คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5349/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 453
สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่โจทก์ผู้ซื้อทำกับจำเลยที่1ผู้ขายระบุว่าผู้ซื้อและผู้ขายตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายในอันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาด้วยความสุจริตจะไม่กระทำการใดๆหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการละเมิดการใช้ไฟฟ้าการละเมิดการใช้ไฟฟ้าหมายถึงการทำลายหรือการดัดแปลงแก้ไขมาตรวัดไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ประกอบใดๆตลอดจนเครื่องหมายหรือตราต่างๆทำให้มาตรวัดไฟฟ้าอ่านค่าคลาดเคลื่อนหรือเป็นผลให้ผู้ขายต้องสูญเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้หรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือต่อไฟตรงโดยไม่ผ่านมาตรวัดไฟฟ้าเห็นได้ว่าการที่จำเลยที่1จะเรียกให้โจทก์ชดใช้ในกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าได้จะต้องเป็นกรณีที่โจทก์กระทำการใดๆหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการละเมิดการใช้ไฟฟ้าแต่พยานหลักฐานของจำเลยที่1ฟังไม่ได้ว่าการละเมิดการใช้ไฟฟ้าเกิดจากการกระทำของโจทก์หรือโจทก์ยอมให้ผู้อื่นกระทำกลับปรากฏว่ามิเตอร์และอุปกรณ์ประกอบตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะนอกโรงงานโจทก์และห่างหน้าโรงงานประมาณ150เมตรเป็นที่เปลี่ยวไม่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงคนทั่วไปเข้าถึงได้ตลอดเวลาทั้งก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่1มีหนังสือถึงโจทก์ขอความร่วมมือประสานงานการจดหน่วยทุกๆวันจึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะทำการละเมิดการใช้ไฟฟ้าทั้งๆที่รู้ว่าจำเลยที่1กำลังระมัดระวังอยู่โจทก์ไม่จำต้องรับผิดในการละเมิดการใช้ไฟฟ้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5327/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 448, 1272, 1336 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177
การที่จำเลยให้การว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด1ปีนับแต่ผู้ชำระบัญชีของโจทก์ชำระบัญชีเสร็จสิ้นเป็นการให้การต่อสู้แจ้งชัดว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1272จำเลยมิได้ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องคดีละเมิดตามมาตรา448คดีจึงไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา448ซึ่งจำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้มาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทโจทก์ทำบัญชีงบดุลโดยนำเงินของโจทก์ไปใช้ส่วนตัวโดยลงรายการเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ซึ่งไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินและเป็นรายการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายรายการรายการค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในกิจการของโจทก์และเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทไม่ได้ให้สัตยาบันและอนุมัติการจ่ายเงินนั้นและขอให้บังคับจำเลยคืนเงินดังกล่าวนั้นมิใช่กรณีที่บริษัทเมื่อบริษัทโจทก์ได้เลิกกันและมีการชำระบัญชีเสร็จแล้วผู้เป็นเจ้าหนี้ฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นลูกหนี้อยู่ฐานเช่นนั้นดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1272จึงไม่อาจนำอายุความตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้การฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนอันเป็นการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากจำเลยบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามมาตรา1336ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิเช่นนี้โจทก์เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิดังกล่าวอยู่ตลอดเวลาทราบเท่าที่จำเลยยังมิได้คืนเงินให้โจทก์คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5321/2539
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515
การดำเนินการอพยพชาวเวียดนามขององค์การไอซีเอ็มซีผู้อพยพจะต้องลงนามในสัญญาใช้เงินว่าจะต้องจ่ายเงินคืนให้แก่องค์การระหว่างประเทศสำหรับผู้อพยพถ้าผู้อพยพที่ไม่ถือว่าเป็นผู้ลี้ภัยตามกฎหมายสหรัฐอเมริกาจะต้องให้ญาติพี่น้องของผู้อพยพไปจ่ายเงินให้แก่องค์การระหว่างประเทศสำหรับผู้อพยพเสียก่อนเงินที่องค์การระหว่างประเทศสำหรับผู้อพยพได้รับจากผู้อพยพนั้นจะนำไปใช้ในการดำเนินการเพื่ออพยพคนอื่นต่อไปจำเลยรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาดังนั้นองค์การไอซีเอ็มซีจึงมิได้กำไรจากการอพยพชาวเวียดนามเลยการจ้างโจทก์จึงเป็นการจ้างที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจได้รับยกเว้นมิต้องอยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่16เมษายน2515ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่103ลงวันที่16มีนาคม2515ข้อ14และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่16เมษายน2515
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5319/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 448 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 93
เอกสารหมายล.3เป็นสำเนาภาพถ่ายเอกสารผลการตรวจพิสูจน์เอกสารของกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจว่าลายมือชื่อจำเลยที่1ในใบยืมเงินเอกสารหมายจ.11และจ.12ว่าไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลยที่1เมื่อโจทก์มีหนังสือตอบปฏิเสธว่าไม่ได้ดำเนินการส่งเรื่องไปตรวจพิสูจน์เท่ากับไม่รับรองว่าสำเนาเอกสารถูกต้องจำเลยที่1ไม่แสดงเหตุขัดข้องที่ไม่ส่งต้นฉบับและไม่นำผู้รับรองสำเนามาเบิกความรับรองจึงไม่อาจรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่1ซึ่งยืมเงินงบประมาณนำไปใช้จ่ายในการปฏิบัติงานแล้วต้องนำใบสำคัญคู่จ่ายเงินส่งใช้ใบยืมหากมีเงินเหลือให้ส่งใช้ใบยืมเงินมิฉะนั้นต้องชดใช้เงินคืนให้ทางราชการจนครบไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ10ปีนับแต่ที่จำเลยที่1มีหน้าที่คืนเงินและการฟ้องเรียกคืนเช่นนี้ไม่ใช่การเรียกร้องค่าเสียหายจะนำอายุความ1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา448มาใช้บังคับไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5314/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1400
ที่ดินของจำเลยมีที่ดินของโจทก์เป็นทางภารจำยอมอยู่แล้วแม้จะมีทางออกทางอื่นโดยมีถนนสาธารณะตัดผ่านที่ดินของจำเลยก็หาทำให้ทางภารจำยอมในที่ดินของโจทก์ที่มีอยู่แล้วสิ้นไปไม่กรณียังมิใช่เป็นเรื่องภารจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1400
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4773/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33 (1) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 134 วรรคหนึ่ง
รถจักรยานยนต์ซึ่งจำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจรเป็นทรัพย์สินซึ่งใช้ในการกระทำความผิดที่ศาลสั่งให้ริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา33(1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4772/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33 (1) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 134 วรรคหนึ่ง
รถจักรยานยนต์ซึ่งจำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจรเป็นทรัพย์สินซึ่งใช้ในการกระทำความผิดที่ศาลสั่งให้ริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา33(1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5309/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 159, 560 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183 วรรคสอง
หนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทไม่มีข้อความตอนใดเขียนไว้เลยว่าให้สิทธิแก่จำเลยที่1ในอันที่จะเรียกร้องเอาที่ดินคืนจากโจทก์คนใดได้ทั้งพฤติการณ์ตามที่จำเลยที่1เบิกความมาอาจปรับได้กับลักษณะขายฝากหรือคำมั่นว่าจะขายคืนให้ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงจำเลยที่1ก็ชอบที่จะบังคับเอาแก่โจทก์ที่3ได้แต่ทางนำสืบที่จำเลยที่1เบิกความมาไม่มีสัญญาขายฝากหรือหลักฐานใดๆที่จำเลยที่1จะเรียกร้องเอาที่ดินพิพาทคืนจากฝ่ายโจทก์ได้เลยที่จำเลยที่1อ้างว่าโจทก์ที่3หลอกนั้นก็มีแต่คำเบิกความของจำเลยที่1ส่วนคำเบิกความของพยานจำเลยนั้นแม้จะได้ความว่าพยานดังกล่าวจะตกอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ที่3เช่นเดียวกับจำเลยที่1มาก่อนก็ตามก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าพยานจำเลยอยู่ในฐานะถูกหลอกเช่นเดียวกับจำเลยที่1พฤติการณ์คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่1และพยานจำเลยทุกปากอยู่ในฐานะถูกเอาเปรียบจากโจทก์ที่3ที่มีกฎหมายเป็นฐานรองรับเท่านั้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเช่าที่ดินพิพาทแล้วผิดนัดชำระค่าเช่าจำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทใช้ทำไร่ไม่เคยเช่าจากโจทก์ในชั้นสืบพยานคู่ความนำสืบรับกันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ใช้ทำไร่แม้ในคำฟ้องและคำให้การจะกล่าวอ้างพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวคงใช้บังคับสำหรับการเช่าที่ดินเพื่อการทำนาเท่านั้นส่วนการเช่าที่ดินเพื่อการทำไร่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับแต่อย่างใดที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในปัญหาดังกล่าวกับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค2หยิบยกพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5307 - 5308/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1745 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (2)
แม้โฉนดที่ดินพิพาทได้เปลี่ยนจากชื่อผ. เจ้ามรดกเป็นชื่อของจำเลยที่1และที่2ในฐานะผู้จัดการมรดกและโอนใส่ชื่อจำเลยที่1และที่2แล้วก็ตามแต่ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทเหตุที่โอนใส่ชื่อจำเลยที่1และที่2เนื่องจากทายาทอื่นยินยอมเพื่อจะได้ไถ่ถอนจำนองจึงถือว่าจำเลยที่1และที่2ถือที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนเมื่อจำเลยที่4ที่5ที่7และที่8ซึ่งเป็นทายาทของศ.เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายต่อโจทก์โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยที่4ที่5ที่7และที่8ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่4ที่5ที่7และที่8ให้แก่โจทก์ได้แต่สำหรับจำเลยที่1ถึงที่3และที่6ไม่ได้ยินยอมขายให้โจทก์จึงไม่ผูกพันส่วนของจำเลยที่1ถึงที่3และที่6 ทางพิจารณาได้ความว่าทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผ.มี8คนคือจำเลยทั้งแปดที่ดินพิพาทจึงแบ่งออกเป็น8ส่วนจำเลยที่4ที่5ที่7และที่8ได้คนละ1ส่วนจึงต้องไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาท4ส่วนใน8ส่วนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4770/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 421, 1304 (3)
ทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณะแต่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1304(3)และอยู่ในโฉนดที่ดินของจำเลยที่1การที่จำเลยที่4ซึ่งเป็นผู้ครอบครองดูแลที่ดินแทนจำเลยที่3ปิดกั้นทางพิพาทบริเวณที่เชื่อมกับถนนสายบางกอกน้อยตลิ่งชัน และทำรั้วลวดหนามล้อมที่ดินด้านที่มีแนวเขตติดต่อกับที่ดินของโจทก์ที่1ที่2และที่3เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสถานที่ราชการจึงเป็นการกระทำโดยชอบแม้จะเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามไม่สามารถใช้ทางพิพาทได้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันจะฟังว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม