คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5217/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 383
โจทก์ไม่ได้ยินยอมชำระเบี้ยปรับตามที่จำเลยเรียกร้อง กลับปรากฏว่าเมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับไปถึงโจทก์ โจทก์ก็ได้มีหนังสือขอลดค่าปรับไปถึงจำเลย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ยินยอมชำระเบี้ยปรับให้แก่จำเลยตามที่จำเลยเรียกร้อง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยมีสิทธิหักค่าเบี้ยปรับจากเงินที่จำเลยต้องจ่ายค่ารถลากให้แก่โจทก์โดยการหักกลบลบหนี้หรือตามข้อผูกพันที่ระบุไว้ในสัญญาและตามระเบียบของทางราชการนั้น ถึงแม้จำเลยมีสิทธิที่อาจจะกระทำได้ แต่จะถือว่าโจทก์ยินยอมชำระเบี้ยปรับให้แก่จำเลยอันจะเป็นเหตุให้สิทธิเรียกร้องขอลดเบี้ยปรับเป็นอันขาดไปตามที่บัญญัติในมาตรา 383 วรรคแรก หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 68, 288
ผู้ตายมีนิสัยเป็นนักเลงอันธพาลใจคอดุร้ายวันเกิดเหตุผู้ตายได้กล่าวคำอาฆาตจำเลยกับบุตรจำเลยแล้วดื่มสุราก่อนมาหาจำเลยเมื่อผู้ตายเข้ามาในบริเวณบ้านจำเลยจำเลยบอกให้ผู้ตายหยุดแต่ผู้ตายไม่ยอมหยุดและเดินตรงเข้าหาจำเลยระยะห่างเพียง5วาพฤติการณ์ของผู้ตายส่อลักษณะอาการที่มุ่งร้ายต่อชีวิตของจำเลยและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงจำเลยมีความชอบธรรมที่จะป้องกันภยันตรายได้ตามสมควรจำเลยอายุ68ปีอยู่ในวัยชราส่วนผู้ตายอายุ26ปีเป็นชายฉกรรจ์ในภาระเช่นจำเลยต้องประสบในขณะนั้นย่อมต้องเข้าใจว่าผู้ตายคงจะต้องมีอาวุธติดตัวมาและจะมาฆ่าจำเลยโอกาสไม่อำนวยให้จำเลยได้ตั้งสติไตร่ตรองได้ว่าผู้ตายมีอาวุธร้ายแรงแค่ไหนการที่จำเลยยิงปืนใส่ผู้ตายเพียง1นัดกระสุนปืนถูกผู้ตายและผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นถือได้ว่าการกระทำของจำเลยพอสมควรแก่เหตุเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5210/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 222, 654, 355 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 วรรคหนึ่ง, 249 วรรคหนึ่ง
สัญญาเช่าระบุว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่า1ปีแรกผู้ให้เช่าให้สิทธิแก่ผู้เช่าพิจารณารับโอนสิทธิการเช่าสถานที่เช่าได้โดยผู้ให้เช่ายินดีโอนสิทธิการเช่าที่ผู้ให้เช่ามีอยู่กับบริษัทม. และให้ผู้เช่าผ่อนชำระกับบริษัทม. ต่อไปข้อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยโจทก์ผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าเมื่อครบกำหนด1ปีแรกหากจำเลยประสงค์จะรับโอนสิทธิการเช่าก็ทำได้แม้ในสัญญาดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยแสดงเจตนารับโอนสิทธิการเช่าไว้ก็ตามแต่ตามเจตนารมณ์ของการทำสัญญาโจทก์จำเลยก็พึงคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องแสดงเจตนารับโอนสิทธิการเช่าในระยะเวลาพอสมควรนับแต่เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่า1ปีแรกเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาเช่าครบกำหนด1ปีแรกวันที่20พฤศจิกายน2531และครบกำหนดระยะเวลาเช่า3ปีวันที่20พฤศจิกายน2533จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์โอนสิทธิการเช่าเมื่อวันที่7มิถุนายน2533ซึ่งแม้จะเป็นเวลาก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าประมาณ5เดือนแต่ก็เป็นเวลาภายหลังครบกำหนดสัญญาเช่า1ปีแรกล่วงพ้นไปแล้วถึง1ปี6เดือนจะพึงเห็นได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาที่จะรับโอนสิทธิการเช่าเป็นระยะเวลาเนิ่นนานเกินสมควรที่จะคาดหมายได้ว่าจำเลยยังคงประสงค์ที่จะขอรับโอนสิทธิการเช่าอยู่อีกทั้งโจทก์ก็ยืนยันว่าเมื่อครบสัญญา1ปีแรกแล้วโจทก์ได้ถามส. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยว่าจะตกลงรับโอนสิทธิการเช่าหรือไม่ก็ตอบว่าขณะนั้นพื้นที่บริษัทม.โอนสิทธิการเช่ากันตารางเมตรละ60,000บาทจำเลยจะต้องรับโอนสิทธิการเช่าจากโจทก์ตารางเมตรละ65,000บาทจึงไม่ต้องการรับโอนดังนั้นการที่จำเลยปล่อยระยะเวลาให้ล่วงพ้นกำหนดการเช่า1ปีแรกออกไปถึง1ปี6เดือนประกอบกับจำเลยเคยบอกโจทก์ว่าไม่ต้องการรับโอนสิทธิการเช่าจึงฟังได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะรับโอนสิทธิการเช่าพื้นที่ตามสัญญาแล้วคำมั่นของโจทก์ที่จะต้องให้จำเลยรับโอนสิทธิการเช่าจึงสิ้นผลผูกพันเมื่อการเช่าพื้นที่พิพาทครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วจำเลยจึงต้องส่งมอบพื้นที่เช่าคืนโจทก์ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดแล้วจำเลยอยู่ในสถานที่เช่าเป็นการอยู่โดยละเมิดต่อโจทก์และพื้นที่พิพาทก็ดีขึ้นกว่าระยะแรกที่เปิดศูนย์การค้าสมควรกำหนดค่าเสียหายเดือนละ300,000บาทจำเลยอุทธรณ์ว่ายังไม่ตรงกับความจริงและสูงเกินไปอันเป็นการกล่าวอ้างเพื่อให้จำเลยต้องรับผิดค่าเสียหายน้อยลงแต่จำเลยไม่ได้กล่าวโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายไม่ตรงความจริงอย่างไรและเป็นจำนวนสูงเกินไปเพียงใดหรือที่ถูกต้องเหมาะสมควรเป็นอย่างไรเพราะเหตุผลใดจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคหนึ่งการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้วแม้ในชั้นฎีกาจำเลยจะฎีกาในปัญหาเดียวกับในชั้นอุทธรณ์โดยเพิ่มเติมข้อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเข้ามาก็ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เงินมัดจำและเงินที่วางต่อสำนักงานวางทรัพย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าเช่าค่าไฟฟ้าค่าน้ำประปาและค่าโทรศัพท์ที่จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาเช่าไม่ใช่เป็นเงินค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดของจำเลยต่อโจทก์จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักจากค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดที่จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5209/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164 เดิม, 204, 314, 349, 350, 823, 1144 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
บันทึกข้อตกลงซึ่งได้ทำขึ้นระหว่างบริษัทล.โดยน.กรรมการบริษัทกับอ.กรรมการคนหนึ่งของโจทก์และจำเลยโดยอ.ลงชื่อเพียงผู้เดียวและไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ตามข้อบังคับแต่บันทึกข้อตกลงดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าบริษัทล.เป็นหนี้โจทก์จำเลยขอชำระหนี้แทนบริษัทล.ข้อความเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าอ.ทำบันทึกข้อตกลงในนามของโจทก์นั่นเองหาได้กระทำเป็นการส่วนตัวไม่เมื่อโจทก์ยอมรับเอาประโยชน์จากบันทึกข้อตกลงดังกล่าวโดยฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ตามข้อตกลงนั้นย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของอ.กรรมการแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา823วรรคสองโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การแปลงหนี้ใหม่ย่อมทำให้หนี้เดิมระงับสิ้นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา349และ350แต่เมื่อโจทก์ยังติดใจเรียกร้องหนี้จากบริษัทล.อยู่ทั้งข้อตกลงตามบันทึกก็ไม่มีข้อความใดๆที่แสดงให้เห็นว่ามูลหนี้เดิมตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้เป็นอันระงับสิ้นไปบันทึกข้อตกลงเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากบริษัทล.มาเป็นจำเลยแต่บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีข้อความว่าจำเลยยอมชำระหนี้แทนบริษัทล.ให้แก่โจทก์และบริษัทล.ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ตกลงยินยอมด้วยแล้วเช่นนี้กรณีต้องด้วยมาตรา314ดังนั้นเมื่อจำเลยแสดงเจตนาจะชำระหนี้แทนบริษัทล.และบริษัทล.ก็ยินยอมด้วยและโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตกลงยอมรับชำระหนี้ดังกล่าวแล้วจำเลยจึงมีความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวต่อโจทก์ บันทึกข้อตกลงระบุว่าจำเลยขอชำระหนี้แทนบริษัทล.และจะผ่อนชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด4เดือนนับแต่วันทำสัญญาเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าวจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อนปัญหาที่ว่าการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดีศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย โจทก์ฟ้องคดีตามบันทึกข้อตกลงมิได้ฟ้องจำเลยตามเช็คกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องถืออายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5194/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 368, 380, 381 วรรคสาม, 383 วรรคหนึ่ง
สัญญาสำหรับผู้ที่ขออนุญาตไปศึกษาวิชาโดยทุนส่วนตัวระหว่างโจทก์และจำเลยที่1ข้อ1มีข้อความว่า"ข้าพเจ้าจะตั้งใจและพากเพียรศึกษาวิชาโดยเต็มสติปัญญาในระหว่างศึกษาวิชาอยู่ข้าพเจ้าจะประพฤติตนให้เรียบร้องไม่เกียจคร้านและจะไม่ทำการสมรสในต่างประเทศถ้าข้าพเจ้าปฏิบัติผิดสัญญาข้อนี้แล้วทางราชการก็ชอบที่จะเรียกกลับหรือสั่งปลดข้าพเจ้าได้ทั้งข้าพเจ้าจะต้องคืนเงินรายเดือนและเงินค่าใช้จ่ายซึ่งทางราชการจ่ายให้แก่ข้าพเจ้าในระหว่างศึกษาเพิ่มเติมให้แก่ทางราชการด้วยทั้งสิ้น"ส่วนข้อ2มีข้อความว่า"เมื่อเสร็จการศึกษาแล้วข้าพเจ้าจะกลับมารับราชการในกระทรวงกลาโหมต่อไปถ้าข้าพเจ้ากลับมารับราชการได้ยังไม่ครบ2เท่าของเวลาที่ไปศึกษาแต่ไม่น้อยกว่า3ปีเป็นอย่างน้อยหรือยังไม่ครบ10ปีเป็นอย่างมากนับแต่กลับมารับราชการหากข้าพเจ้าประสงค์จะลาออกจากราชการก่อนกำหนดที่กล่าวแล้วแล้วข้าพเจ้ายอมใช้เงินเป็นจำนวน3เท่าของเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นที่ทางราชการได้จ่ายให้ในระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้าศึกษาวิชาอยู่นั้นจนครบถ้วนทันทีเมื่อได้รับการทวงถาม"จากข้อสัญญาดังกล่าวในกรณีที่จำเลยที่1จะต้องคืนเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายตามสัญญาข้อ1นั้นจำเลยที่1จะต้องปฏิบัติผิดสัญญา3ประการคือไม่ตั้งใจและพากเพียรศึกษาวิชาประพฤติตนไม่เรียบร้อยและเกียจคร้านและทำการสมรสในต่างประเทศซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์อาจจะเรียกจำเลยที่1กลับหรือสั่งปลดจำเลยที่1ได้โดยที่จำเลยที่1ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆจากโจทก์เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่1ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดใน3ประการดังที่กล่าวมาและโจทก์มิได้เรียกจำเลยที่1กลับประเทศไทยหรือปลดจำเลยที่1ออกจากราชการกลับปรากฏว่าจำเลยที่1มีหนังสือถึงโจทก์ขอลาออกจากราชการนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ขยายเวลาเพื่อการศึกษาวิชาแม้ว่าจำเลยที่1จะไม่สำเร็จการศึกษาแต่ตามสัญญาใช้คำว่าเสร็จการศึกษาดังนั้นไม่ว่าจำเลยที่1จะสำเร็จการศึกษาหรือไม่จำเลยที่1ก็มีหน้าที่ต้องกลับมารับราชการตามที่ทำสัญญาไว้แก่โจทก์ตามสัญญาข้อ2เมื่อจำเลยที่1ไม่กลับมารับราชการตามที่ได้สัญญาไว้และลาออกไปก่อนที่จะกลับมารับราชการตามที่สัญญาไว้ย่อมถือว่าจำเลยที่1ผิดสัญญาข้อ2ดังกล่าวข้างต้นแล้ว สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีการกำหนดเบี้ยปรับไว้ในกรณีที่มีการผิดสัญญาเฉพาะที่กำหนดไว้ในข้อ2เท่านั้นส่วนข้อ1เป็นเรื่องที่จำเลยที่1จะคืนเงินรายเดือนและเงินค่าใช้จ่ายซึ่งทางราชการจ่ายให้แก่จำเลยที่1ในกรณีที่จำเลยปฏิบัติผิดข้อสัญญาที่กล่าวไว้ในข้อ1และโจทก์เรียกตัวจำเลยที่1กลับจากต่างประเทศหรือมีคำสั่งปลดจำเลยที่1ออกจากราชการเพราะเหตุที่จำเลยที่1ปฏิบัติผิดสัญญาข้อ1เท่านั้นไม่มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับแม้จะอยู่ในสัญญาฉบับเดียวกันก็ตามเพราะสัญญาดังกล่าวมีข้อความกำหนดไว้ชัดเจนดังนั้นเมื่อจำเลยที่1ทำผิดสัญญาข้อ2จำเลยที่1จึงต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา การที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่1ชำระเงินจำนวนที่ได้รับไปจากโจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่1ไปศึกษาวิชาที่ต่างประเทศโดยหน่วยงานของโจทก์เห็นว่าจำเลยที่1ทำผิดสัญญาข้อ1แห่งสัญญาดังกล่าวและทำเรื่องเสนอโจทก์ให้ออกคำสั่งอนุมัติให้จำเลยที่1ลาออกจากราชการนั้นแม้จำเลยที่1โดยบิดาจำเลยที่1เป็นผู้ชำระแทนก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เรียกให้จำเลยที่1ชำระเบี้ยปรับจำนวน1เท่าของเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่1ได้รับไปจากโจทก์โดยมิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกให้ชำระเบี้ยปรับในส่วนที่เหลือเพราะพึงพอใจในเงินเบี้ยปรับนั้นแล้วเป็นเรื่องที่หน่วยงานของโจทก์ตีความในสัญญาไม่ถูกต้องและถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่1ลาออกจากราชการเป็นการยอมรับเอาเบี้ยปรับจำนวน1เท่าไว้แล้วดังจะเห็นได้จากสัญญาข้อ2ก็ได้กล่าวถึงการลาออกก่อนกำหนดเวลาที่จะกลับมาทำงานให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแสดงว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่1ลาออกจำเลยที่1ก็ยังมีภาระที่จะต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์การชำระหนี้ในกรณีนี้คือการกลับมาปฏิบัติงานให้แก่โจทก์ตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเมื่อจำเลยที่1มิได้ชำระหนี้เลยจะถือว่าโจทก์ยอมรับการชำระหนี้โดยมิได้สงวนสิทธิในเรื่องเบี้ยปรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา381วรรคท้ายไม่ได้จำเลยที่1ยังมีหน้าที่จะต้องชำระเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ การกำหนดเบี้ยปรับคือข้อสัญญาที่คู่กรณีกำหนดความเสียหายไว้ล่วงหน้าเนื่องจากการที่ลูกหนี้มิได้ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควรและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา383วรรคหนึ่งเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาในกรณีที่ผิดสัญญานั้นกฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้นแต่ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายด้วยซึ่งมิใช่แต่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้นดังนั้นเมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายเต็มตามจำนวนเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5189/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1642, 1645 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 161
ส. เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับก. ส. มีภริยาคือโจทก์ที่1และมีบุตร3คนคือร. โจทก์ที่2และที่3หลังจากส. ถึงแก่ความตายแล้วร. ทำหนังสือสละมรดกของส. ต่อมาก. เสียชีวิตโจทก์ที่1เป็นเพียงภริยาของส.มิใช่ผู้สืบสันดานของส. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ส.เพราะการรับมรดกแทนที่กันจะมีได้เฉพาะผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่บิดามารดาเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1639และ1642ส่วนร. แม้จะสละมรดกของส. แล้วแต่ก็ไม่ปรากฏว่าร. สละสิทธิในการรับมรดกของก. อันเป็นการรับมรดกแทนที่ส. แต่อย่างใดร.โจทก์ที่2และที่3จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ส. ในการสืบมรดกของก. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1645คนละหนึ่งในสาม โจทก์ทั้งสามมีชื่อโฉนดที่ดินพิพาทโดยรับมรดกเฉพาะส่วนของส. อยู่แล้วเป็นเพียงแต่ยังไม่มีชื่อโจทก์ที่2และที่3ในส่วนที่เป็นมรดกของก. เท่านั้นแต่ก็มีชื่อจำเลยที่2ในฐานะผู้จัดการมรดกของก. เท่ากับว่าโจทก์ที่2และที่3ชนะคดีบางส่วนจำเลยทั้งห้าจึงไม่สมควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1700/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 368, 708
การแปลความหมายแห่งสัญญาจะต้องดูข้อความตามสัญญาทั้งฉบับและเจตนาของคู่สัญญาที่ตกลงมุ่งทำสัญญาต่อกันประกอบด้วยไม่ใช่ดูแต่เจตนาของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันระบุจำนวนเงินต้นจำนองไว้แจ้งชัดว่า100,000บาทความผูกพันตามสัญญาที่จำเลยที่2มีต่อโจทก์จึงมีตามจำนวนเงินต้น100,000บาทดังที่ระบุไว้แม้ข้อสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันจะมีข้อความว่าผู้จำนองยินยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้ทั้งหมดให้กับผู้รับจำนองโดยสิ้นเชิงก็หาใช่จะแปลความสัญญาว่าจำเลยที่2ยินยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่1ในอันที่จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดโดยไม่จำกัดจำนวนให้โจทก์จนครบถ้วนโดยสิ้นเชิงเป็นอีกโสดหนึ่งต่างหากด้วยไม่การที่จำเลยที่2ระบุจำนวนเงินต้น100,000บาทในสัญญาดังกล่าวเป็นเจตนาของจำเลยที่2ที่เข้าทำสัญญากับโจทก์จำกัดความรับผิดตามวงเงินที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองหาใช่เป็นการระบุเพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติของมาตรา708แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างเดียวไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5191/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225, 226 (2) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 18
บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับพิพาทฝ่ายลูกจ้างไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้คงมีผู้แทนนายจ้างลงลายมือชื่อเพียงฝ่ายเดียวส่วนบันทึกของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานฉบับลงวันที่เดียวกับบันทึกข้อตกลงแม้จะปรากฏว่าผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้างต่างได้ลงลายมือชื่อไว้แต่จากบันทึกดังกล่าวมีข้อความแสดงให้เป็นเพียงว่าพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจัดทำบันทึกนี้ไว้เพื่อให้ทราบว่าฝ่ายลูกจ้างไม่ยอมลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างรวมทั้งขั้นตอนและการปฏิบัติของคู่กรณีในการเจรจาต่อรองซึ่งไม่ใช่ข้อตกลงที่มีผลผูกพันคู่กรณีทั้งสองฝ่ายการที่ผู้แทนลูกจ้างลงลายมือชื่อในบันทึกนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างพร้อมกับบันทึกของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานฉบับดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสหภาพการจ้างตามกฎหมายเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา18วรรคหนึ่ง คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ไม่อนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมข้อวินิจฉัยตามคำร้องของโจทก์เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งในวันเดียวกันกับที่โจทก์ยื่นคำร้องเมื่อในแบบพิมพ์คำร้องมีข้อความว่าโจทก์รอฟังคำสั่งอยู่ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้วจึงต้องถือว่าโจทก์ทราบคำสั่งนี้ตั้งแต่วันดังกล่าวแล้วโจทก์มีเวลามากพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนี้ได้แต่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ในขณะที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหานี้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226(2)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา31 อุทธรณ์โจทก์เป็นอุทธรณ์นอกประเด็นจากที่คู่ความแถลงขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา31
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5176/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57
เทศบาลโจทก์ได้รับมอบอำนาจจากกรมเจ้าท่าให้มีอำนาจดูแลรักษาทางน้ำอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน อธิบดีกรมเจ้าท่าผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้แทนของกรมเจ้าท่า และได้มอบหมายแต่งตั้งให้เจ้าท่าภูมิภาคที่ 1ผู้ร้องสอดที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาลำน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณที่เกิดเหตุที่จำเลยถม เท ทิ้งหิน กรวด ทราย ดิน และสิ่งของอื่น ๆ ลงที่ชายตลิ่งในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเหตุให้ประชาชนไม่สามารถใช้แม่น้ำดังกล่าว ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากกรมเจ้าท่าจึงสามารถดำเนินการบังคับตามอำนาจหน้าที่ของผู้ร้องสอดทั้งสองได้อยู่แล้ว ผู้ร้องสอดทั้งสองจึงไม่มีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5174/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177, 226
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วจำเลยไม่เห็นด้วยจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าข้ออ้างของจำเลยขาดเหตุผลยกคำร้องคำร้องดังกล่าวเท่ากับเป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226(2)แล้วหาจำต้องโต้แย้งคำสั่งศาลที่ให้ยกคำร้องในครั้งหลังอีกไม่ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำและเรียกค่าเสียหายตามสัญญาจะซื้อขายจำเลยให้การต่อสู้ว่าลายมือชื่อจำเลยในสัญญาเป็นลายมือชื่อปลอมจำเลยไม่ได้รับเงินมัดจำจากโจทก์จำเลยไม่ได้มีเจตนาทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์สัญญาดังกล่าวเป็นการกระทำโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของสัญญาโจทก์กับพวกร่วมกันฉ้อฉลจำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยเท่ากับเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์และปฎิเสธความสมบูรณ์ของสัญญาด้วยว่าไม่มีผลผูกพันระหว่างโจทก์จำเลยคำให้การจึงหาได้ขัดแย้งกันไม่