คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 623

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 623/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 66

สถานีรถไฟที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่านหากเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้รับข้อมูลจากสายลับแล้วก็ยากที่จะจับคนร้ายได้เมื่อจำเลยเป็นผู้หิ้วกระเป๋าหนังสีดำซึ่งภายในมีเสื้อผ้าของจำเลยและเฮโรอีนของกลางบรรจุอยู่โดยเฉพาะม้านั่งที่จำเลยนั่งและนำกระเป๋าไปวางนั้นไม่มีบุคคลอื่นใดนั่งปะปนอยู่ด้วยประกอบกับหลังจากทำบันทึกการจับกุมแล้วได้มีการถ่ายรูปจำเลยพร้อมของกลางไว้เป็นหลักฐานจึงน่าเชื่อว่าจำเลยได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมด้วยความสมัครใจหาใช่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจบังคับให้ลงชื่อในบันทึกจับกุมโดยยังไม่ได้กรอกข้อความไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 597

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 597/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 572, 863 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

โจทก์ที่2เป็นผู้เช่าซื้อรถที่จำเลยรับประกันภัยแม้จะชำระค่าเช่าซื้อยังไม่หมดมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถทั้งสองคันแต่โจทก์ที่2ในฐานะผู้เช่าซื้อมีสิทธิยึดถือและใช้ประโยชน์ตลอดจนรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดขึ้นแก่รถที่เช่าซื้อและเมื่อชำระเงินครบถ้วนแล้วรถนั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่2หรือหากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโจทก์ที่2มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนผู้ให้เช่าซื้อโจทก์ที่2จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถทั้งสองคันมีสิทธิทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยได้ตามกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งมีผลบังคับใช้ในขณะรถที่จำเลยรับประกันภัยสูญหายและในกรมธรรม์ก็มีชื่อตัวชื่อสกุลของโจทก์ที่2ปรากฏอยู่ในช่องผู้เอาประกันภัยแม้จะอยู่ในวงเล็บก็มิได้หมายความว่ามิใช่เป็นผู้เอาประกันภัยประกอบกับโจทก์ที่2เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยโจทก์ที่2จึงเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับจำเลยมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยต่างก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ใดเป็นคนร้ายลักรถที่จำเลยรับประกันภัยไปและจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ทราบว่ารถที่จำเลยรับประกันภัยอยู่ที่ใดทั้งว.คนขับรถซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ที่2ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตามพฤติการณ์จึงยังฟังไม่ได้ว่าว.ลักรถที่จำเลยรับประกันภัยไปจำเลยเพียงสงสัยว่าว.อาจจะเป็นคนร้ายเท่านั้นดังนี้จำเลยจึงต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2676

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2676/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/34, 587

สัญญาจ้างทำของไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือเพียงแต่จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์และโจทก์ตกลงรับจ้างตามที่จำเลยว่าจ้าง สัญญาจ้างย่อมเกิดขึ้นผูกพันคู่สัญญาต้องปฏิบัติตามนั้น

ผู้รับจ้างฟ้องเรียกค่าจ้างหรือค่าตอบแทนรวมทั้งเงินทดรองที่ผู้รับจ้างจ่ายแทนผู้ว่าจ้างไปก่อนตามสัญญาจ้างทำของมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 672 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก, 335 วรรคสอง (11) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

โจทก์ร่วมเป็นผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพโดยหวังผลประโยชน์ในบำเหน็จค่าฝากหรือจากการเอาเงินของผู้ฝากไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีเฉพาะการฝากเงินไว้ตามมาตรา672ว่าผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกับที่ฝากแต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวนดังนั้นเงินที่ฝากไว้ย่อมได้ชื่อว่าเป็นเงินของโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมจึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของส. ในใบคำขอใช้บริการบัตรเอ.ที.เอ็ม.แล้วนำมายื่นต่อโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมออกบัตรกรุงศรีเอ.ที.เอ็ม. ส่งมาให้ธนาคารโจทก์ร่วมสาขาท. แล้วจำเลยลักบัตรนั้นรวมทั้งซองบรรจุรหัสเพื่อใช้กับบัตรกรุงศรีเอ.ที.เอ็ม. ในชื่อของส.ไปต่อจากนั้นจำเลยจึงได้นำบัตรกรุงศรีเอ.ที.เอ็ม.ดังกล่าวไปถอนเงินของโจทก์ร่วมที่เป็นนายจ้างของจำเลยจากเครื่องฝาก-อัตโนมัติครั้งละ10,000บาทรวม16ครั้งการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา264วรรคแรก,268วรรคแรก,335(11)วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 513 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 308

ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้น กฎหมายมีเจตนารมณ์ว่าจะต้องขายให้ได้ราคาสูงสุดเท่าที่สามารถจะประมูลขายได้ เพราะหากเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดหรือศาลเห็นว่าราคาของผู้ประมูลในครั้งนั้นต่ำไปเป็นราคาที่ไม่สมควรหรือควรได้ราคาสูงกว่านั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือศาลอาจไม่อนุญาตให้ขายแล้วเลื่อนไปประกาศขายใหม่ คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ขายที่ดินพิพาทสองแปลงแก่ผู้ร้องที่ให้ราคาสูงสุดจำนวนเงิน 650,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าวงเงินที่ผู้ร้องเคยรับจำนองและรับผลประโยชน์จากการประกันภัยในวงเงินรวมกัน 1,000,000 บาท แม้ราคาประมูลสูงสุดนั้นจะสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งนอกจากเป็นการประเมินเพื่อประโยชน์ของโจทก์และทำให้ผู้คัดค้านเสียหายแล้ว การประเมินดังกล่าวเป็นเพียงการประเมินราคาเพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมในกรณียึดแล้วไม่มีการขายและเพื่อดูว่าทรัพย์สินที่ยึดเพียงพอที่จะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เป็นการประมาณราคาแบบคราว ๆ มิใช่ประเมินตามราคาท้องตลาดที่แท้จริง และการขายทอดตลาดนั้นผู้ทอดตลาดอาจคำนวณราคาท้องตลาดโดยอาศัยวงเงินที่ผู้ร้องรับจำนองประกอบกับประเพณีของธนาคารที่จะรับจำนองในวงเงินต่ำกว่าราคาทรัพย์ที่แท้จริง อีกทั้งการขายทอดตลาดคดีนี้ก็กระทำภายหลังการจำนองถึง 5 ปี ราคาน่าจะสูงขึ้นไปอีกมาก และแม้จะมีการอนุญาตให้ขายทอดตลาดมาหลายครั้งแต่การขายทอดตลาดคดีนี้เป็นการขายทอดตลาดอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก ผู้ทอดตลาดพอจะเห็นได้ว่าราคาซึ่งผู้สู้ราคาสูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอหากมีการขายใหม่จะมีผู้สู้ราคาสูงกว่าในครั้งนี้ ดังนั้น การอนุญาตให้ขายของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาด เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2644

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2644/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 1373 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

ในการซื้อขายที่พิพาทกันซึ่งมีชื่อบ. เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองคงมีแต่โจทก์ต. บ. และป. เท่านั้นที่ได้เจรจาต่อรองกันไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้รู้เห็นยินยอมหรือร่วมเจรจาอยู่ด้วยแต่ต. กลับเป็นผู้รับรองต่อโจทก์ว่าบุตรทุกคนยินยอมให้ขายที่พิพาทได้และรับว่าหากโจทก์ต้องการใช้ประโยชน์ในที่พิพาทเมื่อใดก็จะจัดการให้รื้อบ้านออกไปและก่อนซื้อโจทก์ได้ไปดูที่พิพาทและเห็นจำเลยปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ในที่พิพาทในลักษณะมั่นคงถาวรอยู่ก่อนแล้วแต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ซักถามจำเลยหรือแม้แต่บ. และต.ให้ได้ความชัดเจนว่าจำเลยปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่พิพาทได้ด้วยเหตุใดการที่โจทก์ซื้อที่พิพาทไว้ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าจำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยอันเป็นการใช้สิทธิครอบครองที่พิพาทอยู่ถือไม่ได้ว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทโดยสุจริตเมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยในพฤติการณ์เช่นนี้เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2640

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2640/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/34 (7)

แม้ตามสัญญาจ้างเหมาจะได้กำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานและหลักเกณฑ์ในการชำระค่าจ้างไว้ว่าวิธีการจ่ายค่าจ้างให้ถือเอาความแล้วเสร็จของงานจ้างเหมาแต่ละชุดเป็นเกณฑ์ในการชำระค่าจ้างแต่ละงวดโดยให้คิดเนื้องานที่ทำแล้วเสร็จก็ตราแต่ในการจ่ายค่าจ้างก่อสร้างให้โจทก์ในแต่ละครั้งไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนและจำนวนเงินที่จ่ายให้ก็สุดแล้วแต่ทางฝ่ายจำเลยซึ่งมีทั้งขอผัดชำระและมีการหักไว้บางส่วนโดยอ้างว่าจะจ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดให้เมื่อทำถนนเสร็จเรียบร้อยแล้วแสดงว่าโจทก์กับจำเลยต่างมิได้ยึดถือเอากำหนดระยะเวลาชำระค่าจ้างแต่ละงวดตามสัญญาเป็นข้อสาระสำคัญแต่ยึดถือเมื่องานเสร็จตามโครงการแล้วจะต้องชำระให้หมดสิ้นโจทก์ได้ทำงานเสร็จทั้งโครงการและส่งมอบงานงวดสุดท้ายให้จำเลยรับไปในวันที่27เมษายน2532อายุความเรียกค่าก่อสร้างและค่าจ้างจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันสิ้นสุดการทำงานตามโครงการก่อสร้างของโจทก์เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่26เมษายน2534เป็นระยะเวลาไม่เกิน2ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 393 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

สาเหตุที่โจทก์พูดว่าจำเลยนั้นเนื่องจากโจทก์ไม่พอใจที่จำเลยไม่จ่ายเงินรางวัล(tip)ให้แก่โจทก์จึงเกิดมีการทะเลาะโต้เถียงกันแล้วโจทก์จึงพูดว่าจำเลยเป็นนายจ้างที่ใช้ไม่ได้พูดจากลับกลอกเดี๋ยวว่าให้เดี๋ยวว่าไม่ให้นั้นเป็นเพียงคำพูดที่ไม่สุภาพไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าต่อหน้าธารกำนัลถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2639

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2639/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 867, 869 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172, 183

ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่าจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใดโดยกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อนก่อนสืบพยานโจทก์คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้เอาประกันภัยรถยนต์พิพาทไว้แก่จำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัยท้ายคำแถลงของจำเลยและผู้ขับรถที่เอาประกันภัยไม่ได้ต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์เกินกว่า180วันและขอให้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายว่าตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ1.10และ3.9.2เป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่โจทก์และจำเลยแถลงไม่สืบพยานศาลชั้นต้นจึงได้นัดฟังคำพิพากษาดังนี้กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยได้สละข้อต่อสู้อื่นๆแล้วทั้งตามคำให้การของจำเลยจำเลยก็มิได้อ้างเหตุว่าผู้ขับรถที่เอาประกันภัยไว้เป็นฝ่ายประมาทดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ขับรถที่เอาประกันภัยไว้ไม่ได้ขับรถโดยประมาทนั้นกรณีจึงเป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นจึงเป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้วและหาใช่เป็นการวินิจฉัยเกินไปหรือนอกเหนือจากคำฟ้องไม่ ตามตารางกรมธรรม์ข้อ1.10มีข้อความว่า"บริษัทอาจจะไม่รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์นี้เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาประกันภัยและเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์นี้"ซึ่งมีความหมายรวมถึงเงื่อนไขตามข้อกำหนดของสัญญาทุกๆข้อและรวมถึงข้อ3.9ตอนท้ายด้วยและข้อ3.9.2มีข้อความว่า"การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ใดๆหรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกิน180วันฯลฯในเวลาเกิดอุบัติเหตุ"และตอนท้ายของข้อ3.9มีข้อความว่า"การยกเว้นตามข้อ3.9จะไม่นำมาใช้ในกรณีที่ความเสียหายต่อรถยนต์ที่เกิดขึ้นและมิใช่ความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์ที่เอาประกันภัยตามกรมธรรม์นี้"ดังนี้เมื่อผู้ขับรถที่เอาประกันภัยไว้แม้จะขาดต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์เกิน180แต่กรณีที่ความเสียหายต่อรถยนต์ที่เกิดขึ้นและมิใช่เป็นความประมาทของผู้ขับจำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ตามตารางกรมธรรม์ข้อ1.10ต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 2 พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ.2495 ม. 7 พระราชบัญญัติสุขาภิบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2528 ม. 3 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 ม. 72

ตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาลพ.ศ.2495ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดนั้นไม่มีมาตราใดบัญญัติกำหนดโทษผู้กระทำผิดไว้และไม่ว่าตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล(ฉบับที่3)พ.ศ.2528มาตรา3ได้ให้ยกเลิกความในมาตรา7แห่งพระราชบัญญัติสุขาภิบาลพ.ศ.2495และให้ใช้ข้อความใหม่แทนได้บัญญัติไว้ในวรรคสุดท้ายของมาตรา7ว่า"การเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามความใน(4)ให้ใช้วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลโดยอนุโลม"ก็ตามแต่ก็มีเจตนารมณ์เพียงว่าในการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามมาตรา7(4)นั้นให้นำแต่เฉพาะวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้นทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาลไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลไว้มิได้หมายความว่าให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้ทั้งหมดการอนุโลมต้องแปลความโดยเคร่งครัดดังนั้นจะนำเอาบทกำหนดโทษผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลพ.ศ.2482มาตรา72ซึ่งอยู่ในหมวด9อันเป็นเรื่องบทกำหนดโทษมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วยหาไม่ได้ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดวิธีการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลก็ลงโทษจำเลยไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้กรณีเช่นนี้ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา2วรรคแรก

« »
ติดต่อเราทาง LINE