คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5936/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1378, 1713
ม. ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 ขายที่ดินให้ผู้คัดค้านทั้งสองและได้ส่งมอบการครอบครองให้แล้วผู้คัดค้านทั้งสองย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองโดยมิต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อ ม.ตายก็ไม่มีสิทธิครอบครองหรือทรัพย์สินดังกล่าวเป็นมรดกที่ต้องจัดการอีกต่อไป ม. ไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมที่จะต้องจดทะเบียนโอนให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่จำต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดกของ ม.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5930/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยได้เช่าจากโจทก์เพื่อปลูกสร้างร้านขายอาหารในอัตราค่าเช่าเดือนละ 1,500 บาท กับเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหายก่อนฟ้องรวมเป็นเงิน 67,500 บาท จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุที่ทางราชการสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เท่ากับมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ อันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5914/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 120, 158, 173 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 4, 65
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522มาตรา4คำว่า"ผลิต"หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วยดังนั้นการที่จำเลยนำเฮโรอีนมาแบ่งบรรจุหลอดพลาสติกจึงเป็นการผลิตเฮโรอีนตามความหมายของมาตรา4แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาผลิตเฮโรอีนให้จำเลยทราบตั้งแต่ชั้นจับกุมซึ่งถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นแห่งขบวนการสอบสวนจำเลยแล้วแม้พนักงานสอบสวนมิได้เบิกความถึงการแจ้งข้อหาผลิตเฮโรอีนก็ตามแต่จำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพเช่นเดียวกันกับในชั้นจับกุมเฮโรอีนที่จับได้ก็เป็นจำนวนเดียวกันจึงถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานนี้แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องศาลลงโทษจำเลยฐานผลิตเฮโรอีนตามมาตรา65ได้ วันแรกที่ศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและสอบคำให้การจำเลยนั้นศาลได้สอบถามเรื่องทนายความแล้วจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและแถลงว่าไม่ต้องการทนายความในสำนวนก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยซักค้านพยานโจทก์หรือดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดที่ต้องอาศัยทนายความและยังแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยานจำเลยเพิ่งมาโต้แย้งในชั้นฎีกาว่าศาลชั้นต้นต้องตั้งทนายความให้จำเลยดังนี้ต้องถือว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ขัดต่อมาตรา173 โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยได้บังอาจผลิตโดยแบ่งเฮโรอีนบรรจุหลอดเครื่องดื่มและมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาตคำว่า"เพื่อจำหน่าย"นั้นโจทก์มุ่งถึงข้อหามีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองมิใช่ข้อหาผลิตเฮโรอีนดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องข้อหาผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายมาแล้วในฟ้อง เฮโรอีนที่จำเลยผลิตและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นเฮโรอีนจำนวนเดียวกันการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5892/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 144
ลูกหนี้เคยยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดที่ดินคืนให้แก่ลูกหนี้และเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่น ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งถึงที่สุดแล้วว่า การยกเลิกการล้มละลายไม่กระทบถึงการใดที่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กระทำไปแล้ว กรณีตามคำร้องเป็นกรณีที่ได้กระทำไปแล้วไม่มีเหตุที่จะหยิบยกขึ้นพิจารณาใหม่หรือให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถอนการยึดที่ดินตามคำร้องได้การที่ลูกหนี้กลับมาดำเนินกระบวนพิจารณาขอคืนโฉนดที่ดินเป็นคดีนี้อีกโดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักอย่างเดียวกันซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนั้นแล้วเท่ากับเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5891/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีวัตถุแห่งการกระทำความผิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตในวาระเดียวกันและจับได้พร้อมกันแม้วัตถุแห่งการกระทำความผิดต่างชนิดกันแต่ต่างก็เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท2การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนจึงเป็นความผิดต่อบทกฎหมายมาตราเดียวกันตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518มาตรา6,62วรรคหนึ่ง,106วรรคหนึ่งจึงต้องลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนเพียงกรรมเดียว ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5912/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 37 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 4 จัตวา
แม้ผู้ตายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่จังหวัดพิจิตรและผู้ตายถึงแก่ความตายที่จังหวัดพิจิตรแต่ผู้ตายก็ได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ร้องจนมีบุตรด้วยกันถึง4คนที่จังหวัดสมุทรปราการรวมทั้งผู้ตายได้ซื้อที่ดินไว้ที่จังหวัดสมุทรปราการแสดงว่าผู้ตายมีบ้านที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นสถานที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วยบ้านที่จังหวัดสมุทรปราการจึงเป็นภูมิลำเนาของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา37ดังนั้นผู้ร้องจึงมีสิทธิเสนอคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา4จัตวา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5893/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/32 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271
การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายมิใช่เรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 มาบังคับได้ เมื่อขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องยังไม่เลยกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ที่เหลือจากการบังคับคดีตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5890/2539
ประมวลรัษฎากร
บริษัทโจทก์เจ้าหนี้ซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์ค้าอสังหาริมทรัพย์หรือเคยประกอบการค้าที่ดินมาก่อนรับโอนที่ดินมาจากลูกหนี้เพื่อเป็นการตีใช้หนี้ในขณะที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอื่นจะชำระหนี้เมื่อรับโอนมาแล้วก็มิได้มีการปรับปรุงหรือพัฒนาที่ดินดังกล่าวแต่ได้นำที่ดินไปจำนองแก่ธนาคารเพื่อค้ำประกันหนี้ของโจทก์ต่อมาปีเศษที่ดินมีราคาขึ้นเพราะมีการขยายถนนที่ตัดผ่านที่ดินนั้นโจทก์จึงได้ขายไปแล้วนำเงินที่ขายได้ชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้เช่นนี้ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ขายที่ดินดังกล่าวไปเป็นทางค้าหรือหากำไรอันจะต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวด4ลักษณะ2แห่งประมวลรัษฎากร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5885/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 190
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่1โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ทั้งสองหากไม่สามารถโอนได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายต้องถือราคาทรัพย์พิพาทในขณะยื่นคำฟ้องเป็นจำนวนค่าเสียหายและการนำสืบราคาซื้อขายที่ดินไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือโจทก์ทั้งสองจึงนำสืบพยานบุคคลได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5809/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 4, 616, 877, 880 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534
พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ.2534เพิ่งใช้บังคับเมื่อวันที่21กุมภาพันธ์2535แต่การว่าจ้างขนส่งสินค้าพิพาททำสัญญากันก่อนวันที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ.2534มีผลใช้บังคับดังนั้นในการฟ้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับสินค้าพิพาทจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา616ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นอันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา4จะนำเอาพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ.2534มาปรับใช้แก่คดีนี้หาได้ไม่ โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าพิพาทจากบริษัทผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าพิพาทเมื่อสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งโจทก์มีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา877และผลแห่งการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นนั้นทำให้โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทได้ในนามของโจทก์เองตามมาตรา880วรรคหนึ่ง การรับช่วงสิทธิของโจทก์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยอำนาจแห่งกฎหมายตามมาตรา880วรรคหนึ่งหาใช่เกิดจากข้อตกลงในสัญญาไม่ดังนั้นข้อตกลงระหว่างผู้เอาประกันภัยกับจำเลยหรือผู้ส่งสินค้ากับจำเลยที่ตกลงกันให้นำข้อพิพาทอันเกิดจากใบตราส่งไปฟ้องต่อศาลของเมืองโคเปนเฮเกนและให้ใช้กฎหมายประเทศเดนมาร์กบังคับจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์