สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5567/2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5567/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1605, 1748, 1754 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 127

เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุตรที่ ฉ.ได้ให้การรับรองว่าเป็นบุตรแล้ว แม้จำเลยจะมีเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านนักเรียนที่ระบุว่า โจทก์เป็นบุตร ฉ.และนางแฉล้มมาแสดงก็ตาม แต่เมื่อพยานโจทก์ที่นำสืบมาฟังได้ดังกล่าวข้างต้น กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้นำสืบถึงความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านกับทะเบียนนักเรียนอันเป็นการนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 แล้ว แม้จำเลยแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของ ฉ. โดยมิได้แจ้งว่าโจทก์เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกด้วยก็ตาม แต่การที่จำเลยไปขอรับมรดกของฉ.โดยระบุบัญชีเครือญาติของฉ. เจ้ามรดกว่ามีเฉพาะจำเลยและ ส. บุตรนายเฉลียวเพียง 2 คน เท่านั้นที่เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของ ฉ.เจ้ามรดกและส. ไม่ขอรับมรดกโดยไม่ได้ระบุถึงโจทก์ด้วยตามพฤติการณ์เพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องปิดบังทรัพย์มรดก อันจะเป็นเหตุให้จำเลยถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 ฉ. เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2532โจทก์ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกภายหลังจากที่ฉ. ถึงแก่กรรมแล้วโดยได้รับอนุญาตจากจำเลย กรณีจึงมิใช่โจทก์ในฐานะทายาทคนหนึ่งมีเจตนายึดถือเพื่อตนอันจะมีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดก ฉ. ร่วมกับจำเลยแต่ประการใด แต่เป็นการครอบครองแทนจำเลยและเมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอรับโอนที่ดินมรดก โจทก์ก็ไปด้วยและโจทก์ไม่ได้ขอแบ่งที่ดินมรดก เมื่อรับฟังประกอบกับเมื่อขณะที่จำเลยขอรับโอนที่ดินมรดกจำเลยก็ไม่ได้ระบุว่าโจทก์เป็นทายาท ดังนี้ถือได้ว่า โจทก์มิได้ครอบครองที่ดินมรดกอย่างเจ้าของ และการครอบครองที่ดินมรดกของจำเลยมิใช่การครอบครองที่ดินมรดกแทนโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ ฉ. เจ้ามรดกถึงแก่กรรมคดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายเฉลียว สุดรักกับนางจำปา ไวว่อง ซึ่งอยู่กินโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนายเฉลียวรับรองว่าโจทก์เป็นบุตรของนายเฉลียวตลอดมาต่อมานายเฉลียวสมรสกับจำเลย โดยจำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นบุตรของนายเฉลียวด้วย นายเฉลียวถึงแก่กรรมเมื่อวันที่16 กันยายน 2532 และมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินจำนวน 3 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 2956 ซึ่งนายเฉลียวถือกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่น กับที่ดินโฉนดเลขที่ 9314 และที่ดินโฉนดเลขที่ 9319แต่จำเลยกลับไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยโดยแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยเป็นทายาทของนายเฉลียวแต่เพียงผู้เดียว อันเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์สินมรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก ทรัพย์มรดกของนายเฉลียวย่อมตกได้แก่โจทก์และนางสุริยา สุดรักหรือบัวภิบาล บุตรของนายเฉลียวกับจำเลยคนละส่วน โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนของโจทก์เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 2856เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 3 งาน ราคา 1,150,000 บาท โฉนดเลขที่ 9314 เนื้อที่ประมาณ 3 งาน 31 ตารางวา ราคา 165,500 บาท และโฉนดเลขที่ 9319 เนื้อที่ประมาณ 1 งาน 40 ตารางวา ราคา 69,875 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,385,375 บาท โจทก์เรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งให้ ทั้งยังจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9319 แก่ผู้อื่น ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 69,875 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยจดทะเบียนให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2956 จำนวน 2,305 ส่วน และที่ดินโฉนดเลขที่ 9314 จำนวน 3 งาน 31 ตารางวา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและหากไม่ปฏิบัติได้ไม่ว่ากรณีใด ๆให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 1,150,000 บาท สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2956 และเงินจำนวน 165,500 บาท สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 9314 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า นายเฉลียวไม่เคยรับรองหรือแสดงว่าโจทก์เป็นบุตร โจทก์ไม่ใช่ทายาทของนายเฉลียวจำเลยไม่ได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเพราะนายเฉลียวมีจำเลยกับนางสุริยาเท่านั้นที่เป็นทายาทและนางสุริยาก็ยินยอมให้จำเลยรับมรดกแทนโจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยจดทะเบียนรับมรดกและขายทรัพย์มรดกตามฟ้องแต่ไม่ฟ้องคดีขอแบ่งทรัพย์มรดกภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นายเฉลียวถึงแก่กรรม คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อพ้นกำหนด1 ปี นับแต่นายเฉลียวเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นภรรยาของนายเฉลียวซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2532โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมและมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินจำนวน 3 แปลงคือที่ดินโฉนดเลขที่ 2956 ซึ่งนายเฉลียวถือกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่นกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9314 และที่ดินโฉนดเลขที่ 9319หลังจากนายเฉลียวถึงแก่กรรมโจทก์และนายทวี ชมเกษร สามีโจทก์ได้มาปลูกบ้านในที่ดินโฉนดเลขที่ 9314 โดยจำเลยเป็นผู้อนุญาต และได้ขอเลขบ้านต่อนายทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2532ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2533 จำเลยขอรับโอนมรดกที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวโดยนางสุริยาบุตรของนายเฉลียวที่เกิดแต่จำเลยไม่ขอรับมรดกในการยื่นคำขอรับโอนมรดกดังกล่าวจำเลยมิได้ระบุว่าโจทก์เป็นทายาท เจ้าพนักงานจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นของจำเลยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2533หลังจากนั้น จำเลยจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9319 แก่ผู้อื่นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2533

ที่โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า โจทก์เป็นบุตรของนายเฉลียวซึ่งนายเฉลียวได้ให้การรับรองว่าเป็นบุตรแล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุตรของนายเฉลียวที่นายเฉลียวได้ให้การรับรองว่าเป็นบุตรแล้ว แม้จำเลยจะมีสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 กับทะเบียนนักเรียนเอกสารหมาย ล.5ที่ระบุว่าโจทก์เป็นบุตรนายเฉลียวและนางแฉล้มก็ตาม แต่เมื่อพยานโจทก์ที่นำสืบมาฟังได้ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ได้นำสืบถึงความไม่ถูกต้องแห่งพยานเอกสารหมาย ล.1 ล.2 และ ล.5 นั้นอันเป็นการนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 แล้ว

โจทก์ฎีกาข้อต่อมาว่า จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายเฉลียวเพราะจำเลยแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนายเฉลียวโดยมิได้แจ้งว่าโจทก์เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาก็ตาม แต่การที่จำเลยไปขอรับมรดกของนายเฉลียว โดยระบุบัญชีเครือญาติของนายเฉลียวเจ้ามรดกว่า มีเฉพาะจำเลยและนางสุริยาบุตรนายเฉลียวเพียง 2 คน เท่านั้นเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนายเฉลียวเจ้ามรดกแต่นางสุริยา ไม่ขอรับมรดก โดยไม่ได้ระบุโจทก์ด้วย ตามพฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องปิดบังทรัพย์มรดก อันจะเป็นเหตุให้จำเลยถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 แต่ประการใด ทั้งนี้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2528 คดีระหว่างนายทุน มุงคะวงษ์ กับพวก โจทก์ นายเกียงคำ มุงคะวงษ์ กับพวก จำเลย

โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายเฉลียวเจ้ามรดกถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2532 โจทก์ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9314 ภายหลังจากที่นายเฉลียวถึงแก่กรรมแล้วโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยและตามคำขอเลขบ้านปลูกใหม่เอกสารหมาย ล.7 ก็ระบุว่าปลูกบ้านในฐานะผู้อาศัยโดยจำเลยเป็นผู้ให้ความยินยอม กรณีจึงมิใช่โจทก์ในฐานะทายาทคนหนึ่งมีเจตนายึดถือเพื่อตน อันจะมีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดกนายเฉลียวร่วมกับจำเลยแต่ประการใด แต่เป็นการครอบครองแทนจำเลย นอกจากนี้เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอรับโอนที่ดินมรดก ก็ได้ความจากนายกฤษณพงษ์ บ่อน้ำเชี่ยว พยานจำเลยเบิกความยืนยันว่า โจทก์ไปด้วยโจทก์ไม่ได้ขอแบ่งที่ดินมรดกแต่อย่างใด นายกฤษณพงษ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังประกอบกับเมื่อจำเลยขอรับโอนที่ดินมรดก ก็ไม่ได้ระบุว่าโจทก์เป็นทายาท จึงเป็นข้อสนับสนุนว่าโจทก์มิได้ครอบครองที่ดินมรดกอย่างเจ้าของ การครอบครองที่ดินมรดกของจำเลยมิใช่การครอบครองที่ดินมรดกแทนโจทก์ ปรากฏว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 11มกราคม 2538 ซึ่งพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ 16 กันยายน 2532ซึ่งเป็นวันที่นายเฉลียวเจ้ามรดกถึงแก่กรรม คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ลัด ดา ชมเกษร จำเลย - นาง ลำ พ วน สุด รัก

ชื่อองค์คณะ ยรรยง ปานุราช ไพศาล รางชางกูร พิธี อุปปาติก

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE