คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113, 169 วรรคสอง, 360 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 247, 248 วรรคสอง, 249 วรรคท้าย
ตามสัญญาเช่ามีข้อความว่าเมื่อครบกำหนดอายุแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าอยู่ต่อไปโดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุกๆ3ปีและเรียกเก็บเงินค่าเช่าเพิ่มเป็นสองเท่าของที่กรมธนารักษ์เรียกเก็บข้อสัญญานี้เป็นคำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะให้จำเลยเช่าต่อไปไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบก่อนจะสนองรับว่าป. ผู้ให้เช่าถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วกรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา360ต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา169วรรคสองมาใช้บังคับคำมั่นของป.จึงไม่เสื่อมเสียไปมีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนให้ต้องปฏิบัติตามให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม ที่โจทก์ฎีกาว่าโดยพฤตินัยและตามหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนจำเลยต้องรู้หรือควรรู้ว่าป. ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วเพราะเป็นคนในอำเภอเมืองสมุทรสงครามด้วยกันมีประชากรไม่มากน่าจะทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวของกันและกันดีเป็นฎีกาข้อเท็จจริง เมื่อฟังว่าคำมั่นของป. มีผลผูกพันโจทก์ให้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าการที่โจทก์เรียกเก็บค่าเช่าค่าตอบแทนเกินไปกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อดังกล่าวโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญาเช่าเอกสารหมายจ.4ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเกิดความไม่เป็นธรรมแก่โจทก์และทายาทผู้รับโอนต่อๆไปในภายหน้าให้ต้องปฏิบัติตามไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดไม่ควรมีผลบังคับแม้ปัญหานี้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์โจทก์ก็ยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคท้าย เจ้าของทรัพย์สินจะให้เช่าทรัพย์สินของตนในลักษณะใดก็ได้เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกจึงหาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4871/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 7, 387, 391
โจทก์มิได้ชำระเงินค่างวดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้แม้โจทก์ชำระค่างวดล่วงเลยเวลาที่กำหนดจำเลยก็ยอมรับเงินนั้นตลอดมาไม่ได้มีการทักท้วงหรือให้จ่ายเบี้ยปรับตามสัญญาแต่อย่างใดแสดงว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาถือเอากำหนดเวลาการชำระค่างวดเป็นสาระสำคัญดังนั้นแม้โจทก์จะผิดสัญญาในข้อนี้จำเลยก็จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญายังมิได้แต่จะต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา387เสียก่อนการที่จำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามหนังสือแจ้งริบเงินมัดจำและบอกเลิกสัญญานั้นเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยเพื่อขอให้ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามสัญญาหรือจะเลิกสัญญาแก่โจทก์หากจำเลยไม่ตอบแจ้งมาภายใน10วันจะถือว่าจำเลยประสงค์เลิกสัญญาและจำเลยไม่ตอบไปให้โจทก์ทราบแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาจะเลิกสัญญาอยู่การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยวาเมื่อจำเลยไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไปจำเลยจึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งค่าเสียหายตามหนังสือชดใช้ค่าเสียหายคืนสู่สภาพเดิมเอกสารหมายจ.9นั้นถือได้ว่าโจทก์แสดงเจตนาสนองตอบตกลงเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วสัญญาว่าจ้างงานสถาปัตยกรรมห้องชุดและควบคุมงานและสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันโดยความตกลงของคู่สัญญาผลของการเลิกสัญญาโดยความตกลงของคู่สัญญาเช่นนี้เมื่อไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาได้มีการตกลงกันไว้ประการใดก็ต้องให้คู่สัญญาได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา391โดยที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้พร้อมด้วยดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ15ต่อปีตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดนั้นใช้บังคับสำหรับกรณีที่มีการผิดสัญญาและคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเลิกสัญญาแต่การเลิกสัญญาโดยความตกลงของคู่สัญญาโดยไม่ได้มีการผิดสัญญาและคู่สัญญามิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยประการใดเงินที่ได้ชำระกันตามสัญญาผู้รับเงินจึงต้องคืนเงินนั้นพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5ต่อปีนับแต่เวลาที่ได้รับไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4911/2539
พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2524 ม. 46 วรรคสาม (4)
การที่พรรคดำรงไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองได้ส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปแต่ไม่มีสมาชิกของพรรคดำรงไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าวนั้นเลยพรรคดำรงไทยจึงต้องเลิกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา46(4)แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมืองพ.ศ.2524แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2)พ.ศ.2535มาตรา7
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4909/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 681
ตามสัญญาค้ำประกันข้อที่ว่าผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดร่วมกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ให้แก่บริษัทในการที่บริษัทจะได้รับความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดอันอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างในการปฏิบัติตามหน้าที่การงานทั้งปวงนั้นเห็นได้ชัดว่าความเสียหายที่จำเลยที่2ผู้ค้ำประกันที่เข้าทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นความเสียหายที่จะพึงเกิดขึ้นในอนาคตหาใช้ความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วไม่ส่วนสัญญาค้ำประกันข้อที่ว่าการที่บริษัทยังคงให้ลูกจ้างทำงานต่อไปแม้เมื่อลูกจ้างได้ทำผิดหน้าที่และเกิดความรับผิดขึ้นแล้วก็ดีหาทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่นั้นหมายความว่าถ้าจำเลยที่1ผู้เป็นลูกจ้างทำความเสียหายในระหว่างที่จำเลยที่2ค้ำประกันอยู่แต่โจทก์ยังคงให้จำเลยที่1ทำงานต่อไปหรือไม่ได้บังคับเอาค่าเสียหายจำเลยที่2ผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่ยังไม่พ้นจากความรับผิดหาได้มีความหมายว่าจำเลยที่2จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายย้อนหลังไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกันไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 715, 728 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 143
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่1ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันหนี้ขายลดตั๋วเงินจำนวน89,051.47บาทนับแต่วันที่7มิถุนายน2529จนกว่าจะชำระเสร็จโดยไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยว่าจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ในเงินต้นดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยร้อยละเท่าใดในเมื่อจำเลยที่1ต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ17.5ต่อปีตามสัญญาค้ำประกันแล้วแต่ไม่ได้กำหนดให้ว่าต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดจึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง โจทก์ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่2ตามภูมิลำเนาที่อยู่ของจำเลยที่2สองครั้งแต่ไม่สามารถส่งได้โจทก์จึงบอกกล่าวการบังคับจำนองโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์เพื่อให้มีผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา728ฉะนั้นค่าประกาศหนังสือพิมพ์จึงถือได้ว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองตามมาตรา715(3)โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าประกาศหนังสือพิมพ์400บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีจากจำเลยที่2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4884/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 448, 456, 798, 1332 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 249
การซื้อขายรถยนต์พิพาทเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคากว่าห้าร้อยบาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 456วรรคท้าย การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการดังกล่าว หากไม่มีการวางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนแล้ว ก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 มิได้แต่งตั้งหรือแสดงออกว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 เป็นตัวแทนในการขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ และในขณะโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 นั้น กรรมสิทธิ์ยังเป็นของจำเลยที่ 3 อยู่ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจนำรถยนต์ดังกล่าวไปขายให้แก่โจทก์
ที่โจทก์ฎีกาว่าได้รถยนต์พิพาทมาโดยการซื้อจากพ่อค้าได้ค้าขายกันในท้องตลาดมีค่าตอบแทนโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 โจทก์จึงไม่จำต้องคืนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 5 หรือใช้ราคาตามฟ้องแย้งนั้น โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งแต่เพียงว่า โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในราคาตามท้องตลาด ชำระราคาครบถ้วนและรับมอบรถยนต์แล้วโดยสุจริต มิได้ให้การว่าได้รถยนต์พิพาทโดยการซื้อจากพ่อค้าในท้องตลาดตามมาตรา 1332 แต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 3 ฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนรถยนต์พิพาทในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนและเรียกค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ครอบครองทรัพย์ไว้โดยมิชอบ เพราะซื้อทรัพย์จากบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของอันเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด โจทก์ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด ดังนั้น ก่อนฟ้องแย้งจำเลยที่ 3 หาจำต้องมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนหรือให้ชดใช้ค่าขาดประโยชน์ไม่ จำเลยที่ 3จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์
จำเลยที่ 5 เป็นเพียงหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ต่างหากจากจำเลยที่ 3 โดยไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทร่วมกับจำเลยที่ 3 ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 ในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ถูกโต้แย้งสิทธิอันเนื่องจากรถยนต์พิพาท จำเลยที่ 5 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งเรียกคืนรถยนต์พิพาทและเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์พิพาท อำนาจฟ้องแย้งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา249 วรรคสอง
เมื่อโจทก์ยังคงครอบครองรถยนต์พิพาทย่อมเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 3 อยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์พิพาทคืน จำเลยที่ 3 มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ และเมื่อจำเลยที่ 3 เรียกค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปซึ่งโจทก์ยังครอบครองรถยนต์พิพาทอันเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 3 อยู่ จึงไม่มีปัญหาเรื่องอายุความว่าจะนับแต่เมื่อใด คดีจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4862/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสาม
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยอ้างว่าโจทก์ซื้อที่ดินและ ตึกแถวพิพาทมาจาก ส. และผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม จำเลยเช่าตึกแถวดังกล่าวจาก ส. ครบกำหนดแล้วโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่อีกต่อไปจำเลยฟ้องแย้งว่า ส. ให้จำเลยเช่าที่ดินและตึกแถวพิพาทมีกำหนด 10 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าหากจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่าก่อนครบสัญญาจะต้องแจ้งให้จำเลยทราบก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยได้ซื้อก่อน แต่โจทก์สมคบกับส. และ ก. ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมฉ้อฉลจดทะเบียนโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์โดยไม่ให้สิทธิแก่จำเลยก่อนทำให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินและตึกแถวพิพาท ให้โจทก์กับ ส. และ ก. ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย ดังนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นและไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ทั้งเป็นการขอให้บังคับบุคคลอื่นที่ไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ความด้วย ต้องไปฟ้องร้องเป็นคดีต่างหาก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4855/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23
แม้พนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายความคนเดิมของจำเลยที่2และที่3จะย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่นก็ตามพนักงานอัยการคนเดิมนั้นก็ยังเป็นทนายความของจำเลยที่2และที่3มีสิทธิที่จะดำเนินคดีต่อไปได้ฉะนั้นการที่พนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายความคนใหม่ของจำเลยที่2และที่3ยื่นคำร้องขอคัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาก่อนครบกำหนดยื่นฎีกา1วันโดยอ้างว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความของจำเลยที่2และที่3เนื่องจากทนายความคนเดิมย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่นจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่จะให้ศาลสั่งขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4882/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 680 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94 (ข), 148, 227, 228 (3)
สัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา380วรรคสองบังคับให้ต้องมีมาแสดงตรงตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94โจทก์คงมีเพียงเอกสารซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่5เป็นผู้ค้ำประกันและผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันค่าเช่าซื้อให้แก่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้ตามสัญญาหรือผู้เช่าซื้อตายหรือล้มละลายหรือหนี้เหตุหนึ่งเหตุใดซึ่งกระทำให้ผู้ให้เช่าต้องเสียหายผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชอบชำระหนี้ตลอดจนค่าเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นซึ่งเป็นสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อมาแสดงต่อศาลเท่านั้นหาใช่สัญญาค้ำประกันมูลหนี้การซื้อขายตามฟ้องมาแสดงต่อศาลไม่การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยที่5ทำสัญญาค้ำประกันมูลหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญาเอกสารจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา94(ข)จึงต้องฟังว่าโจทก์ไม่มีเอกสารสัญญาค้ำประกันมูลหนี้ตามฟ้องมาแสดงต่อศาลโจทก์จึงฟ้องร้องให้จำเลยที่5รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่1ไม่ได้ ฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนที่ดินซึ่งจำเลยที่2ถึงที่6รับโอนเกินส่วนไปคืนแก่จำเลยที่1หากจำเลยทั้งหกไม่ดำเนินการก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนนั้นไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอีกเรื่องหนึ่งดังนี้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของโจทก์ในคำฟ้องส่วนนี้นั้นเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา18และมาตรา228(3)ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องหากเสร็จไปแต่ประเด็นบางข้อโจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้เมื่อศาลพิพากษาคดีดังกล่าวแล้วตามบทบัญญัติวรรคสามของมาตรา228แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่1เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่1ในนามของตนเองให้จำเลยที่2ถึงที่6โอนสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วคืนให้แก่จำเลยที่1โดยปลอดจำนองเพื่อป้องกันสิทธิของโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายและหากจำเลยทั้งหกไม่ยอมปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนหาได้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคำฟ้องในคดีก่อนซึ่งโจทก์ฟ้องโดยอาศัยเหตุว่าจำเลยที่1ผิดสัญญาไม่ยอมโอนสิทธิการครอบครองที่ดินดังกล่าวแล้วให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายจึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่1โอนสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวแล้วแก่โจทก์คำฟ้องคดีนี้จึงไม่ซ้ำเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4881/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 43, 44, 47
โจทก์เป็นพนักงานอัยการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา352และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินที่จำเลยยักยอกแก่โจทก์ร่วมด้วยตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา43ดังนี้แม้คดีส่วนอาญาศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอกศาลก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมตามที่พนักงานอัยการโจทก์ขอได้หาจำต้องให้โจทก์ร่วมไปฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกไม่ (หมายเหตุ:ศาลฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยรับเงินของโจทก์ร่วมไว้แต่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง)