คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5912/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 37 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 4 จัตวา
แม้ผู้ตายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่จังหวัดพิจิตรและผู้ตายถึงแก่ความตายที่จังหวัดพิจิตรแต่ผู้ตายก็ได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ร้องจนมีบุตรด้วยกันถึง4คนที่จังหวัดสมุทรปราการรวมทั้งผู้ตายได้ซื้อที่ดินไว้ที่จังหวัดสมุทรปราการแสดงว่าผู้ตายมีบ้านที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นสถานที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วยบ้านที่จังหวัดสมุทรปราการจึงเป็นภูมิลำเนาของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา37ดังนั้นผู้ร้องจึงมีสิทธิเสนอคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา4จัตวา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายกาหลง ชมกรุด ผู้ตาย ผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลงแต่การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ของให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ร้องและผู้ตายเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 ที่จังหวัดพิจิตร โดยมิได้ทำพินัยกรรมมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ มีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่215628 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง)จังหวัดสมุทรปราการ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องเสนอคำร้องขอนี้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการได้หรือไม่ตามปัญหานี้ได้ความจากทางนำสืบของผู้ร้องว่า ผู้ร้องกับผู้ตายจดทะเบียนสมรสที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ตามเอกสารหมาย ร.1 และได้อยู่ร่วมกันที่บ้านเลขที่ 42/2 หมู่ที่ 5ตำบลสำโรงกลาง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มานานประมาณ 20 ปี มีบุตรด้วยกัน 4 คน ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมายร.2 แต่ไม่มีชื่อผู้ตายอยู่ในทะเบียนบ้านด้วย เห็นว่าแม้คดีจะได้ความว่าผู้ตายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 104/1 หมู่ที่ 1ตำบลโพทะเล อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ตามสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตายเอกสารหมาย ร.3 และผู้ตายถึงแก่ความตายที่จังหวัดพิจิตรตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมาย ร.5 แต่ผู้ตายก็ได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ร้องจนมีบุตรด้วยกันถึง 4 คน ที่จังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งผู้ตายได้ซื้อที่ดินไว้ที่จังหวัดสมุทรปราการ ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.4 แสดงว่าผู้ตายมีบ้านเลขที่ 42/2 หมู่ที่ 5 ตำบลสำโรงกลาง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นสถานที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย บ้านที่จังหวัดสมุทรปราการจึงเป็นภูมิลำเนาของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 37 ดังนั้นผู้ร้องจึงมีสิทธิเสนอคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4 จัตวา ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดพิจิตรในขณะถึงแก่ความตายและยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามีเหตุตามกฎหมายที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายมีทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่ 215628 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง)อำเภอพระประแดง (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ดังนั้นผู้ร้องจึงเป็นทายาทของผู้ตายที่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ เมื่อกรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกเนื่องจากยังไม่มีผู้จัดการมรดกและผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก จึงมีเหตุตามกฎหมายที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
พิพากษากลับ ให้ตั้งนางสุนทร ชมกรุด ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายกาหลง ชมกรุด ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - นาง สุนทร ชมกรุด
ชื่อองค์คณะ กนก พรรณรักษา พิมล สมานิตย์ สมชัย สายเชื้อ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan