คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8402/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 428
แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเพียงผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างอาคารในที่ดินที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างอาคารโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะเป็นผู้เลือกหาจำเลยที่ 1 และที่ 2ให้เป็นผู้รับจ้าง การก่อสร้างต้องเป็นไปตามการงานที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 สั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำตามข้อบังคับในสัญญาจ้าง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 428
จำเลยที่ 7 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมก่อสร้างอาคาร มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบแปลนที่กำหนดและตามหลักวิชาการ ถ้าจำเลยที่ 7 ควบคุมดูแลให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขุดดินทำฐานรากของอาคารตามหลักวิชาการด้วยความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้ว ย่อมจะไม่เกิดผลเสียหายแก่ตึกแถวของโจทก์ จึงถือว่าจำเลยที่ 7 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อจนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 7 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ด้วย
โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดระงับการก่อสร้างอาคารสูง 6 ชั้น บนที่ดินโฉนดเลขที่ 18151, 18152, 18798 และ 5531 ตามใบอนุญาตให้ก่อสร้างของสำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร เลขที่ 833/2534 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2534 กับให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเงิน 6,796,003 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 475,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งเจ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงิน 1,539,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ยกฟ้องจำเลยที่ 5 และที่ 6 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งเจ็ด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงิน 739,500 บาท และค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งเจ็ด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 18797 เนื้อที่ 76 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวเลขที่ 203 และ 205 โจทก์ที่ 7 ประกอบกิจการค้าขายสินค้าประเภทบุหรี่ สุรา เครื่องกระป๋อง และของชำต่าง ๆ โดยใช้พื้นที่ชั้นล่างของตึกแถวดังกล่าว ประมาณเดือนเมษายน 2535 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่าจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างอาคารมีความสูง 6 ชั้น ชื่ออาคารร่วมจิตต์พลาซ่า บนที่ดินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งอยู่ติดต่อที่ดินและตึกแถวของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 โดยมีจำเลยที่ 6 เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ และจำเลยที่ 7 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้าง ตึกแถวของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 มีรอยแตกร้าวที่พื้นอยู่ทั่วไป และที่ผนังกำแพง เสา คาน และฝ้าเพดาน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำการก่อสร้างโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ตึกแถวของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เสียหายหรือไม่ และจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ใช้ก่อสร้างอาคารร่วมจิตต์พลาซ่าและแม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างอาคารดังกล่าวก็ดี เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างอาคารโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะเป็นผู้เลือกหาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นผู้รับจ้าง การก่อสร้างต้องเป็นไปตามการงานที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 สั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำตามข้อบังคับในสัญญาจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 428 ส่วนจำเลยที่ 7 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมก่อสร้างอาคารร่วมจิตต์พลาซ่า มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบแปลนที่กำหนดและตามหลักวิชาการ ถ้าจำเลยที่ 7 ควบคุมดูแลให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขุดดินทำฐานรากของอาคารตามหลักวิชาการด้วยความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้ว ย่อมจะไม่เกิดผลเสียหายแก่ตึกแถวของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 จึงถือว่าจำเลยที่ 7 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อจนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 จำเลยที่ 7 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมิได้นำสืบให้ประจักษ์ว่าจำเลยที่ 5 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการก่อสร้างอาคารอย่างไร และจำเลยที่ 5 จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2533 แต่จำเลยที่ 3 ขออนุญาตก่อสร้างอาคารอันเป็นที่ตั้งของจำเลยที่ 5 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2533 อันเป็นเวลาก่อนจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 5 ดังนั้น จำเลยที่ 5 จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการก่อสร้างอาคาร ไม่ต้องรับผิดผิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ส่วนจำเลยที่ 6 เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดมิได้นำสืบให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 6 ออกแบบผิดพลาดอย่างไร จึงทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 6 จึงไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดและฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 ควรได้รับค่าเสียหายหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า รายการซ่อมแซมแก้ไขที่โจทก์ทั้งเจ็ดนำสืบตามเอกสารหมาย จ.12 เป็นรายการซ่อมแซมแก้ไขความเสียหายที่ปรากฏอยู่ที่ตัวอาคารของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ทั้งหมดโดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่ารอยชำรุดเสียหายรอยใดเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 3 และที่ 4 หรือรอยใดเกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 3 และที่ 4 และนายเกษมพยานโจทก์เบิกความว่านายเกษมตรวจอาคารของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 จำนวน 2 ครั้ง รอยร้าวในอาคารมีทั้งรอยที่มีอยู่แต่เดิมและรอยที่เกิดขึ้นใหม่ การทรุดตัวของอาคารจนถึงปัจจุบันยังไม่ถือว่ามีอันตรายต่อโครงสร้างมาก เมื่อพิจารณาจากสภาพอาคารของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ด้านหน้าซึ่งปลูกสร้างมานาน 35 ปี และอาคารด้านหลังปลูกสร้างมานาน 20 ปี ความเสียหายเหล่านั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของตัวอาคาร อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการทรุดตัวของอาคาร ประกอบกับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ยังคงอยู่อาศัยในอาคารดังกล่าว และโจทก์ที่ 7 ยังคงค้าขายในอาคารดังกล่าวเป็นปกติ ความเสียหายที่เกิดจากรอยแตกร้าวก็เกิดที่ผนังของอาคารทั้งห้าชั้นเป็นส่วนใหญ่ เมื่อความเสียหายยังไม่กระทบถึงโครงสร้างของอาคาร ก็ยังไม่จำเป็นต้องซ่อมแซมไปถึงโครงสร้างของอาคาร ค่าเสียหายในการซ่อมแซมอาคารตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เป็นจำนวน 700,000 บาท นั้น พิเคราะห์ตามสภาพและการคำนวณค่าใช้จ่ายที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ. 12 แล้ว เห็นว่าน้อยเกินควร จึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเงิน 1,100,000 บาท ที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาเรียกเอาค่าออกแบบและติดตามงานก่อสร้างจำนวน 100,000 บาท เห็นว่า เงินจำนวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าซ่อมแซมอาคารตามที่ได้กำหนดให้แล้ว จึงไม่สมควรกำหนดให้เป็นการซ้ำซ้อนกันอีก ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ค่าเสียหายในส่วนนี้เฉพาะค่าสำรวจหาการเคลื่อนตัวของอาคารเป็นเงิน 39,500 บาท นั้นชอบแล้ว
ที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาเรียกเอาค่าเช่าบ้านในระหว่างซ่อมแซมอาคารสำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 และค่าขาดประโยชน์กับค่าเสียหายของโจทก์ที่ 7 ระหว่างซ่อมแซมอาคารนั้น เห็นว่า เมื่อยังไม่จำเป็นต้องซ่อมแซมโครงสร้างของอาคาร การซ่อมแซมตัวอาคารเฉพาะจุดที่แตกร้าวตามความเป็นจริงไม่ถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่สามารถอยู่ในอาคารดังกล่าวได้ตามปกติ และไม่เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 7 ต้องหยุดการประกอบกิจการค้า หรือต้องขนย้ายสินค้าออกไปยังที่แห่งอื่น โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่ควรได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงิน 1,139,500 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาวสมศรี เดชะรินทร์ กับพวก จำเลย - บริษัทเซเว่นกรุ๊ฟ จำกัด กับพวก
ชื่อองค์คณะ ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ทวีชัย เจริญบัณฑิต พิชัย เตโชพิทยากูล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายจิรนิติ หะวานนท์ ศาลอุทธรณ์ - นายปัญญา สุทธิบดี