 2533 ล่าช้าไปจากวันที่5 สิงหาคม 2533 เป็นระยะเวลา 35 วัน ซึ่งจำเลยที่ 1ก็มิได้โต้แย้ง เท่ากับว่าโจทก์ผิดสัญญาเพียง 35 วันที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดปรับรายวันรวม 35 วัน มาจึงชอบแล้ว เบี้ยปรับถือเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาชดใช้แก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญา แต่ก็มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าจะต้องเป็นไปตามข้อตกลง ศาลอาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5551

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5551/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 174 (2), 246, 247

โจทก์ยื่นฎีกาและยื่นคำร้องขอดำเนินคดีชั้นฎีกาอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องดังกล่าวแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง หากโจทก์ติดใจที่จะฎีกาก็ให้เสียค่าขึ้นศาลภายใน 15 วัน ครบกำหนดโจทก์นำค่าขึ้นศาลบางส่วนมาชำระและขอขยายเวลาเพื่อหาเงินค่าขึ้นศาลส่วนที่เหลือมาชำระ ศาลชั้นต้นอนุญาตโจทก์นำเงินค่าขึ้นศาลส่วนที่เหลือมาชำระในวันที่ครบกำหนดคือวันที่ 26 มีนาคม 2540 ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ในวันที่ 27 มีนาคม 2540 กำหนดให้โจทก์นำส่งหมายเรียกให้จำเลยภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งรับฎีกาและสั่งให้โจทก์นำส่งหมายเรียกในวันที่โจทก์นำค่าขึ้นศาลส่วนที่เหลือมาชำระแต่ได้สั่งในวันรุ่งขึ้นและไม่ได้แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้โจทก์ทราบ ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้มาลงลายมือชื่อทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วกรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ยังไม่ทราบคำสั่งศาล จึงถือว่าโจทก์ทิ้งฎีกาหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5546

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5546/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 208

แม้ในขณะถูกฟ้องและถูกบังคับคดี จำเลยจะไม่ทราบว่าจำเลยถูกฟ้องและถูกบังคับคดีเพราะขณะนั้นจำเลยเดินทางจากประเทศไทยไปทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ที่เกาะฮ่องกง และเพิ่งเดินทางกลับประเทศไทย ทั้งหลังจากนั้นจำเลยไปอยู่ที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่จังหวัดระยองโดยที่จำเลยไม่เคยได้รับสำเนาคำฟ้องหมายเรียกให้ยื่นคำให้การและหมายบังคับคดีเลยก็ตาม แต่หลังจากจำเลยเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว จำเลยทราบว่า จำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้และจำเลยต้องตกเป็นฝ่ายแพ้คดี ตามที่จำเลยและทนายความของจำเลยได้ยื่นคำแถลงขอตรวจสำนวน และขอคัดสำเนาคำฟ้องคำพิพากษาและคำสั่ง ของศาล ดังนั้น แม้เหตุที่จำเลยต้องขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา สืบเนื่องมาจากพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเดินทางกลับมายังประเทศไทยและจำเลยทราบว่าจำเลยถูกโจทก์ฟ้องในวันที่27 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยขอตรวจสำนวนที่ศาลชั้นต้นนั้น ย่อมถือได้ว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยจะต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เสียภายใน 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงคือนับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2538 เป็นต้นไป การที่จำเลยเพิ่งยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 30ตุลาคม 2538 ถือว่าจำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5545

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5545/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 245 (1), 247

ความยินยอมของโจทก์ตามคำขอปักเสาพาดสายในที่ดินจัดสรรข้อ 9 วรรคแรก มีข้อความว่า ข้าพเจ้าขอสัญญาว่าจะปฏิบัติตามข้อบังคับการใช้ไฟฟ้าและบริการของการไฟฟ้านครหลวง(จำเลยที่ 1) รวมทั้งที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปทุกประการและข้าพเจ้าเข้าใจดีแล้วว่า เสาสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆภายนอกเครื่องวัดฯ เป็นสมบัติของการไฟฟ้านครหลวง และยินยอมให้การไฟฟ้านครหลวงเปลี่ยนแปลงต่อเติม เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้เพียงพอกับผู้ใช้ภายในและภายนอกที่ดินจัดสรรด้วย คำว่า"เปลี่ยนแปลงต่อเติม" ในข้อความดังกล่าวหมายความว่าเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมใหม่ หรือแปลงหรือต่อเติมจากของเดิมเพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไม่ว่าในหรือนอกที่ดินจัดสรรของโจทก์ให้ได้เพียงพอตามที่จำเลยที่ 1 จะเห็นสมควรตามความจำเป็น หาได้หมายความว่าจะทำได้เฉพาะเสาและสายไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายนอกเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมให้มีขนาดที่จะจ่ายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ให้เพียงพอเท่านั้นไม่ส่วนข้อความในวรรคสองว่า นอกจากนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงแบบหรือแผนผังการปักเสาพาดสายไปจากแบบแผนผังที่ข้าพเจ้ายื่นไว้ต่อการไฟฟ้านครหลวง ไม่ว่าจะเป็นด้วยกรณีใดก็ตามทำให้การไฟฟ้านครหลวงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ข้าพเจ้า (โจทก์)ขอให้สัญญาว่าจะรับผิดชอบชำระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตลอดจนค่าเสียหายให้แก่การไฟฟ้านครหลวงโดยไม่มีข้อโต้แย้งแต่ประการใดนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงยอมรับผิดที่จะชำระค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 หากแบบหรือแผนผังที่โจทก์ยื่นขอไว้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไม่ได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่อเติมเพื่อจ่ายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ให้เพียงพอตามวรรคหนึ่งแต่อย่างใด ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 1จะปักเสาพาดสายไฟฟ้าและติดตั้งเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าผ่านที่ดินของโจทก์ก็ถือได้ว่าได้รับความยินยอมจากโจทก์แล้วดังนี้จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2ที่ขอให้จำเลยที่ 1 กระทำให้ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2ก็ย่อมไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5544

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5544/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 821, 1304

คันคลองห้วยถ่านรวมทั้งทางพิพาทกว้างประมาณ 4 เมตรยาวตลอดแนวลำคลองดังกล่าว เป็นคันคลองที่เจ้าของที่ดินตามแนวคันคลองแห่งนั้นได้อุทิศที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะสำหรับจำเลยที่ 1 แม้จะไม่ได้ทำหนังสืออุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณะโดยตรงดังเช่นเจ้าของที่ดินรายอื่น ๆ แต่การที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้ทางราชการนำดินที่ได้จากการขุดคลองห้วยถ่านมาไว้ในที่ดินของจำเลยที่ 1 และไม่คัดค้านการที่จำเลยที่ 2 ผู้เช่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ได้ทำหนังสืออุทิศที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้แก่ทางราชการเพื่อใช้ทำสาธารณประโยชน์ขุดลอกคลอง รวมตลอดถึงการที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและประชาชนทั่วไปใช้ทางพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของคันคลองห้วยถ่านตลอดมาจนกระทั่งมีการปิดกั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 อุทิศที่ดินของตนส่วนที่เป็นคันคลองห้วยถ่านและทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์โดยปริยาย การอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นหาจำต้องกระทำด้วยการอุทิศให้โดยชัดแจ้งแต่เพียงประการเดียวไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1192

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1192/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 79 วรรคสอง, 140 วรรคสอง (3), 147, 229

ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในวันที่2กุมภาพันธ์2538โดยได้มีการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้ทนายจำเลยทั้งสองทราบนัดโดยการปิดหมายตามคำสั่งศาลที่สำนักทำการงานเมื่อวันที่29ธันวาคม2537ทั้งแจ้งวันนัดให้จำเลยที่1และที่2ทราบโดยการปิดหมายที่ภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองตามฟ้องด้วยเมื่อวันที่15มกราคม2538แต่ปรากฎว่าทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่มาฟังคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ศาลชั้นต้นจึงงดการอ่านโดยถือว่าได้อ่านคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังแล้วเมื่อปิดหมายแจ้งวันนัดให้ทราบตามคำสั่งศาลเป็นการส่งโดยวิธีอื่นแทนทำให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันได้ล่วงพ้นไปแล้วนับตั้งแต่เวลาที่ได้ปิดหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา79วรรคสองฉะนั้นสำหรับทนายจำเลยทั้งสองจึงต้องถือว่าได้ทราบวันนัดฟังคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์โดยชอบตั้งแต่วันที่มกราคม2538ส่วนจำเลยที่1และที่2ถือว่าได้ทราบวันนัดโดยชอบตั้งแต่วันที่31มกราคม2538เมื่อคู่ความไม่มีฝ่ายใดมาศาลในวันนัดฟังคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในวันที่2กุมภาพันธ์2538การที่ศาลชั้นต้นได้จดแจ้งรายงานไว้ด้านหลังคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้งดการอ่านโดยถือว่าได้อ่านคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้โจทก์และจำเลยทั้งสองฟังโดยชอบด้วยกฎหมายในวันที่2กุมภาพันธ์2538นั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความมาตรา140(3)วรรคสองแล้วเมื่อจำเลยทั้งสองและโจทก์มิได้ฎีกาคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้นคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงถึงที่สุดนับแต่วันที่3มีนาคม2538เป็นต้นมาแล้วการที่จำเลยทั้งสองเพิ่งมายื่นคำร้องเมื่อวันที่26มิถุนายน2538ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่จำหน่ายคดีฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองซึ่งถึงที่สุดแล้วหาได้ไม่และเมื่อจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งขณะนั้นคดีมิได้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์แต่อย่างใดศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งคำร้องของจำเลยทั้งสองได้ตามอำนาจทั่วไปตามลำดับชั้นศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248

โจทก์ฟ้องเรียกคืนการให้ที่พิพาทราคา350,000บาทศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนคืนการให้กึ่งหนึ่งเฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินของโจทก์และยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ช.เป็นเจ้าของกึ่งหนึ่งจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องที่ดินกึ่งหนึ่งในส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นของโจทก์โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในที่ดินส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าช. มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทกึ่งหนึ่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่าช. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกึ่งหนึ่งจึงเป็นอันยุติทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์คงมีเพียง175,000บาทตามที่จำเลยอุทธรณ์เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค2พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โจทก์จึงฎีกาได้เฉพาะที่พิพาทจำนวนกึ่งหนึ่งที่จำเลยอุทธรณ์และตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค2พิพากษาทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงเป็นเพียง175,000บาทดังนั้นการที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์และช. ซื้อที่พิพาทมาจากบิดามารดาช. ที่พิพาทไม่ใช่สินส่วนตัวของช. หากฟังว่าช.ได้รับมรดกที่พิพาทมาจากบิดามารดาจริงช. ก็สละการครอบครองที่พิพาทจำนวนกึ่งหนึ่งให้โจทก์แล้วนั้นเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000บาทจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความมาตรา248วรรคหนึ่ง

« »
ติดต่อเราทาง LINE