สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5890/2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5890/2539

ประมวลรัษฎากร

บริษัทโจทก์เจ้าหนี้ซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์ค้าอสังหาริมทรัพย์หรือเคยประกอบการค้าที่ดินมาก่อนรับโอนที่ดินมาจากลูกหนี้เพื่อเป็นการตีใช้หนี้ในขณะที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอื่นจะชำระหนี้เมื่อรับโอนมาแล้วก็มิได้มีการปรับปรุงหรือพัฒนาที่ดินดังกล่าวแต่ได้นำที่ดินไปจำนองแก่ธนาคารเพื่อค้ำประกันหนี้ของโจทก์ต่อมาปีเศษที่ดินมีราคาขึ้นเพราะมีการขยายถนนที่ตัดผ่านที่ดินนั้นโจทก์จึงได้ขายไปแล้วนำเงินที่ขายได้ชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้เช่นนี้ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ขายที่ดินดังกล่าวไปเป็นทางค้าหรือหากำไรอันจะต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวด4ลักษณะ2แห่งประมวลรัษฎากร

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้เสียภาษีการค้า เบี้ยปรับเงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาลของเจ้าพนักงานตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ใบแจ้งอากร ต.1/1037/3/12050 ลงวันที่ 10 เมษายน 2534การประเมินสำหรับเดือนมิถุนายน สิงหาคม และตุลาคม 2530และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่51/2537/1 ลงวันที่ 28 มกราคม 2537 ที่สั่งให้โจทก์ชำระภาษีเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นเงินทั้งสิ้น1,276,506.57 บาท

จำเลยให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายกฎหมายตามประมวลรัษฎากรทุกประการ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ใบแจ้งภาษีอากรที่ ต.1/1037/3/12050ลงวันที่ 10 เมษายน 2534 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่51/2537/1 ลงวันที่ 28 มกราคม 2537

จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าโจทก์ขายที่ดินตามฟ้องไปเป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ในชั้นนี้ว่า โจทก์กับบริษัทกรุงเทพฯ บริการอุตสาหกรรม จำกัด เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีนายเจียม สมประกิจ เป็นกรรมการของทั้งสองบริษัทบริษัทกรุงเทพฯ บริการอุตสาหกรรม จำกัด เป็นหนี้เงินกู้โจทก์จำเลย 25,000,000 บาท และเป็นหนี้เจ้าหนี้อื่นอีกหลายรายรวมทั้งธนาคาร กรุงเทพ จำกัด ด้วย การดำเนินกิจการประสบกันการขาดทุนมาตลาด จนกระทั่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด เจ้าหนี้รายใหญ่ได้สั่งพนักงานจำนวน 3 คน เข้ามา เป็นกรรมการบริษัทเพื่อควบคุมการดำเนินการของบริษัท ขณะเดียวกันโจทก์ก็เป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด อยู่ด้วย ประมาณ 300,000,000 บาทโจทก์และบริษัทกรุงเทพฯ บริการอุตสาหกรรม จำกัด โดยความยินยอมเห็นชอบของธนาคารกรุงเทพ จำกัด เจ้าหนี้ได้ทำสัญญาประนอมหนี้จำนวน 25,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 6 ถึง 7(ล.1 แผ่นที่ 121 และ 122) โดยบริษัทกรุงเทพฯ บริการอุตสาหกรรมจำกัด ลูกหนี้ตกลงโอนที่ดินของตนโฉนดเลขที่ 4085 และที่ดินของนายเจียม อีก 4 แปลง โฉนดเลขที่ 2896, 2884, 1901 และ 4078เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 43 ไร่ 80 ตารางวา ให้แก่โจทก์เจ้าหนี้โดยตีราคารวม 4,781,000 บาท รวมทั้งโอนหุ้นของบริษัทอื่นที่ถืออยู่มูลค่า 9,999,400 บาท ให้แก่โจทก์ด้วยเพื่อเป็นการชำระหนี้และตกลงกันให้หนี้ที่เหลือนอกจากนั้นระงับไป ต่อมาวันที่31 กรกฎาคม 2529 และวันที่ 1 สิงหาคม 2529 ได้มีการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 4 แปลง ให้แก่โจทก์ และในวันเดียวกันโจทก์ก็ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินทั้ง 5 แปลง นั้น ค้ำประกันหนี้ของโจทก์ที่มีอยู่กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2530และวันที่ 15 ตุลาคม 2530 โจทก์ขายที่ดินทั้ง 5 แปลง ดังกล่าวไปในราคารวม 15,556,600 บาท และได้นำเงินที่ขายได้ชำระหนี้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ขายที่ดินได้กำไรถึงสามเท่าของราคาที่รับโอนตีใช้หนี้มาเป็นการขายที่ดินไปโดยมุ่งในทางการค้าหากำไรจึงประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าโจทก์อุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าการประเมินชอบแล้วแต่พิจารณาลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของเบี้ยปรับตามกฎหมายศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ได้ที่ดินทั้ง 5 แปลง มาก็โดยการรับโอนชำระหนี้จากลูกหนี้ของโจทก์หาใช่การซื้อที่ดินมาไม่ ทั้งนายวิเชียร กุลตวนิช พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานธนาคารกรุงเทพ จำกัด อยู่ในระหว่างปี 2519 ถึง 2537 เบิกความยืนยันว่า หากโจทก์ไม่รับโอนที่ดินดังกล่าวใช้หนี้ก็ไม่แน่นอนว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากบริษัทกรุงเทพฯ บริการอุตสาหกรรม จำกัดเนื่องจากมีเจ้าหนี้ของบริษัทดังกล่าวหลายรายด้วยกัน และได้ความจากนายโสภณ วิจิตรกร กรรมการโจทก์ว่า ขณะที่โจทก์ทำสัญญาประนอมหนี้กับบริษัทกรุงเทพฯ บริการอุตสาหกรรม จำกัด นั้น ขณะนั้นบริษัทดังกล่าวหยุดประกอบกิจการ จึงเชื่อว่าการที่โจทก์ทำสัญญาประนอมหนี้และรับโอนที่ดินทั้ง 5 แปลง มาเพราะเห็นว่าฐานะการเงินของบริษัทกรุงเทพฯ บริการอุตสาหกรรม จำกัด ไม่อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดได้ หากไม่รับชำระหนี้เป็นที่ดินไว้ก่อนโจทก์อาจจะไม่มีโอกาสได้รับชำระหนี้คืนเลย หาใช่โจทก์ยอมรับชำระหนี้เป็นที่ดินแล้วยอมให้หนี้ที่เหลือระงับไป เพราะหวังว่าจะนำที่ดินไปค้าหากำไรได้ในภายหลังดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ นอกจากนั้นเมื่อโจทก์รับโอนที่ดินมาแล้วก็ไม่ปรากฎว่าได้ทำการปรับปรุงหรือพัฒนาที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใดเลย คงปล่อยไว้ในสภาพเดิมจนกระทั่งขายไป ส่วนการที่ขายที่ดินทั้ง 5 แปลง ไปได้กำไรถึง 10 ล้านบาทเศษนั้น ได้ความจากนายโสภณว่า ตอนที่โจทก์รับโอนที่ดินทั้ง 5 แปลงขณะนั้น มีถนนร่มเกล้าตัดผ่าน รถสามารถวิ่งได้เพียง 2 ช่องทางต่อมาประมาณ 1 ปี ได้มีการทำถนนใหม่โดยขยายเป็น 4 ช่องทางเดินรถและมีนายหน้าซื้อขายที่ดินเข้ามาติดต่อกับโจทก์ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น และโจทก์เห็นว่าควรจะขายเพื่อเอาเงินใช้หนี้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เจ้าหนี้ เห็นว่า พฤติการณ์ที่โจทก์เจ้าหนี้ ซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์ค้าอสังหาริมทรัพย์หรือเคยประกอบการค้าที่ดินมาก่อนรับโอนที่ดินมาจากลูกหนี้เพื่อเป็นการตีใช้หนี้ในขณะที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอื่นจะชำระหนี้เมื่อรับโอนมาแล้วก็มิได้มีการปรับปรุงหรือพัฒนาที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ได้นำที่ดินไปจำนองแก่ธนาคารเพื่อค้ำประกันหนี้ของโจทก์ ต่อมาปีเศษที่ดินมีราคาสูงขึ้นเพราะมีการขยายถนนที่ตัดผ่านที่ดินนั้น โจทก์จึงได้ขายไปแล้วนำเงินที่ขายได้ชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ เช่นนี้ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ขายที่ดินดังกล่าวไปเป็นทางค้าหรือหากกำไรอันจะต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวด 4 ลักษณะ2 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการประเมินชอบแล้วคำพิพากษาฎีกาที่ 2860/2531 ที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกันกับคดีนี้

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท นครหลวงเส้นใยสังเคราะห์ จำกัด (มหาชน จำเลย - กรมสรรพากร

ชื่อองค์คณะ สุประดิษฐ์ หุตะสิงห์ จรัญ หัตถกรรม สุชาติ ถาวรวงษ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE