คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2560/2539
พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ม. 24 วรรคแรก, 26 (4) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 196 วรรคสอง
พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ.2530มาตรา26(4)ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลเว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งไต่สวนคดีนั้นมีความเห็นแย้งหรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้เมื่อปรากฎว่าผู้พิพากษาซึ่งไต่สวนคดีให้คำรับรองแล้วว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ เงื่อนไขการจ่ายเงินค่าจ้างเป็นข้อกำหนดในสัญญาจ้างเหมาระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งกำหนดถึงเรื่องการตั้งอนุญาโตตุลาการด้วยอนุญาโตตุลาการจะต้องชี้ขาดตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาดังนั้นการที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านจ่ายเงินร้อยละ40เป็นเงินเยนโดยไม่ต้องคำนึงถึงการขึ้นหรือลงของค่าเงินเยนหรือบาทโดยเทียบได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา196วรรคสองโดยมิได้ให้วิศวกรปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตามข้อกำหนดจึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทในคดีนี้ศาลไม่อาจให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ.2530มาตรา24วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2556/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 391, 572 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172
โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้รถยนต์อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมหลังจากนั้นโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายได้ราคาต่ำกว่าราคารถยนต์ที่เช่าซื้ออันแท้จริงจึงฟ้องเรียกเงินส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในระหว่างที่จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อในลักษณะเป็นเบี้ยปรับหาใช่ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสื่อมสภาพรถยนต์ที่เช่าซื้อเนื่องจากชำรุดบกพร่องจากการใช้ของจำเลยแต่อย่างใดไม่ฉะนั้นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้เป็นผลจากการเลิกสัญญาตกอยู่ในบังคับอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2554/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1462, 1466, 1468, 1473 เดิม ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ม. 7
โจทก์เป็นภริยาผ. จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี2510ผ.จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทเมื่อปี2513ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผ. และเป็นส่วนหนึ่งของสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1466,1462วรรคสองเดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเมื่อไม่ปรากฎว่ามีสัญญาก่อนสมรสระหว่างโจทก์กับผ. ตกลงกันเป็นอย่างอื่นผ. จึงเป็นผู้มีอำนาจจัดการที่ดินพิพาทซึ่งรวมถึงการจำหน่ายที่ดินพิพาทด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1468,1473วรรคหนึ่งเดิมแม้ภายหลังจะได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5ที่แก้ไขใหม่ในปี2519พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519มาตรา7ก็บัญญัติรับรองอำนาจจัดการสินสมรสของผ. ดังนั้นผ. เพียงผู้เดียวย่อมมีอำนาจจำหน่ายที่ดินพิพาทได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นภริยา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2553/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 196
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าถือไม่ได้ว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้ยกคำร้องเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งต่อไปว่าจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนัดให้ออกหมายจับให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความจับจำเลยได้เมื่อใดให้โจทก์แถลงต่อศาลเพื่อยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ก็เป็นเพียงคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวอันเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเช่นกันไม่ใช่กรณีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญแล้วดังนั้นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่นำส่งหมายเรียกตามคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการทิ้งฟ้องจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา196
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2595/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 166, 181
คำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา166ประกอบมาตรา181นั้นโจทก์จะต้องร้องขอภายใน15วันนับแต่วันศาลยกฟ้องมิใช่วันที่โจทก์ทราบคำสั่งปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องเมื่อวันที่30สิงหาคม2537โจทก์มายื่นคำร้องขอเมื่อวันที่12ตุลาคม2537จึงเป็นการเกินกำหนดเวลาแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์อ้างในคำร้องว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์จดวันนัดผิดและแจ้งให้ทนายโจทก์ทราบก็ไม่ใช่เหตุที่โจทก์จะไม่ต้องยื่นคำร้องภายใน15วัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2594/2539
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ม. 103 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมที่มีคำสั่งยืนตามคำสั่งพนักงานเงินทดแทนซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ60แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีมาสู่ศาลโจทก์ก็ต้องปฏิบัติตามวรรคสี่ของข้อ60แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวโดยจะต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดชำระตามคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมจึงจะฟ้องคดีได้ โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีลูกจ้างไม่ถึงสิบคนจึงไม่อยู่ในบังคับของสำนักงานประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533เป็นการยกกฎหมายคนละเรื่องคนละฉบับไม่อาจนำมาปรับกับคดีที่โจทก์ฟ้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2552/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 204 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 วรรคหนึ่ง, 177 วรรคสอง, 183, 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยได้ตกลงให้โจทก์ขยายระยะเวลาการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทหลังจากครบกำหนดระยะเวลาโอนตามสัญญาจะซื้อจะขายออกไปได้โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาโดยโจทก์จะต้องชำระเงินค่าตอบแทนให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์พร้อมจึงได้บอกกล่าวชำระเงินส่วนที่เหลือและเงินค่าตอบแทนให้แก่จำเลยพร้อมกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่ครบกำหนดแล้วจำเลยเพิกเฉย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้
คำฟ้องระบุว่าโจทก์ตกลงจ่ายเงินให้แก่จำเลยเป็นค่าตอบแทนในการที่จำเลยตกลงขยายระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท เมื่อจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำนวนเงินที่โจทก์เสนอชดใช้ให้ตามฟ้องนั้นไม่เหมาะสมหรือน้อยไปแต่ประการใด จึงถือได้ว่าจำเลยไม่ติดใจโต้เถียงในจำนวนเงินที่โจทก์เสนอชดเชยให้แก่จำเลยตามฟ้อง และจำเลยยอมรับในประเด็นดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อนี้ขึ้นมานั้นจึงเป็นฎีกานอกประเด็นเกินไปกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่ปรากฏในคำให้การ เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2540/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 428, 438
จำเลยที่1เป็นเจ้าของที่ดินที่มีการก่อสร้างและตอกเสาเข็มยินยอมให้จำเลยที่2ขออนุญาตก่อสร้างบนที่ดินมีจำเลยที่3เป็นผู้จ้างให้จำเลยที่4ดำเนินการตอกเสาเข็มบนที่ดินเมื่อเกิดความเสียหายแก่อาคารของโจทก์ที่1ซึ่งอยู่บนที่ดินข้างเคียงจำเลยที่1ถึงที่3ก็เคยเข้าไปตรวจดูแลซ่อมแซมให้บางส่วนพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่1ถึงที่3มีผลประโยชน์ร่วมกันในการก่อสร้างอาคารบนที่ดินของจำเลยที่1แม้จำเลยที่3จะเป็นผู้จ้างให้จำเลยที่4ตอกเสาเข็มแต่ก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่1ถึงที่3ด้วยถือได้ว่าจำเลยที่1ถึงที่3เป็นผู้ร่วมกันจ้างจำเลยที่4ในการตอกเสาเข็มซึ่งโดยปกติผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างการที่จำเลยที่4ตอกเสาเข็มตามแผนผังแบบแปลนการก่อสร้างของจำเลยที่1ถึงที่3ห่างรั้วกำแพงของโจทก์เพียง2เมตรเท่ากับจำเลยที่4ได้ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่1ถึงที่3จำเลยที่1ถึงที่3ผู้ว่าจ้างจึงเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำอันทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่1 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายของโจทก์ที่1โดยพิเคราะห์ตามคำเบิกความของ ย. พยานโจทก์ที่1ประกอบภาพถ่ายและใบประเมินราคาแล้วเห็นว่ากำแพงรั้วพื้นซีเมนต์ตัวอาคารและสระน้ำเสียหายเป็นจำนวนมากจึงเหมาะสมแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2538/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1401
การใช้ทางพิพาทของ ส. ผ่านที่ดินของ ถ. ซึ่งเป็นภรรยาเป็นการใช้ในลักษณะที่อาศัยความสัมพันธ์ในครอบครัว ถ. ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านเป็นการยินยอมให้ ส. ใช้ทางพิพาทโดยปริยายการใช้ทางพิพาทของ ส. ไม่มีลักษณะเป็นการ ปรปักษ์อันจะได้สิทธิภารจำยอมไม่ว่าจะใช้ทางพิพาทมานานเท่าใดก็ไม่เกิดสิทธิภารจำยอม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2483/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 387 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248
โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่1ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ไม่ตรงตามกำหนดในสัญญาเนื่องจากจำเลยที่1ขอผัดผ่อนการชำระเงินแก่โจทก์ซึ่งโจทก์ยอมผ่อนผันให้และตามสัญญาเช่าซื้อก็ระบุว่าในกรณีผู้เช่าซื้อผิดสัญญาถ้าเจ้าของยอมผ่อนผันให้ไม่ถือเป็นการผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาอย่างอื่นทั้งโจทก์มีพยานหลักฐานยืนยันว่าโจทก์ได้ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อก่อนมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเป็นฎีกาโต้เถียงในข้อเท็จจริงเมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง จำเลยที่1ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์แต่ละงวดหลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้วซึ่งโจทก์ผ่อนผันยอมรับชำระค่าเช่าซื้อนั้นมาตลอดย่อมถือว่าโจทก์และจำเลยที่1ยังคงปฏิบัติต่อกันเสมือนหนึ่งว่าสัญญาเช่าซื้อนั้นยังใช้บังคับอยู่โดยมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญอีกต่อไปและจะถือว่าจำเลยที่1ผิดสัญญาและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีตามที่ระบุไว้ในสัญญามิได้หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่1ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา387เสียก่อนหากจำเลยที่1ไม่ชำระจึงบอกเลิกสัญญาได้เมื่อปรากฎว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่1โดยยังไม่มีการบอกกล่าวเช่นนั้นโจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง